ลูกติดเต้า ปัญหาใหญ่สำหรับ working mom ที่เมื่อครบกำหนดลาคลอดแล้ว แต่ลูกน้อยยังคงร้องไห้อ้อนคุณแม่เพื่อขอกินนมอุ่น ๆ จากเต้าอยู่ร่ำไป คนเป็นแม่ควรทำเช่นไร วันนี้ Amarin Baby & Kids มีวิธีดี ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาลูกติดเต้าแบบไม่เศร้ามาฝากกันค่ะ
ข้อดีเมื่อลูกได้ดูดเต้า
หลายคนอาจมองว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูดเต้าจนกลายเป็นเด็กติดเต้า แต่หากคุณเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ก็อาจสามารถทำได้ เพราะการให้ลูกดูดนมจากเต้ามีข้อดีมากมายทั้งต่อตัวคุณและลูกน้อย ดังนี้
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก ซึ่งแพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้กล่าวเสริมไว้ว่า การได้ดูดเต้า เป็นช่วงเวลาที่ลูกมีความสุขและสงบที่สุด เพราะจะมีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขใจ ทำให้ลูกนอนหลับสบาย อารมณ์ผ่อนคลาย ทั้งยังส่งผลต่อสายสัมพันธ์ในระยะยาวกับแม่ ทำให้เขารู้ว่า แม่คือคนที่เขาอยู่ด้วยแล้วมีความสุขและปลอดภัยที่สุด
- ไม่ต้องใช้เวลาในการเตรียมนมสต็อก ละลายนม และอุ่นนม สามารถให้นมแม่ได้ทันทีที่ลูกต้องการ
- ไม่ต้องล้าง ต้ม หรือนึ่งขวดนม ยิ่งหากลูกกินบ่อย ก็ยิ่งต้องล้างขวดนมบ่อย ซึ่งหากทำความสะอาดไม่ดี คราบนมที่เกาะอยู่ตามขวด จะกลายเป็นแหล่งสะสมชั้นดีของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกท้องเสีย อาเจียน และไม่สบายได้
- ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับให้นมลูก เมื่อต้องออกไปทำธุระข้างนอก เช่น ขวดนม คูลแพ็ค กระเป๋าเก็บความเย็น หรือเครื่องปั๊มนม
- คุณแม่ไม่ต้องเร่งปั๊มนม เพราะการดูดจากขวด จะทำให้ลูกดูดเร็ว ดูดสบาย และดูดเยอะ ซึ่งทำให้นมในสต็อกหมดเร็วตามไปด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ข้อเสียเมื่อ ลูกติดเต้า มากเกินไป
เมื่อมีข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสียด้วยเช่นกัน หากบ้านไหนที่ลูกติดเต้าแม่มาก ๆ ก็อาจสร้างความลำบากได้ไม่น้อย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
- คุณแม่จะทำธุระส่วนตัวนอกบ้านไม่ค่อยสะดวก ต้องคอยพะวงว่าลูกจะร้องหิวนมหรือไม่
- ไม่มีใครสามารถดูแล หรือพาลูกเข้านอนได้ หากลูกจะต้องดูดเต้าทุกครั้งเพื่อกล่อมนอน
- เมื่อโตขึ้น การเลิกเต้าก็อาจทำได้ยากมากขึ้น
อ่านต่อ 5 วิธีแก้ลูกติดเต้า คลิกหน้า 2
ลูกติดเต้า เรามีทางแก้
คุณแม่ที่กำลังเครียดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดเต้าจนเกินไป โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน และใกล้หมดเวลาของวันลาคลอดแล้ว วันนี้เรามีทางออกดี ๆ ให้คุณแม่ฝึกลูกที่ติดเต้ามาก ๆ ให้สามารถกินนมได้ทั้งจากเต้า และขวดไปพร้อม ๆ กันมาฝากค่ะ
-
เริ่มฝึกขวดเมื่อถึงเวลา
มีคุณแม่บางคนใจร้อน และกลัวว่าลูกจะติดเต้า ไม่สามารถฝากฝังให้ใครอุ้มหรือดูแลได้เลย จึงตัดสินใจปั๊มนมใส่ขวดให้ลูกกินตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล หรือบางคนก็ให้ลูกเริ่มดูดขวดตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก ซึ่งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่หลายท่านให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในระยะเดือนแรก เป็นช่วงที่คุณแม่ควรให้ลูกเข้าเต้าบ่อยที่สุด เพื่อกระตุ้นการเกิดน้ำนม ซึ่งถึงแม้จะใช้เครื่องปั๊มนมมาเป็นตัวช่วย ก็ไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่ากับการให้ลูกดูดเอง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่แม่กับลูกควรสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นที่ดีต่อกัน ให้ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านจิตใจที่ลูกต้องออกมาเผชิญโลกภายนอก ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมที่คุณแม่จะฝึกลูกดูดนมจากขวด ควรอยู่ในช่วงอายุ 1-2 เดือน โดยฝึกทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง สลับกับการเข้าเต้า1 เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ลูกรู้จักทั้งการดูดเต้าและดูดขวดไปพร้อม ๆ กัน
-
ลองป้อนด้วยวิธีอื่น
