ระวัง!! ลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่ แพ้อาหารที่แม่กิน .. แม่โพตส์เตือน! ลูกวัย 3 เดือน ผื่นขึ้นเต็มตัว เพราะแพ้อาหารจากนมแม่ พร้อมวิธีสังเกตและรับมือ เมื่อสงสัยว่า ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน
ทำอย่างไรดี? ถ้า ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ผ่านน้ำนม
นมแม่ คือ อาหารที่ดีและวิเศษสุดของลูกน้อย เพราะนมแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายให้ลูกเติบโตได้อย่างปกติ การให้ลูกได้รับนมแม่ตั้งแต่คลอด ต่อเนื่องไปจนถึง 2 ปีได้หรือนานกว่านั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องการสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่เด็กยังเป็นทารกอยู่ เมื่อโตขึ้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงพัฒนาการทางสมองที่สมบูรณ์และความฉลาดทางอารมณ์อีกด้วย
ทั้งนี้สำหรับการดูแลเรื่องอาหารการกินของคุณแม่ก็สำคัญ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่จะส่งผลให้อาหารที่แม่กินผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ เช่น ระยะความถี่ในการให้นม ระบบการเผาผลาญของแม่ ประเภทของอาหารที่กิน ซึ่งทั้งหมด ไม่สามารถระบุแน่นอนได้ว่า อาหารที่แม่กินเข้าไปจะส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ในระยะเวลาเท่าไหร่
แต่โดยเฉลี่ยแล้ว จะอยู่ที่ 4-6 ชั่วโมง แต่สำหรับแม่บางคน อาจจะส่งผ่านได้ไวมากภายใน 1 ชั่วโมง หรือ ช้ามาก ภายใน 24 ชั่วโมง ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องจำให้ได้ว่าเรากินอะไรไปบ้างในแต่ละวัน และต้องรู้จักสังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เพราะอาหารที่แม่กิน อาจทำให้ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่ ได้
เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่ได้เผลอกินอาหารกลุ่มเสี่ยงเข้าไป ทำให้ลูกน้อยวัย 3 เดือน ที่กำลังกินนมแม่อยู่ แพ้อาหารผ่านนมแม่ โดยคุณแม่ได้โพสต์เล่าและถามถึง อาการแพ้อาหารว่ามีใครที่ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ผ่านน้ำนม ของแม่บ้าง โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อ FooFoo Fongbeer ลงในกลุ่ม พูดคุยหลังคลอด ใจความว่า…
📌แม่ๆบ้านไหนที่ให้นมลูก แล้วลูกแพ้อาหารที่แม่ทานเข้าไปแล้วมีอาการแบบนี้บ้างคะ
แม่กินผัดหอยเล็บม้า (หอยทราย) ไป 2 วัน วันละ 1 จาน
วันแรกไม่เป็นไร วันที่ 2 หลังกินได้ 4 ชั่วโมง น้องก็มีผื่นแดงขึ้นแต่ไม่เยอะเท่านี้ แม่พาไปหาหมอเมื่อวานหมอบอกอาจใช้เวลา 3-4 วัน ให้ยาแก้แพ้ กับยาทามา แต่กินยาเข้าไปอ้วกออกหมดเลย
ในภาพน้องเป็นผื่นได้ 3 วันแล้ว แต่วันนี้หนักสุดผื่นขึ้นหน้า ขึ้นเปลือกตาด้วย สงสารลูกมาก ได้แต่โทษตัวเองที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้ ตอนนี้กลุ้มใจ สงสารลูกด้วย อยากดูดเต้าร้องไห้งอแง กว่าจะหลับต้องอุ้มเดิน 2-3 ชั่วโมงเลย
แม่ๆ ท่านไหนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างคะ
ซึ่งจากที่คุณแม่เล่า ทำให้ทราบได้แน่ชัดว่า อาการ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ซึ่งมีผื่นแดงขึ้นเต็มตัว มาจาก อาหารทะเล หรือ ผัดหอย ที่คุณแม่กินเข้าไปนั่นเอง เพราะนอกจากเมนูนั้นแล้วคุณแม่ก็ได้บอกกับทีมแม่ ABK ว่าไม่ได้กินอะไรอื่นอีกเลย
นอกจากนี้คุณแม่ยังได้บอกอีกว่า น้องแพ้อาหารทะเล ไข่ไก่ เนื้อไก่ เพราะแม่ลองกินแล้วน้องผื่นขึ้น ซึ่งอาหารที่แม่กินได้จึงมีแค่พวกหมู และปลาน้ำจืด ส่วนนมที่ปั๊มใหม่หลังกินอาหารทะเลไปนั้น น้องกินแล้วผื่นยังขึ้นอยู่ จึงจำเป็นต้องที่ต้องให้น้องกินนมที่สต๊อกก่อนหน้านี้ไป อีกทั้งคุณหมอยังบอกอีกว่าหลายวันเลยกว่าสารก่อภูมิแพ้ของอาหารทะเลที่ปนอยู่ในน้ำนมแม่จะหมดไป
ทั้งนี้ อาหารกลุ่มเสี่ยงต่อการที่ลูกน้อยจะแพ้ที่พบมากที่สุด ได้แก่ คือ นมวัว ไข่ นมถั่ว แป้งสาลี ถั่วเปลือกแข็ง อาหารทะเล และ ผลไม้รสเปรี้ยว เป็นต้น
Must read >> อาหาร 6 อย่างนี้ “ห้ามให้ลูกน้อยต่ำกว่า 6 เดือน” กินเด็ดขาด!
