การ เพิ่มน้ำนม เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่มักคิด วิตก ว่าตัวเองมีน้ำนมน้อย กลัวว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก พอเห็นลูกร้องหิวบ่อยๆ ก็ยิ่งเครียด ยิ่งกังวล จนบางครั้งจากที่เคยมีน้ำนมให้ลูกแบบพอดีๆ ก็พานน้อยลงไปจริงๆ เพราะความเครียดจากการทึกทักเอาเองว่า “น้ำนมฉันน้อย”
มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ทารกที่กินนมแม่นั้นมีสติปัญญาดีกว่า นอกจากนี้การให้นมแม่ยังช่วยประหยัดค่านม ค่ารักษาพยาบาล แถมนมแม่ยังสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่และลูก ส่งเสริมความรักภายในครอบครัว ทารกที่กินนมแม่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์ดีกว่าทารกที่กินนมผง (ร่าเริง อารมณ์แจ่มใส) การที่ลูกดูดนมแม่ ยังช่วยให้แม่ลดน้ำหนักตัวหลังคลอดได้ ยังไม่พอ ยังช่วยป้องกันปัญหาตกเลือดเพราะมดลูกบีบตัวอีกด้วย และสำคัญที่สุด สร้างความภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเองของความเป็น “แม่”
ทั้งนี้บางคนอาจเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการให้นมแม่มาว่า หากน้ำนมน้อย หรือ หัวนมบอด จะไม่สามารถให้นมลูกได้ หรือไม่ก็การให้นมแม่เป็นเรื่องยาก ความจริงแล้วผู้ที่เป็นแม่ทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หากรู้วิธีที่ถูกต้อง
แชร์สูตรน้ำหัวปลี บำรุงเลือด เพิ่มน้ำนม พุ่งปี๊ดดดดดดดด!
กฎกุญแจสำคัญในการให้ นมแม่ มี 3 ประการ คือ
*อย่าให้นมผง
*อย่าด่วนหมดกำลังใจ
*ต้องกระตุ้นเต้านมบ่อยๆ
สาเหตุของน้ำนมน้อย
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้น้ำนมคุณแม่มีน้อย มีหลายประการ เช่น
- เริ่มให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมหลังคลอดช้าเกินไป
- ให้ลูกดูดผิดวิธี ลูกอมงับได้ไม่ลึกพอ
- ลูกได้ดูดนมแม่ไม่บ่อยพอ (น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน) ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการเสริมนมผสม การให้ดื่มน้ำ หรืออาหารเสริม (ก่อนวัยอันสมควรคือ 6 เดือน) ทำให้ลูกอิ่มไม่ยอมดูดนมแม่
- คุณแม่ที่กลับไปทำงานแล้วปั๊มนมออกน้อยเกินไป หรือทิ้งระยะห่างเกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง
- ความเครียด พักผ่อนน้อย และรับประทานอาหารน้อย
- กินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่เป็นฮอร์โมนรวมในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
สาเหตุที่มักทำให้คุณแม่เข้าใจผิด…คิดว่าน้ำนมน้อย
- การที่เต้านมไม่คัดจึงเข้าใจผิดว่าตัวเองมีน้ำนมน้อยลง แต่ที่จริงมาจากร่างกายสามารถปรับการผลิตได้พอดีกับความต้องการของลูก
- ลูกดูดนมแล้วหลับก่อนจะอิ่ม เมื่อเอาลูกออกจากเต้าไม่นาน ก็ร้องหิวใหม่ (อ่านต่อในหัวข้อ“ลูกดูดนมบ่อยและนานมาก จนแม่ไม่เป็นอันทำอะไรเลย”)
- ให้ลูกดูดนมสลับเต้าไปมาในมื้อเดียวกัน ลูกได้แต่น้ำนมส่วนหน้า ไม่ได้น้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า จึงหิวเร็ว
- น้ำนมพุ่งจนลูกสำลัก และไม่ยอมดูดนมแม่
- ลูกเข้าสู่ระยะการเติบโตแบบเร็วๆ (growth spurt)
อ่านต่อ >> “ทำอย่างไรให้มีน้ำนมมากขึ้น” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Amarin Baby & Kids
วิธีทำให้มีน้ำนมมากขึ้น
อันดับแรกคุณแม่ต้องมั่นใจก่อนว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ ทำอย่างไรให้มีน้ำนมมากขึ้น โดย
- ให้นมลูกบ่อยขึ้นและนานขึ้น (ไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน) ถ้าไม่ได้อยู่กับลูก ก็ควรบีบหรือปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมง
- กระตุ้นเต้านม โดยใช้ผ้าอุ่นจัดประคบเต้านม 3 – 5 นาที ก่อนให้นม นวดเต้านมและคลึงหัวนมเบาๆ
- ให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี ให้ลูกอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ
- หลีกเลี่ยงการให้น้ำ นมผสม หรืออาหารเสริมอื่นก่อนอายุ 6 เดือน
- ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขณะให้นมลูกหรือขณะปั๊มนม โดย หายใจลึกๆ หรือ นึกถึงสถานที่ๆ น่าเที่ยว หรือคิดว่ามีน้ำนมไหลไปถึงลูกฟังเพลงหรือเทปที่สอนการผ่อนคลาย
- กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามคำแนะนำอาหารสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก
- ในช่วงที่น้ำนมยังน้อย ไม่พอสำหรับลูก หากจะเสริมนมผสม ไม่ควรให้ดูดจากขวด อาจใช้วิธีหยดนมข้างๆ เต้าแม่ขณะลูกดูดนม หยดครั้งละน้อยๆ พอให้ลูกไม่หงุดหงิด เมื่อน้ำนมสร้างได้มากขึ้น ก็ค่อยๆ ลดปริมาณน้ำนมที่หยดลง จนงดเสริมได้ในที่สุด
- ในกรณีที่ลูกดูดนมแล้วหลับก่อนจะอิ่ม ควรกระตุ้นให้ลูกดูดนมต่อ โดยขยับเต้านมและบีบน้ำนมเข้าปากลูกเป็นระยะ จนกว่าลูกจะอิ่มและคายปากออกเอง (ดูได้จากวิดีโอ)
- ในกรณีของการเข้าสู่ระยะการเติบโตแบบเร็วๆ ควรให้ลูกดูดบ่อย และให้ดูดนานขึ้นในแต่ละครั้ง ภายใน 2 – 3 วันน้ำนมก็จะเพิ่มมากขึ้นจนพอสำหรับลูก
- การติดตามผลจะใช้เวลาประมาณ 4 – 7 วันจึงจะเห็นผลว่าน้ำนมมามากขึ้น
ทั้งนี้ยังคุณแม่ท่านอื่นที่มีกลเม็ดเคล็ดลับในการเพิ่มน้ำนม เช่น
- หลอกร่างกายว่ามีลูกแฝดต้องดูดนมแม่พร้อมกัน ด้วยการให้ลูกดูดข้างหนึ่ง ปั๊มนมอีกข้างหนึ่งไปพร้อม ๆ กันเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเพิ่ม แถมยังช่วยให้ปั๊มน้ำนมออกง่ายกว่าการปั๊มนมตอนที่ลูกไม่ได้ดูดอีกด้วย และยังมีผลพลอยได้จากนมที่ปั๊มออกมาเก็บสะสมเป็นสต็อกนม (วิธีนี้ควรใช้เมื่อน้ำนมสร้างได้มากพอ คือประมาณหลัง1 เดือนไปแล้ว)
- เพิ่มรอบปั๊มนมให้แต่ละรอบห่าง 3-4 ชม. หรือช่วงที่ลูกนอนหลับนานเกิน 3 ชม
- การรับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเพิ่มน้ำนม
ซึ่งการทำน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนม ถือเป็นอาหารที่มีคุณสมบัติช่วย เพิ่มน้ำนม ได้อีกทางหนึ่ง เพราะหัวปลี มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด และยังดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุได้ดี จึงช่วยให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น เหมาะมากๆ สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องเลือด และผลิตน้ำนมได้ไม่มากพอ