เด็กบางคนก็ปฏิเสธการดูดนมจากขวดเช่นกัน แม้จะเปลี่ยนเป็นขวดราคาแพง หรือจุกเสมือนหัวนมแม่หลายยี่ห้อแล้วก็ตาม หากคุณแม่ประสบปัญหานี้อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ แพทย์ให้ความเห็นว่า ลูกคงไม่ชอบการดูดขวด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ไม่ต้องมาเลิกขวดอีกทีในภายหลัง แต่ให้คุณแม่เปลี่ยนมาฝึกให้ลูกจิบนมจากถ้วยหรือช้อน หรือหากเป็นเด็กที่โตหน่อยก็สามารถฝึกให้ดูดจากหลอดได้เลย สำหรับกรณีที่ลูกไม่ยอมกินนมสต็อกเพราะรสชาติไม่ดีเท่านมจากเต้า ให้คุณแม่ผสมนมเก่ากับนมใหม่ในปริมาณ 10:90 แล้วค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนไปเรื่อย ๆ2 ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
จุกนมก็มีส่วนสำคัญ
จะเห็นว่าในท้องตลาดมีจุกนมให้เลือกมากมาย ทั้งรูปแบบปกติ และแบบที่เสมือนนมแม่ สำหรับเด็กที่ติดเต้ามาก ๆ คุณแม่ลองพยายามหาจุกนมที่มีรูปร่างคล้ายลักษณะนมของคุณแม่มากที่สุด โดยเลือกจุกที่ทำจากยางธรรมชาติ เพราะจะนิ่มกว่าซิลิโคน และควรมีรูขนาดเล็ก พร้อมกับบิดฝาเกลียวขวดนมให้แน่น เพื่อให้ลูกออกแรงดูดมาก เป็นการสร้างความเคยชินเสมือนว่าลูกยังดูดนมจากเต้าอยู่ เพราะเด็กที่กินนมแม่จะคุ้นเคยกับการต้องออกแรงดูดเพื่อให้น้ำนมไหล ทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกติดขวด เพราะการได้ดูดขวด น้ำนมจะไหลง่าย และไหลแรงกว่าดูดเต้า ซึ่งอาจเป็นปัญหาให้ลูกไม่ยอมเข้าเต้าแม่อีกเลย
อ่านต่อ วิธีแก้ลูกติดเต้า คลิกหน้า 3
-
เปลี่ยนคนป้อน
คนป้อนนมก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งคน ๆ นั้น ต้องไม่ใช่คุณแม่ ขอแนะนำว่าคนที่จะฝึกป้อนขวดให้ลูกควรเป็นคนที่ต้องดูแลลูกหลังจากที่คุณแม่ไม่อยู่ เช่น พี่เลี้ยง คุณย่า หรือคุณยาย และขณะที่ฝึกอยู่นั้น คุณแม่ออกไปนอกบ้านสักครึ่งวัน ในระยะแรกที่ฝึก ลูกอาจร้องไห้โวยวาย ดูดไปบ่นไป ไม่ยอมดูดอย่างสงบเหมือนกับการดูดเต้า ขอให้คุณแม่และคนฝึกอดทนและพยายามต่อไป เมื่อถึงเวลาที่ลูกหิวและรู้ว่าไม่มีนมจากอกแม่อย่างแน่นอนแล้ว เขาจะยอมดูดนมจากขวด ซึ่งเด็กบางคนอาจจะดูดน้อยแค่เพียงให้คลายหิว แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะลูกจะเก็บท้องมาดูดชดเชยอีกครั้งเมื่อเวลาที่คุณแม่กลับบ้านมา
-
ท่าป้อนนมก็ช่วยได้
การที่ลูกไม่ยอมให้ป้อนนมจากขวดได้ง่าย ๆ อาจเป็นเพราะท่าทางของผู้ป้อนไม่ถูกต้อง ทำให้เขาอึดอัด ไม่สบายตัวก็เป็นได้ ท่าที่เหมาะสมในการป้อน ก็คือ ให้ผู้ป้อนนั่งลำตัวตั้งตรง แล้วค่อย ๆ ประคองลูกน้อยนั่งบนตัก โดยให้ศีรษะของเขาพิงอยู่กับอกผู้ป้อน จะทำให้เขาสบายตัว ไม่เกิดลมในท้องหรือเป็นกรดไหลย้อนได้ ขณะป้อนควรถือขวดนมขนานกับพื้น เพื่อให้นมไหลช้าที่สุด และควรใช้เวลาป้อนขวดแต่ละครั้งนานประมาณ 20 นาที เพื่อไม่ให้ลูกดูดเสร็จเร็ว เพราะเขาอาจยังมีความต้องการดูดต่อ ทำให้ผู้ป้อนเข้าใจว่ายังกินไม่อิ่ม จึงเติมนมเข้าไปอีก จนทำให้ลูก Overfeeding และนมในสต็อกหมดเร็วขึ้นอีกด้วย
ลูกติดเต้า ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่มีทางออก ขอเพียงให้คุณแม่ศึกษาหาข้อมูล มีความอดทน และตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะช่วยให้ลูกสามารถดูดนมทั้งจากเต้าและขวดไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะถึงแม้ลูกจะเพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกได้ไม่นาน แต่เขาก็มีสัญชาตญาณที่เฉลียวฉลาดในการปรับตัวได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่อย่างเราเลยทีเดียว
…ขอให้มั่นใจ และเชื่อใจ ลูกของคุณทำได้อย่างแน่นอน…
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1Facebook: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.ลูกติดแม่ดีหรือไม่ดีกันแน่.
2Facebook: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.วิธีฝึกลูกดูดหลอด.
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย.แม่จะต้องไปทำงานแล้ว ลูกยังไม่ยอมดูดแม่จากขวด หรือจากถ้วย.
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
เต้านมเล็ก ทำให้น้ำนมน้อย จริงหรือ?
เรื่องเล่าน่าเศร้า…เมื่อเต้านมฉันอักเสบ
ความจุในการเก็บน้ำนม ของเต้านมแม่มีเท่าไหร่?