อย่างไรก็ตามเด็กทารกในช่วง 6 เดือนแรก จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้อาหาร เนื่องจากเยื่อบุกระเพาะอาหาร ลำไส้ และระบบร่างกาย ยังไม่เข้าที่ จึงทำให้สารก่อภูมิแพ้ เข้าสู่กระแสเลือดได้ และตอบสนองต่ออาการแพ้ได้ง่าย แต่ถ้าครอบครัวไม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดอาหารกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ คุณแม่ควรจะงดอาหารกลุ่มเสี่ยงก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากนมวัว เพราะนมวัวเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบมากที่สุดในเด็กทารก
อ่านต่อ >> “อาหารที่ต้องระวังในช่วงให้นมลูก
และวิธีรับมือเมื่อลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่” คลิกหน้า 2
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
- อาหารเด็กทารก ป้อนอย่างไรไม่ให้ลูกเสี่ยงแพ้อาหาร?
- วิธีรับมือสำหรับแม่ให้นม เมื่อลูกกลายเป็น เด็กแพ้อาหาร
- เด็ก 3 ขวบเสียชีวิตที่รร. เนื่องจาก แพ้อาหาร
- ข้อสรุปสำหรับพ่อแม่ เรื่องการแพ้อาหารในเด็ก
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.breastfeedingbasics.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาหารที่ต้องระวังในช่วงให้นมลูก ป้องกัน ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน
เพื่อป้องกัน ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ป้าหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้แนะนำว่ามีอาหารกหลายอย่างที่สามารถเล็ดลอดเข้าสู่นมแม่ จนไปทำให้ลูกเกิดความผิดปกติได้ เช่น
- แอลกอฮอล์ ที่มีความเข้มข้น เช่น วิสกี้ คอนยัค เหล้า บรั่นดี ไม่ควรกินเกิน 30 ซีซี หากกินเบียร์หรือไวน์ ไม่ควรเกินหนึ่งแก้ว (180 ซีซี) จะได้ไม่ต้องปั๊มนมทิ้ง ซึ่งถ้าคุณแม่กินเกินปริมาณดังกล่าว ต้องปั๊มทิ้งภายใน 3-6 ชม.หลังจากกินหรือจนกว่าคุณแม่จะมีความรู้สึกตัวดีหรือมีระดับสติสัมปชัญญะกลับมาเป็นปกติ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะเข้าสู่น้ำนม ทำให้ลูกมีปัญหานอนหลับมากผิดปกติ กดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ และเป็นอันตรายต่อตับของทารก โดยทั่วไปแล้ว และหากคุณแม่กินแอลกอฮอล์ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูก เพราะอาจหลับลึกจนทับลูกเสียชีวิตได้
- คาเฟอีน ที่อยู่ใน ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม กินได้เพียงหนึ่งอย่าง วันละไม่เกิน 2 แก้ว หากกินมากเกินไป อาจมีผลทำให้ลูกนอนหลับไม่ดี กระตุ้นทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
- โปรตีนกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล มะพร้าว ผลไม้รสเปรี้ยว ฯลฯ ถ้าลูกมีอาการแพ้ คุณแม่ต้องงดอาหารประเภทนี้ขณะให้นมด้วย แต่ถ้าลูกไม่มีอาการผิดปกติอะไรก็กินได้
สุดท้าย คือ อาหารบางอย่างที่อาจทำให้ลูกมีแก๊สหรือปวดท้อง เช่น อาหารเผ็ด หัวหอมใหญ่ ถั่วชนิดต่างๆ ผักกะหล่ำปลี บร๊อคโคลี่ ซึ่งบางคนเป็น บางคนไม่เป็น คุณแม่จึงควรสังเกตและจดจำด้วยว่ากินอะไรเข้าไปบ้างในแต่ละครั้งแต่ละวัน เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic
5 วิธีรับมือ เมื่อลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่
เพราะหากคุณแม่เผลอกินอาหารกลุ่มเสี่ยงเข้าไป ก็อาจทำให้ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ได้ โดยปฏิกิริยาต่อต้านนมแม่ที่จะทำให้ลูกมีอาการแสดงออก เช่น หน้าขึ้นผื่นแดง เกาศีรษะจนเป็นหนอง ร้องไห้งอแงผิดปกติ กินนมได้น้อย หรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่ม เป็นต้น โดยสาเหตุเหล่านี้ อาจเกิดจาก “ลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่” ซึ่งไม่ได้เป็นที่นมแม่ แต่เป็นที่อาหารบางอย่างที่แม่กินเข้าไปนั่นเอง ดังนั้นคุณแม่ที่ให้ลูกกินแต่นมแม่ตลอด หากพบว่า ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน ก็ยังสามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อได้ เพียงแต่ต้องพยายามหาสาเหตุให้เจอว่าลูกแพ้อะไรแล้วจึงหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น โดยแนวทางปฏิบัติ มีดังนี้…
- หาให้เจอว่าลูกแพ้อะไรสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ให้คุณแม่สังเกตจากอาหารที่กินเข้าไป และเป็นสิ่งที่หลายคนมักเกิดอาการแพ้ เช่น ไข่ นมวัว อาหารทะเล เป็นต้น
- จดทุกอย่างที่กินเข้าไปในแต่ละวัน แล้วบันทึกด้วยว่าลูกมีอาการอย่างไรบ้างเพราะการมีสมุดจดบันทึกสิ่งที่กินนั้น มีประโยชน์มากในการค้นหาตัวการที่ทำให้ลูกแพ้ เพราะลูกอาจแพ้อาหารหลายอย่างก็ได้
- งดอาหารที่เสี่ยงต่ออาการแพ้ทั้งหมดประมาณ 2-3 อาทิตย์ แล้วค่อย ๆ กลับมากินใหม่ทีละอย่าง ทีละนิด การกินอาหารด้วยวิธีตัดออก อาจต้องใช้เวลาเยอะและยุ่งยาก แต่วิธีนี้จะฟันธงว่าลูกแพ้อาหารชนิดใดบ้าง ซึ่งถ้าหยุดหมดแล้วสังเกตว่าลูกยังไม่ดีขึ้นภายในหนึ่งเดือนหรือไม่หายภายในสองเดือน สามารถสันนิษฐานได้สองอย่างคือ
-
- ลูกแพ้อาหารอย่างอื่นนอกจากนี้ ให้สงสัยอาหารอื่นที่แม่ชอบกินตอนท้องและหลังคลอด
- ลูกแพ้อย่างอื่น เช่น ไรฝุ่น ครีมอาบน้ำ โลชั่นทาตัว ผงซักฟอก ขนหมา ขนแมว ร่วมด้วยเป็นต้น
- สังเกตอาการของลูกอย่างต่อเนื่องว่าลูกน้อยไม่สบายตัวหลังกินนมแม่ โดยให้ย้อนกลับไปดูว่าก่อนหน้านั้นคุณได้รับประทานอะไรเข้าไปบ้าง และพยายามงดอาหารที่ลูกแพ้อย่างเต็มที่ ไม่ควรกินอาหารอื่นนอกบ้าน ควรทำอาหารทานเองเพื่อควบคุมส่วนผสมอาหารที่รับประทาน ซึ่งภาวะ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปีหรือนานกว่านี้ แต่อาการแพ้อาหารก็สามารถหายได้เอง เมื่อลูกโตขึ้น
- ปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกแพ้อาหาร ควรปรึกษาคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ เพื่อคุณหมอจะแนะนำการทำ Skin test หรือ Patch test ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดตรวจ ตามที่เหมาะสมกับเด็ก จะเป็นวิธีหาสาเหตุของอาการแพ้อาหารได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งสามารถทดสอบได้เมื่อลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ให้คุณแม่ควบคุมอาหารกลุ่มเสี่ยงไปก่อน
ทั้งนี้สำหรับการกินอาหารเพื่อบำรุงน้ำนม ป้าหมอยังได้แนะนำอีกว่า หลักการคือ ถ้าคุณแม่ชอบก็กิน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องกิน ถ้าต้องกินไปต้องทุกข์ไป ก็อย่ากิน เลือกกินเฉพาะที่ชอบก็ได้ จะกินทุกชนิดพร้อมๆ กันก็ได้ หรือจะกินร่วมกับยากระตุ้นน้ำนมก็ได้ แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า ชนิดใดใช้ได้ผล ก็กินต่อไป ชนิดใดไม่ได้ผลก็หยุดกิน อาหารเหล่านี้ ไม่มีผลข้างเคียง บางงานวิจัยบอกว่า ถ้ากินแล้วจิตใจสบายขึ้น ความเครียดน้อยลง ก็ถือว่า ได้ช่วยทางด้านจิตใจ … สุดท้ายจากที่กล่าวมา การกินอาหารของแม่ให้นม อาจดูยุ่งยากแต่การที่คุณแม่รู้จักเลือกกินอาหารเป็น ซึ่งนอกจากดีต่อลูกแล้ว และ ดีต่อสุขภาพของคุณแม่อย่างยั่งยืนอีกด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
- ป้าหมอเผย วิธีเตรียมเต้า กระตุ้นน้ำนม ก่อนคลอด
- สุดยอด อาหารสมุนไพร กระตุ้นน้ำนมแม่ เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพช่วยลูกสมองดี
- 5 ตัวช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ อย่างง่ายสำหรับแม่มือใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.breastfeedingthai.com , happymom.in.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่