การกินหัวปลีช่วยได้ก็จริงแต่บางคนก็ไม่คุ้นกับหัวปลี กินสดๆ ไม่ได้ หรือบางครั้งจะนำมาทำอาหารก็ยุ่งยากหลายวิธี การทำน้ำหัวปลีเก็บไว้ดื่มติดตู้เย็นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับคุณแม่ที่กำลังมองหาแหล่งอาหารบำรุงน้ำนม เครื่องดื่ม “น้ำหัวปลี” จะช่วยให้บริโภคหัวปลีได้ง่ายขึ้น ประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารไม่ตกหล่น ยังอยู่ครบทุกประการ
ทั้งนี้มีคุณแม่ท่านหนึ่งได้ออกมาแชร์สูตร ผ่านเฟซบุ๊ก และก็มีคุณแม่ ๆ ท่านอื่นได้นำสูตรนี้ไปใช้และผลกันอย่างมากมาย ทาง Amarin Baby & Kids จึงตามหาสูตรนี้เพื่อมาบอกต่อคุณแม่ ๆ ที่ต้องการเพิ่มน้ำนมกันค่ะ
#น้ำหัวปลี สูตรเข้มข้นใส่อินทผลัม น้ำผึ้ง มะนาว (รสชาติจะเหมือนน้ำผึ้งมะนาว เพราะหัวปลีต้มสุกไม่ฝาดค่ะ) ช่วยบำรุงเลือดและ เรียกน้ำนมคุณแม่โดยเฉพาะ
อ่านต่อ >> “ส่วนผสมและวิธีทำ สูตรน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนม” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaibreastfeeding.org
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สูตรน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนม
ส่วนผสม
- น้ำเปล่า 1 หม้อ = น้ำขวดใหญ่ 2 ขวด
- หัวปลี 2 หัว
- น้ำผึ้ง1 ทัพพี
- น้ำมะนาว 5-6 ลูก (ชอบเปรี้ยวก็เพิ่มได้)
- น้ำตาล (ถ้าไม่หวานเพิ่มได้)
- อินทผลัม 8-10 ลูก (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่)
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
(ปกติถ้าไม่เปรี้ยวมากจะไม่เป็นไรนะคะ แต่ถ้าทานเปรี้ยวมากแล้วลูกงอแง ก็ให้ลดหรืองดมะนาวค่ะ)
วิธีทำ
– เอาหัวปลีมาปลอก จนไม่มีเปลือกสีแดง แกะเป็นแผ่นๆ ไม่เอาเกสรปลี ใช้แค่เปลือกใจสีขาว เอาแผ่นปลีแช่น้ำเกลือ ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงให้ยางมันหาย
– ตั้งหม้อใส่น้ำเปล่า ต้มหัวปลีในน้ำเดือด 20-30 นาที จะได้น้ำสีเทาๆ
– แล้วเอา น้ำผึ้ง และ อินทผลัม ใส่ลงไป น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชิมรสจนชอบ
– ถ้าไม่หวาน เติมน้ำตาลทรายได้ เวลาจะทาน รอให้เย็น อุ่นๆ บีบมะนาวใส่ ชิมรสตามใจชอบ
– กรองเศษปลีออก แล้วใส่ขวด เก็บทานได้ 3-5 วัน เพราะต้มสด น้ำมะนาวถ้าใส่ตอนต้มจะขม แนะนำใส่ที่หลังดีกว่า
(ขอบคุณสูตรน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนมของคุณแม่ Yayee จากกรุ๊ป คุณแม่นักปั๊มทำทุกอย่างเพื่อลูก)
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥
นอกจากนี้แม่ควรได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ และดื่มน้ำให้เยอะๆ สำหรับการดื่มน้ำ หากดื่มมากกว่าปริมาณที่อยากดื่มไม่ส่งผลดีเท่าไหร่นัก เพราะร่างกายจะกำจัดน้ำส่วนเกินออกทันทีในรูปของปัสสาวะ ตรงกันข้าม กับแม่มือใหม่ที่อาจยุ่งจนลืมดื่มน้ำไม่มากพอ แนะนำให้ดื่มน้ำขณะที่ให้นมลูกไปเลย
กินผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อได้รับวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็น รวมถึงเส้นใยอาหารที่ดีต่อระบบลำไส้ของแม่ พยายามลดเนื้อสัตว์ลง โดยเฉพาะเนื้อปลา มักมีสารเคมีสะสม เช่น ปลาทูน่า และปลาอื่นๆ ที่มีระดับปรอทสูง ในขณะที่ผัก แม้จะมีสารปนเปื้อนแต่ก็มีสารพิษตกค้างน้อยกว่า หากแม่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริมแต่อย่างใด
ความเหน็ดเหนื่อยจากการให้นม
แม่หลังคลอดไม่ว่าจะให้นมลูกเอง หรือให้นมขวดก็ตาม ล้วนเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกันได้ทั้งนั้น ยิ่งแม่ที่ให้นมลูกอาจต้องเสียพลังงานเพื่อการผลิตน้ำนมมากขึ้นไปอีก แม่จึงควรได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น แม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมักจะเจริญอาหารอยู่แล้ว แต่สำหรับแม่ที่เหน็ดเหนื่อย ไม่สบายใจ หรือน้ำหนักลดลงมากผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอทันที
หากแม่เหน็ดเหนื่อยจากการให้นม การทำงาน และพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะให้นมลูกในตอนกลางคืน สามีควรเข้ามาช่วยแบ่งเบา เช่น ป้อนนมแม่จากขวดตอนกลางคืน เปลี่ยนผ้าอ้อม หากโชคดีลูกน้อยหลับยาวตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน ความเหน็ดเหนื่อยของแม่ก็จะลดน้อยถอยลง
เหตุที่ทำให้นมแม่ไม่สำเร็จ!
มาจากความคิดที่ว่าตัวเองมีน้ำนมไม่พอ ไม่มั่นใจ เวลาที่ลูกร้องไห้มาก จะมีคำถามตามมาทันทีว่า สงสัยนมแม่ไม่พอ หรือ ลูกปวดท้อง ซึ่งความกังวลนี้ทำให้แม่หลายคนต้องหันมาใช้นมผงเป็นตัวแก้ เพราะหาง่าย และอยู่ใกล้มือ
อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ แม่ต้องกลับไปทำงาน ข้อนี้เป็นอุปสรรคไม่น้อยของเวิร์คกิ้งมัม และหลายครั้งก็เป็นสาเหตุแรกที่ทำให้แม่หลายคนตัดสินใจไม่ให้นมแม่ตั้งแต่แรก เพราะกลัวจะเลิกยาก แต่ความจริงหากมีการวางแผนที่ดี การปั๊มนมจะช่วยให้แม่ที่ต้องกลับไปทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้อีกนาน การให้นมที่ปั๊มทิ้งไว้ แล้วค่อยกลับมาให้ลูกดูดจากเต้าก่อนและหลังกลับจากทำงาน รวมถึงให้ดูดตอนกลางคืน จะช่วยให้แม่ผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอ และสุดท้ายนี้ ขอบอกว่า สู้ๆ นะคะคุณแม่ เพื่อลูกน้อยอันเป็นที่รักของเรา Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้ ^^
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ผักผลไม้เพิ่มน้ำนม 20 ชนิด เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่
- 6 สุดยอด สมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ (ไทย จีน ฝรั่ง) ครบสูตร
- ยาเพิ่มน้ำนม ตัวช่วยของคุณแม่น้ำนมน้อย
บทความจาก คัมภีร์เลี้ยงลูก วัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก เขียน แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แปล สำนักพิมพ์ Amarin Health