AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

16 เทคนิค หยุดปัญหา! ลูกกัดหัวนม อย่างได้ผล

ลูกกัดหัวนม จนหัวนมแตกเป็นประสบการณ์ที่คุณแม่เกือบทุกคนเคยสัมผัสมาแล้ว จนอาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ให้นมต้องเจอเรื่องหนึ่ง แต่ปัญหา ลูกชอบกัดหัวนมแม่ นั้นแก้ไม่ยากหากรู้เทคนิค ซึ่ง Amarin Baby & Kids ได้รวบรวมมาฝากคุณแม่ลองนำไปใช้กันดูค่ะ รับรองเห็นผล ลูกเลิกกัดหัวนมแม่แน่นอน

คุณแม่รู้หรือไม่ ถ้าลูกกัดหัวนม แล้วแม่ทนอยู่อย่างนั้น ลูกจะกัดต่อไป ต่อไป และต่อไป การที่ลูกเกิดอาการมันเขี้ยว และแสดงอาการดีใจที่ได้กัดหัวนมแม่ (เพราะบางทีกัดแล้วยิ้มด้วย) เป็นความสุขอย่างหนึ่งตามพัฒนาการด้านการตอบสนองทางปากของวัยทารก แต่เด็กไม่รู้ว่านั่นทำให้แม่เจ็บ คุณแม่จึงควรค่อยๆ เพิ่มระดับการห้ามเพื่อหยุดลูกกัดหัวนม

สาเหตุที่ ลูกกัดหัวนม อาจเกิดขึ้นได้จาก 3 กรณี

เมื่อได้ทราบแล้วว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ ลูกชอบกัดหัวนม คุณแม่จึงควรทราบวิธีป้องกันและแก้ไข ไม่ให้ลูกกัดหัวนมอีก เพราะหากปล่อยให้ลูกกัดหัวนมบ่อยๆ อาจทำให้ หัวนมแตก และลุกลามเป็นแผลอักเสบได้

16 เทคนิครับมือ ลูกกัดหัวนม แม่ควรทำดังนี้

  1. ระหว่างที่ลูกกำลังดูดนม ให้ดึงความสนใจของลูกมาที่ตัวแม่ โดยการจ้องตา ลูบไล้ลูก หรือคุยกับลูก

2. เตรียมวางนิ้วมือไว้ใกล้ๆ ปากลูก เมื่อเวลาลูกกัด ก็รีบสอดนิ้วเข้ากันไม่ให้ลูกกัดหัวนม ยุติการดูดได้ทันที

3. เมื่อถูกกัดอย่าดึงลูกออกทันที หัวนมจะถูกดึงและลูกจะกัดแรงขึ้น

4. ขณะลูกกัด ให้คุณแม่ใช้มือลูบบริเวณกรามของลูก จากหูเลื่อนมาที่คางเบาๆ ลูกจะคลายอาการกัดหัวนมแม่ลง

5. เมื่อลูกกัดหัวนมให้ดันศีรษะลูกเข้าชิดกับเต้านม เพื่อให้หายใจไม่สะดวก หรือบีบจมูกลูกเบาๆ เพื่อให้อ้าปากคายหัวนมออก

6. แสดงปฏิกิริยาให้รู้ว่ากำลังทำให้แม่เจ็บ แม่ไม่ชอบ เช่น ดุลูก บอกลูกว่า กัดไม่ได้ แม่เจ็บ ทำสีหน้าให้นิ่งๆ มากที่สุด หากไม่ได้ผล ให้ปิดเสื้อไม่ให้ดูดต่อ เอาลูกออกจากเต้าโดยใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากลูก และวางลูกลง แล้วเดินจากไป

7. หากลูกร้องไห้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพจิต สักพักค่อยเดินกลับมาใหม่ แต่จะไม่ให้ดูดนมต่อจนกว่าจะถึงนมมื้อต่อไป ทุกครั้งที่ลูกกัดให้ตอบสนองแบบนี้เสมอ ทำสัก 10-15 ครั้ง ลูกก็จะเรียนรู้ว่าถ้ากัดแล้วแม่จะหยุดให้นม แล้วเดินจากไป ลูกจะไม่กล้ากัดอีก

8. ก่อนให้นมครั้งต่อไป ควรพูดคุยกับลูก เช่น คุณแม่จะให้กินนมแล้วนะคะ หนูอ้าปากกว้างๆ อย่ากัดนะคะ คุณแม่เจ็บค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ>> เทคนิครับมือ ลูกกัดหัวนม ข้อ 9-16 คลิกหน้า 2

9.อย่าทำสิ่งต่อไปนี้ เพราะจะทำให้ลูกตกใจแล้วไม่กล้าดูดนมแม่อีกต่อไป เช่น เอามือตบปากลูก บีบจมูกลูก ตะโกนใส่หน้าลูก ร้องไห้ฟูมฟาย ทำหน้าถมึงทึง ร้องกรี๊ด

10. ห้ามยิ้มเด็ดขาด อย่านั่งให้ลูกดูดต่อ ให้ยุติการดูด ต้องปั้นสีหน้าให้เฉยเมยที่สุด เพราะถ้ายิ้มลูกจะคิดว่าแม่ชอบ เดี๋ยววันหลังกัดอีก

11. เมื่อลูกดูดได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่กัดนมแม่ ก็ให้รางวัลโดยการพูดชม ยิ้ม กอดหรือจูบลูก ซึ่งลูกจะเรียนรู้ได้

12. เด็กบางคนจะกัดเวลาง่วง บางคนกัดเวลาหิว บางคนกัดเวลาอิ่ม บางคนกัดเวลาหลับ ให้สังเกตพฤติกรรมของลูกและให้รีบขยับตัวออกจากปากลูกอย่างแผ่วเบาก่อนที่จะโดนกัด หรือเลือกเวลาให้นมที่ปลอดภัย

13. เด็กบางคนจะกัดเมื่อน้ำนมไม่ไหลในขณะยังไม่อิ่ม ดังนั้น คุณแม่ควรพยายามกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น โดยให้ลูกดูดบ่อยๆ และคุณแม่ดื่มน้ำและกินอาหารให้พอ

14. เมื่อลูกหลับ ให้เอาลูกออกจากเต้า อย่าปล่อยคาไว้ ถ้าลูกร้อง ก็ปลอบโยน กอดลูกให้รู้สึกอบอุ่นใจ

15. ให้หาอะไรแข็งๆ เย็นๆ และปลอดภัย ให้ลูกงับบ่อยๆ เพื่อระบายอาการคันเหงือก เช่น ยางที่ฝึกกัด ผักหรือผลไม้ล้างให้สะอาดปอกเปลือกหั่นเป็นท่อนใหญ่ๆ แช่ช่องฟรีส แล้วใส่ถุงตาข่ายเพื่อกันไม่ให้ชิ้นส่วนตกเข้าคอ

16. หมั่นใช้นิ้วมือสะอาดนวดเหงือกและฟันให้ลูกบ่อยๆ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ 10 วิธีลดอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก คลิกหน้า 3

10 วิธีลดอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก

หากคุณแม่ปล่อยให้ลูกกัดหัวนม จนมีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก จะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไร กินยาได้หรือเปล่า ต้องงดให้นมลูกหรือไม่ มีคำแนะนำ ดังนี้ค่ะ

1. ถ้าลานนมตึงหรือแข็ง ให้บีบน้ำนมออก และหรือนวดลานนมให้นิ่มก่อนให้ลูกดูดนม เปลี่ยนท่าอุ้มหรือเปลี่ยนตำแหน่งลูกไม่ให้ดูดทับรอยแผลที่แตก

2. ให้ลูกดูดข้างที่ไม่เป็นแผลก่อน ถ้าทั้งสองข้างเจ็บเหมือนกัน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบและนวดเต้านมเบาๆ เพื่อให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา

3. ให้ลูกอมหัวนมให้ลึก ดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้อง จมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากของลูกควรแบะออกเหมือนปลา

4. อุ้มลูกให้กระชับกับหน้าอกเพื่อไม่ให้ลูกดึงหัวนม และอย่าลืมลดแรงดูดของลูกออกก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปากลูก

5. บีบน้ำนมทาแผล ผึ่งลมให้แห้ง ไม่ต้องใส่เสื้อชั้นใน น้ำนมจะช่วยสมานแผลให้หายเร็ว ให้ยาแก้ปวด paracetamol เพื่อลดอาการปวดได้

6. ถ้าอาการเจ็บมากจนทนไม่ไหว ให้ลูกงดดูดนมแม่ 1-2 วัน โดยบีบน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง และป้อนนมด้วยถ้วย หรือช้อนไปก่อน ไม่ควรให้ลูกดูดจากขวดนมเพราะจะทำให้เด็กเกิดความสับสนและติดการดูดจุกนมได้

7. อย่าหยุดให้นมลูก เพราะน้ำนมของคุณแม่จะลดลง

8. ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม เพราะการล้างด้วยน้ำเปล่าบ่อยๆ สามารถทำให้ผิวแห้งได้

9. ไม่ใช้สบู่ แอลกอฮอล์ ฟอกหรือทาหัวนม ไม่ใช้น้ำอุ่นหรือร้อนเช็ดทำความสะอาดหัวนม

10. ถ้าแก้ไขแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน

ปัญหาลูกกัดหัวนม และปัญหาหัวนมแตก มักเป็นของคู่กัน สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจให้นมลูก อย่าเพิ่งท้อ หรือหยุดให้นมลูก หากยังไม่ได้ทำตามคำแนะนำข้างต้น Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ให้นมลูกสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ เพราะถึงแม้จะมีอุปสรรคมากเพียงใด ประโยชน์ที่ลูกจะได้จากการกินนมแม่นั้นคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอนค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก thaibreastfeeding.org , breastfeedingthai.com , dgsmartmom.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids