วิธีเพิ่มน้ำนม …คุณแม่มือใหม่หลายคนมักกังวลว่า ตัวเองจะมีน้ำนมน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก พอเห็นลูกร้องหิวบ่อยๆ ก็ยิ่งเครียด ยิ่งกังวล จนบางครั้งจากที่เคยมีน้ำนมให้ลูกแบบพอดีๆ ก็พานน้อยลงไปจริงๆ เพราะความเครียดจากการคิดเองว่า “น้ำนมฉันน้อย”
และเพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดการสับสนว่า จริงๆ แล้วน้ำนมน้อย เพราะความจริงคุณแม่ที่ให้นมทุกคนมีน้ำนมเพียงพอต่อลูกน้อยของตนเองอยู่แล้ว และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคุณแม่ให้นม Amarin Baby & Kids จึงมีวิธีเรียกน้ำนมง่ายๆให้เพียงพอกับลูกน้อยของคุณ ด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้
วิธีเพิ่มน้ำนม 5 STEPS เรียกน้ำนมเพื่อลูก
STEP 1 : “เชื่อมั่น” ฉันทำได้!
คุณหมอแนะนำว่า ก่อนอื่นคุณแม่ต้องเชื่อมั่นก่อนว่า คุณแม่ทุกคนสามารถให้นมลูกได้ เพราะจากงานวิจัย คุณแม่ 95-97% มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกน้อยอย่างแน่นอน มีเพียง 3-5% เท่านั้นที่ผลิตน้ำนมได้ไม่เพียงพอจริง ๆ จึงจำเป็นต้องให้ลูกกินนมชง เพียงแต่ใน 95-97% นั้นอาจผลิตได้มากน้อยแตกต่างกันออกไป คุณหมอยกตัวอย่างกรณีของตัวคุณหมอเองว่า คุณหมอผลิตน้ำนมได้อยู่ตรงกลางของค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ คือ มีน้ำนมให้ลูกพอกิน และยังปั๊มออกมาเก็บไว้ได้อีกวันละ 20 กว่าออนซ์ ส่วนคนที่มีน้ำนมเกินกว่าค่าเฉลี่ยจะสามารถปั๊มน้ำนมเก็บไว้ได้วันละมากกว่า 30 ออนซ์ขึ้นไป และคนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย อาจปั๊มน้ำนมเก็บได้วันละ 15-10 ออนซ์ แต่ก็เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยอยู่ดี ดังนั้นก่อนอื่นคุณแม่ต้องเชื่อมั่นก่อนว่า เราจะอยู่ในกลุ่ม 95-97% ที่สามารถให้นมลูกได้ แล้วปฏิบัติตามที่หมอแนะนำ ก็จะสามารถสร้างน้ำนมให้ลูกได้ไม่ยากเลยค่ะ
STEP 2 : กินให้ถูกวิธี
ปู่ย่าตายายมักแนะนำให้คุณแม่กินแกงเลียง หัวปลี และอีกสารพัดเมนูเพื่อบำรุงน้ำนม แต่คุณหมอยืนยันชัดเจนว่า อาหารเหล่านั้นยังไม่มีงานวิจัยใดคอนเฟิร์มได้ว่าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมจริง อีกทั้งการเร่งกินอาหารบำรุงชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมากกว่าปกติตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ อาจเป็นเหตุให้ลูกน้อยมีอาการแพ้สิ่งนั้นได้ หลักการกินที่จะช่วยเพิ่มน้ำนมและได้ผลจนคุณหมอขอฟันธง มีเพียงการกินอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่ให้พลังงานและแคลเซียมเพียงพอ โดยพลังงานที่ใช้สำหรับผลิตน้ำนมเพื่อลูกน้อยในแต่ละวันอยู่ที่ 500 กิโลแคลอรี ดังนั้นคุณแม่ต้องการสารอาหารเพิ่มเพียง 500 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือรับประทานอาหารเพิ่มอีกเพียง 1 มื้อเท่านั้น เช่น จากที่กินอยู่ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ก็เพิ่มเป็น 2,500 กิโลแคลอรี หรือหากร่างกายคุณแม่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว ควรเริ่มที่การกินอาหารวันละ 1,500 กิโลแคลอรี แต่หากต้องให้นมลูกน้อยด้วยก็เพิ่มเป็น 2,000 กิโลแคลอรีเท่านั้น ดังนั้นอาหารบำรุงทั้งหลาย แม้จะเป็นของดีมีประโยชน์ แต่หากกินมากไป หรือบำรุงแต่อาหาร ไม่ปั๊มน้ำนมหรือให้นมลูกอย่างสม่ำเสมอ พลังงานทั้งหมดก็จะกลายไปเป็นไขมันสะสมให้คุณแม่คนเดียวได้นะคะ
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : เมนูอาหารเพิ่มน้ำนมให้แม่ลูกอ่อน
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : ผักผลไม้เพิ่มน้ำนม 20 ชนิด เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่
อ่านต่อ >>”STEP 3 การสร้างสัญชาตญาณแม่ลูกตั้งแต่แรกคลอด” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
STEP 3 : สร้างสัญชาตญาณแม่ลูกตั้งแต่แรกคลอด
สัญชาตญาณตามธรรมชาติของเด็กแรกคลอด หากตัดสายสะดือแล้วคุณแม่นำลูกมาประคองวางไว้ที่หน้าท้องคุณแม่ ลูกน้อยจะสามารถค่อย ๆ ขยับ ค่อย ๆ เคลื่อนตัวตามกลิ่นมาหานมของคุณแม่ได้เอง แม้เด็กสายตาแรกคลอดจะสั้น เห็นชัดเพียงครึ่งฟุต และเห็นชัดเพียงสีขาวดำ แต่ฮอร์โมนตามธรรมชาติของคุณแม่ก็ปรับสีของหัวนมแม่ให้เข้มขึ้นไว้สำหรับลูกน้อยแล้ว นอกจากนี้หัวนมของคุณแม่ยังมีต่อมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นต่อมไขมันพิเศษที่มีทั้งกลิ่นน้ำคร่ำของคุณแม่ และคอยเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ให้หัวนมแห้งผากเมื่อถูกน้ำลายลูกน้อยบ่อย ๆ ด้วย เมื่อธรรมชาติสร้างทุกอย่างไว้ให้สำหรับมนุษย์แม่อย่างเรา เพราะฉะนั้นหากคุณแม่คลอดตามธรรมชาติ ไม่ถูกฉีดยาชาหรือยาสลบ คุณหมอแนะนำให้ปล่อยลูกน้อยไว้บนท้องแม่ตามธรรมชาติ แล้วเขาจะสามารถเคลื่อนตัวมาหาหัวนมคุณแม่ได้เองภายใน 60 นาที
และหากลูกน้อยไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องถูกแยกไประวังรักษา คุณแม่ก็สามารถกระตุ้นให้เขาเข้าเต้ากินนมทุก 1-3 ชั่วโมงได้ เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็จะได้รับน้ำนมที่มีคุณค่าทางสารอาหารกว่า 200 ชนิดจากคุณแม่ตั้งแต่แรกคลอด โดยเฉพาะน้ำนมช่วงแรก ๆ ของคุณแม่จะเป็น “นมน้ำเหลือง” ที่มีความข้นและหนืดมาก ซึ่งมีภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าวัคซีนถึง 3,000 เข็ม เป็นแหล่งจุลินทรีย์ชั้นดีที่จะเข้าไปอยู่ในลำไส้ของลูกน้อย และช่วยให้เขาสุขภาพแข็งแรงได้ในระยะยาว คุณหมอฝากเน้นย้ำมาว่าคุณแม่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด ต้องให้ลูกดูดน้ำนมแรกให้ได้ ข้างละ 10-20 นาที คุณแม่บางคนอาจแย้งว่า เราใช้เครื่องปั๊มน้ำนมไปให้ลูกก็ได้ แต่คุณหมอฝากเตือนว่า นมน้ำเหลืองใช้เครื่องปั๊มไม่ออก เพราะมีความข้นและหนืดสูงมาก เครื่องปั๊มยังสู้แรงและวิธีการดูดนมตามธรรมชาติของลูกไม่ได้ แต่หากคุณแม่มีความจำเป็น เช่น ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการผิดปกติที่คุณหมอต้องแยกลูกน้อยไปดูแลรักษาทันที ขอให้ลองบีบนมน้ำเหลืองฝากพยาบาลไปป้ายปากลูกน้อย เขาก็จะได้ภูมิคุ้มกันนี้ไปด้วยเช่นกัน
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : สัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก
√ เลือกโรงพยาบาลก็สำคัญ !
โรงพยาบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการให้นมแม่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คุณแม่ให้นมลูกเองได้มาก แต่บางครั้งคุณแม่ก็อาจเลือกโรงพยาบาลเองไม่ได้ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ข้อแนะนำคือควรเลือกโรงพยาบาลใกล้บ้านดีที่สุด และลองศึกษาข้อมูลดูว่าโรงพยาบาลนั้นมีนโยบายเรื่องนมแม่อย่างไร แล้วค่อยพูดคุยกับทีมแพทย์ว่า หลังคลอดอยากให้ลูกเข้าเต้าเลย ไม่เอานมผง โรงพยาบาลหลายๆ แห่ง พยาบาลไม่มีเวลามาช่วยส่งลูกเข้าเต้าให้เราบ่อย คุณแม่ก็ต้องเดินไปที่เนิร์สเซอร์รี่เอง ในต่างประเทศจะนิยมทำแผนการคลอดหรือที่รู้จักกันว่า Birth Plan คุณแม่จะวางแผนว่าจะคลอดอย่างไร ใช้ยาระหว่างคลอดหรือไม่ หลังคลอดเสร็จแล้วจะให้ลูกเข้าเต้าตอนไหน โดยนำแผนนี้ไปให้คุณหมอสูติ แต่บ้านเรายังไม่นิยมมากนัก
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : รวม ค่าคลอด โรงพยาบาลรัฐ ปี 2560
STEP 4 : ใจเย็น ๆ ไม่รีบร้อน
คุณแม่บางท่านเครียดมากและใจร้อน พอเห็นว่าไม่มีน้ำนมให้ลูกกินตั้งแต่แรกคลอดก็กลัวลูกหิว จึงตัดสินใจให้นมทางเลือกอื่น ๆ แทนทันที แต่จริง ๆ แล้วคุณหมอบอกว่า เด็กเขามีพลังงานสำรองจากในท้องของคุณแม่มาเต็มเปี่ยม และน้ำหนักลดได้ 10% ก็ยังไม่เป็นอันตราย วันแรก ๆ แม้จะไม่มีน้ำนมให้ลูก ลูกน้อยก็ยังอยู่ได้ แต่ถึงน้ำนมจะยังไม่มาหรือมาน้อย ก็ต้องหมั่นจับลูกเข้าเต้าอยู่เสมอ เพราะแรงดูดน้ำนมของลูกคือตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมา ยกเว้นแต่กรณีที่เด็กเกิดมาไม่สมบูรณ์แข็งแรง 100% เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีภาวะเบาหวาน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ คุณหมอจะช่วยพิจารณาให้นมชงหรือนมสูตรพิเศษเป็นราย ๆ ไปค่ะ
อ่านต่อ >>”STEP 5 ปรับร่างกายตามกลไล “อุปสงค์-อุปทาน” ของนมแม่กับลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
STEP 5 : ปรับร่างกายตามกลไล “อุปสงค์-อุปทาน”
คนสมัยก่อนไม่มีเครื่องปั๊มนมช่วย เมื่อเอาลูกเข้าเต้า ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมได้น้อยตามปริมาณที่ลูกกิน แต่สมัยนี้คุณแม่สามารถใช้เครื่องปั๊มนมหลอกร่างกายได้ว่า คุณแม่มีลูกมากกว่า 1 คนและต้องการน้ำนมเพิ่มมากกว่านี้ เมื่อลูกกินอิ่มแล้ว คุณแม่จึงควรใช้เครื่องปั๊มนม ช่วยปั๊มน้ำนมออกมาเก็บไว้อีกทุกชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายปรับสภาพไปตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน คือ เมื่อปั๊มออกมามาก หมายความว่าเราต้องการน้ำนมมาก ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมามากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้กระเพาะเด็กน้อยเล็กแค่ 5 ซีซี หรือขนาดเท่าลูกเชอร์รี่เท่านั้น ดูดนมนิดเดียวก็เต็มกระเพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ย่อยเร็วหิวเร็วด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเขาต้องกินนมบ่อย ๆ แล้วกระเพาะเด็กก็จะค่อย ๆ ขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนขนาดเท่าไข่ไก่ตอนอายุประมาณ 1 เดือน ระยะเวลาที่ให้นมก็จะค่อย ๆ ห่างกันออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ
4 ปัจจัย เพิ่มความเสี่ยงน้ำนมเหือดหาย
ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้น้ำนมของคุณแม่มีโอกาสเหือดแห้งลดน้อยลงหรือท่อน้ำนมเกิดการอุดตันได้ ลองมาสำรวจกันเลยค่ะ
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ หรือวิตามินบางตัว
- ไม่ระบายน้ำนมออกตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีรสหวานหรือมัน มากจนเกินไป
- สวมใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป
หากคุณแม่สำรวจแล้วพบว่า ตัวเองมีพฤติกรรมซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามนี้ได้ ก็เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองใหม่ ให้นมลูกหรือปั๊มนมออกให้เป็นเวลา รับประทานอาหารมีประโยชน์และหลากหลาย สวมใส่ชุดชั้นในที่เหมาะสมกับสรีระของคุณแม่หลังคลอด และกินยาตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น เพียงเท่านี้น้ำนมของคุณแม่ก็จะไม่แห้งหายไปอย่างแน่นอน แต่หากคุณแม่ท่านใดเริ่มมีน้ำนมน้อยแล้ว สามารถปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในคลินิกนมแม่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ ซึ่งคุณหมอก็จะคำแนะนำหรือวิธีให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับอาการ เช่น ให้ยาเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่ที่ไม่มีโรคประจำตัว นวดเปิดท่อน้ำนมสำหรับคุณแม่ที่ท่อน้ำนมอุดตัน หรือช่วยกรีดหัวนม (อาจฟังดูน่ากลัว แต่คุณหมอยืนยันว่าไม่เจ็บอย่างที่คิด) สำหรับคุณแม่ที่หัวนมแตก ฯลฯ ขอเพียงคุณแม่เข้าไปปรึกษาคุณหมอสักนิด คุณหมอก็พร้อมจะช่วยเหลือและหาวิธีกู้น้ำนมกลับมาให้ลูกน้อยได้อย่างแน่นอนค่ะ
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : การใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูกน้อย
เคล็ดลับการจัดการสต๊อกนมแม่
จริงๆ ถ้าเป็นคุณแม่ทำงานนอกบ้านไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไม่กินนมสต๊อก ลูกกินแน่ๆ จะมากจะน้อยอย่างไรก็กิน ที่สต๊อกเก็บไว้อย่างไรก็หมด แต่เด็กบางคนจะกินนมสต๊อกในปริมาณที่น้อยเพราะเก็บท้องไว้รอดูดเต้าแม่ แม่ก็ชะล่าใจเอานมไปบริจาค ซึ่งจริงๆหมอไม่แนะนำนะคะ เพราะอาจจะมีโรคไวรัสอะไรบางอย่างที่ส่งผ่านนมแม่ได้ สำหรับเด็กที่ผ่านการฝึกกินนมสต๊อกมา เมื่อถึงเวลาที่ลูกเลิกเต้าแล้ว เขาก็จะกินนมสต๊อกมากขึ้นแน่นอน คุณแม่ก็ไม่ต้องควักเงินซื้อนมกล่องให้ลูกกิน ก็ช่วยให้ประหยัดเงินได้เยอะ
ประเด็นอยู่ที่เราต้องฝึกให้ลูกรู้จักนมสต๊อกไว้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากนมที่เราเก็บสต๊อกไว้ได้อย่างเต็มที่ วิธีการฝึกลูกกินนมสต๊อกที่หมอแนะนำคือ เมื่อลูกอายุครบ 1 เดือน ต้องฝึกให้เขาเจอขวดวันละครั้ง โดยคุณแม่ย้ายนมจากช่องฟรีซลงมาตั้งแต่กลางคืนให้ละลายในตู้เย็น ถ้าเราไม่ได้เก็บถุงหนามาก วันรุ่งขึ้นก็ละลายแล้ว แล้วก็เทจากถุงใส่ขวด และใช้จุกเบอร์ S เท่านั้น ไม่ต้องเปลี่ยนขนาดเลยนะคะ
ที่สำคัญเวลาที่ป้อนนมอย่าถือขวดแบบตั้งฉากเพราะว่านมจะไหลเร็ว ให้ถือขวดแนวราบ นมจะได้ไหลช้าๆหมดช้าๆ แต่ทีนี้ทั้งนมและลมจะเข้าท้องลูกด้วย ไม่เป็นไรเพราะเราจะมีการจับเรอทุกออนซ์ คือครั้งหนึ่งเราให้นมประมาณ 3 ออนซ์ ครบ 1 ออนซ์ปุ๊บเอาขวดออก อุ้มลูกเดินรอบบ้านให้เขาเรอ ป้อนออนซ์ที่ 2 แล้วก็อุ้มให้เรอ ป้อนออนซ์ที่ 3 แล้วก็อุ้มให้เรอ ใช้เวลาในการหมดขวดประมาณ 20 นาที
แต่ถ้าเทียบกับการป้อนแนวตั้งฉาก แค่ 3 นาทีหมดแล้ว 3 ออนซ์ พุงใหญ่แล้ว แต่ปากยังขมุบขมุบอยู่ แบบนี้ก็ทำให้คุณแม่คิดว่าลูกยังไม่อิ่ม ต้องเอานมมาเพิ่มอีก ทีนี้ก็เยอะเกิน เด็กก็อาเจียนออกมาเพราะว่าความอยากดูดกับความอิ่มมันไม่แมทซ์กัน เพราะฉะนั้นก็คือต้องให้ช้าๆ พอกินครบ 3 ออนซ์ ต้องอยู่ได้ 3 ชั่วโมง จำสูตร ชั่วโมงละ 1 ออนซ์ใช้สูตรนี้ตลอด ตั้งแต่ 1 เดือนจนถึงโตเลยค่ะ ถ้ากินจากขวดนะคะ แต่ถ้ากินจากเต้าก็บุฟเฟต์เลยค่ะสำหรับเด็กแรกเกิด แต่พอเริ่มโตก็ฝึกให้กินเป็นเวลา ไม่ใช่ขอกินทุกชั่วโมง เพราะจะทำให้เด็กติดนมแม่งอมแงม ต้องดึงให้ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง/ครั้ง นี่คือสูตรสำหรับเด็กที่โตขึ้น
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!