AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แพ้นมวัว หมอชี้! แท้จริงเป็นเพราะพ่อแม่

อาการแพ้นมวัวมีสาเหตุหนึ่งมาจากพันธุกรรม เช่น หากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้

ปัญหา แพ้นมวัว ของลูกน้อย เป็นหนึ่งในเรื่องกลุ้มใจของพ่อแม่ที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนสงสัยว่าลูกน้อยแพ้นมวัวได้อย่างไร? สำหรับเรื่องนี้ Amarin Baby & Kids มีคำตอบจาก อ.พญ.นริศรา สุรทานต์นนท์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านแพ้อาหารในเด็ก หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากค่ะ

นมวัว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างการเจริญเติบโตให้กับลูกน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการแพ้นมวัว บางรายแพ้รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและถึงแก่ชีวิต คุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และรับมือ เพื่อไม่ให้ลูกแพ้นมวัว หรือเกิดเหตุร้ายกับลูกรักได้

เด็กที่มีอาการแพ้นมวัว จะไวต่อสารก่อภูมิแพ้ประเภทอื่นๆ อีกหลายอย่าง

แพ้นมวัว เกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด

การที่ลูกน้อยของคุณมีอาการแพ้นมวัวตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากลูกวัยทารกมีข้อจำกัดของระบบย่อย ระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เมื่อลูกได้รับนมวัวเข้าสู่ร่างกาย โปรตีนแปลกปลอมของนมวัวจึงมีโอกาสเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นให้ร่างกายของลูกนอยสร้างภูมิต่อต้านชนิดผิดปกติ ซึ่งจะไวต่อสารก่อภูมิแพ้ประเภทอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ เกสรหญ้าหรือดอกไม้ รังแคหมา – แมว – นก หรือสารก่อภูมิแพ้จากการรับประทาน เช่น นมวัว ถั่ว ไข่ หรืออาหารทะเล ต่อมาหากได้รับนมวัวหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไปอีก ภูมิต่อต้านจะทำปฏิกิริยาทันที เกิดเป็นอาการเจ็บป่วยได้หลายรูปแบบ ดังนี้

ทั้งนี้เด็กที่มีอาการแพ้นมวัว หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือมีประวัติว่า แม่ดื่มนมวัวขณะตั้งครรภ์ เมื่อได้รับคำแนะนำให้หยุดดื่มนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวแล้ว ก็พบว่า “อาการดีขึ้นทุกคน”

อ่านต่อ “ลูกแพ้นมวัวสาเหตุเพราะพ่อแม่” คลิกหน้า 2

ลูกแพ้นมวัวสาเหตุเพราะพ่อแม่

อาการแพ้นมวัวมีสาเหตุหนึ่งมาจากพันธุกรรม เช่น หากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ หรืออาจไม่ต้องเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ได้ เช่น คนหนึ่งเป็นโรคหืด คนหนึ่งเป็นผื่นแพ้ ลูกก็มีโอกาสเกิดการแพ้ได้มากกว่าการมีพ่อหรือแม่แพ้เพียงคนเดียว และเด็กที่แพ้นมวัวมักมีโอกาสที่จะแพ้อาหาร ยา และสารต่างๆ ได้สูงกว่าคนทั่วไป เมื่อโตขึ้นเด็กกลุ่มที่แพ้นมวัว อาจเป็นผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ โรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้

เด็กที่แพ้นมวัว จะมีอาการให้เห็นได้หลากหลาย ความรุนแรงในเด็กแต่ละคนต่างกัน บางคนเป็นไม่เยอะไม่นานก็หาย บางคนอาจแพ้นานจนโต หรือแพ้แบบรุนแรงโอกาสอันตรายถึงชีวิตก็มี แต่เหล่านี้สามารถตรวจพบและเฝ้าระวังได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม เด็กที่แพ้นมวัวส่วนใหญ่แพ้ไม่ค่อยรุนแรง สังเกตอาการได้ง่าย การตรวจรักษาทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญมีโอกาสหายเป็นปกติ ขอเพียงหมั่นสังเกต และพาลูกน้อยไปตรวจรักษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญอาการแพ้นมวัวก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลยค่ะ

หากเด็กแพ้นมวัวมีอาการรุนแรง ร่างกายจะแสดงอาการแพ้หลายระบบ เช่น เติบโตช้า

ลูกแพ้นมวัว แต่จะไม่แพ้ไปตลอด!

“เด็กส่วนใหญ่แพ้นมแล้วจะมีอาการถ่ายผิดปกติ หรือถ่ายเป็นเลือด ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลใจ แต่สุขภาพโดยทั่วไปยังแข็งแรงดี น้ำหนักก็ขึ้นปกติ พอผ่านไปสัก 6 เดือน หรือ 1 ปีก็หายแพ้ สามารถกลับมาดื่มนมวัวได้ หรือเด็กที่แพ้นมแล้วมีอาการผื่นแพ้ แต่พอโตขึ้นสักประมาณ 1-2 ขวบอาการแพ้หายก็มีมาก”

หากเด็กแพ้นมวัวมีอาการรุนแรง ร่างกายจะแสดงอาการแพ้หลายระบบ เช่น เติบโตช้า ในบางกรณีอาจมีความดันโลหิตต่ำ หรือที่เรียกว่า ภาวะช็อคเมื่อดื่มนม หรือดื่มนมแล้วมีเลือดออกในปอด

แต่เด็กที่มีอาการแพ้รุนแรงแบบนี้จะมีอยู่แค่ 10-20% เท่านั้น และไม่ว่าจะแพ้มากแพ้น้อย รุนแรงหรือไม่รุนแรง เด็กทุกคนมีโอกาสหายจากการแพ้นมวัวทุกคนแน่นอน

ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอยังมองว่า “เด็กที่แพ้นมวัว ยังโชคดีกว่าเด็กที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น เพราะโตแล้วมีโอกาสหายสูงมาก คนที่แพ้ไม่มาก อายุ 3 ขวบก็น่าจะหาย คนที่แพ้รุนแรงส่วนใหญ่ก็มักหายขาดได้เมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ โอกาสที่เด็กจะแพ้นมตลอดชีวิตมีน้อยมาก ประมาณ 1% เท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม คุณหมอไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทดลองให้ลูกที่มีอาการแพ้นมวัว ทดลองดื่มนมด้วยตัวเอง เพื่อทดสอบว่าหายแพ้หรือยัง ควรทำการทดสอบอีกครั้งและดื่มนมโดยมีคุณหมอสังเกตการณ์อยู่ด้วยจะปลอดภัยที่สุด

อ่านต่อ “เมื่อไรลูกจะกลับมาดื่มนมวัวได้อีกครั้ง” คลิกหน้า 3

เมื่อไรลูกจะกลับมาดื่มนมวัวได้อีกครั้ง

หากลูกแพ้นมวัว ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงต่อไป เพราะถึงแม้ว่าอาการแพ้ อาจจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่จะเปลี่ยนระบบไปเป็นปัญหาทางระบบทางเดินหายใจแทน คือเป็นหวัดบ่อยๆ เมื่อเข้าโรงเรียน จึงควรหาอาหารที่มีแคลเซียมสูงจากปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้งป่น ผัก ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช และงาดำมาทดแทน

ส่วนความเชื่อที่ว่า การดื่มนมวัวทำให้ร่างกายของเด็กสูงใหญ่เหมือนฝรั่ง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะความสูงนั้นมีกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดหลัก ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม คือ โปรตีน และแคลเซียมที่พอเพียง (แต่ไม่มากเกินไป เพราะอะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น) การมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย (เพราะการป่วยแต่ละครั้งจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก) การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อนที่มีคุณภาพ จะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ต้องกังวล หากไม่ได้ดื่มนมวัวผงที่ทำมาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว จะไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นบางอย่างตามที่โฆษณาไว้ว่าจำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ เพราะว่าสารสำคัญเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นของสังเคราะห์ ซึ่งประโยชน์ไม่เท่ากับที่มีอยู่ในธรรมชาติ

ถ้าลูกเป็นเด็กแพ้นมวัว ก็แปลว่าเขามีความเสี่ยงที่จะแพ้อาหารชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย

อาหารเสริมของเด็กแพ้นมวัว

ถ้าลูกเป็นเด็กแพ้นมวัว ก็แปลว่าเขามีความเสี่ยงที่จะแพ้อาหารชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ที่พบบ่อย ได้แก่ ไข่ อาหารทะเล (ปลา น้ำปลา กุ้ง หอย น้ำมันหอย ปู ปลาหมึก) แป้งสาลี (ขนมปัง) ถั่วเมล็ดแข็ง (วอลนัท ฮาเซลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์) ผักผลไม้รสเปรี้ยว (มะเขือเทศ ส้ม มะนาว สตรอว์เบอรี่ บลูเบอรี่ ราสเบอรี่ กีวี) จึงแนะนำว่า ควรเริ่มป้อนอาหารเหล่านี้หลังจากลูกอายุครบ 2 ขวบ และเมื่อเริ่มให้ก็ต้องลองทีละอย่างและเริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วดูว่าเขาแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่

ส่วนอาหารเสริมที่ให้ได้ตามปกติ ได้แก่ ผักส่วนใหญ่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และปลาน้ำจืด แต่ให้เริ่มหลังลูกอายุครบ 6 เดือนไปแล้ว ไม่ควรเริ่มก่อนหน้านั้น เพราะระบบภูมิต้านทานในลำไส้ยังพัฒนาไม่เต็มที่

ที่สำคัญคือ อย่าลืมเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมวัว (เนย ชีส ช็อกโกแลต เค้ก คุกกี้ ไอศกรีมนม) และถั่วเหลืองด้วย (เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊วขาว) และถ้าลูกกินนมแม่ คุณแม่ก็ต้องเลี่ยงอาหารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและหาอาการที่ลูกแพ้นมวัว นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพื่อผู้ปกครองจะได้รู้เท่าทันและรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ให้ลูกรักเติบโต แข็งแรงอย่างปลอดภัย

บทความดีๆ จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids คอลัมน์ Kid Health โดย อ.พญ.นริศรา สุรทานต์นนท์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพ้อาหารในเด็ก หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้อมูลบางส่วนจาก : www.sanook.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids