AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ฝากครรภ์ฟรี ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ

Credit Photo : Shutterstock

โครงการฝากครรภ์ฟรี ใครว่าไม่มีในเมืองไทย เพราะปีนี้รัฐบาลเขาหนุนให้คู่รักแต่งงานทุกครัวเรือนทั่วไทยมีลูกใน “โครงการสาวไทยแก้มแดง” เร่งปั๊มมีลูกเพื่อชาติ โดยหนุนให้สิทธิฝากครรภ์ฟรีมากถึง 5 ครั้งแถมยังได้สิทธิพิเศษอื่นๆ อีกเพียบเลยค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาบอกต่อให้ได้ทราบกันค่ะ

 

 โครงการฝากครรภ์ฟรี ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ  

ใครอยากมีลูกปีนี้อย่ารอช้า รู้ไหมว่ารัฐบาลเข้ามีสิทธิ์ให้รับบริการ โครงการฝากครรภ์ฟรี ด้วยนะ! ฉะนั้นมาเตรียมสุขภาพให้แข็งแรงแล้วมีลูกกันเถอะ ^_^

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่า ด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เพื่อให้อัตราเกิดใหม่ มีการคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง และพร้อมเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ” จัดสิทธิประโยชน์ดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ฝากท้องอย่างน้อย 5 ครั้ง ตรวจสุขภาพ คัดกรองความเสี่ยง พร้อมรับ “วิตามินเสริมเหล็ก/โฟลิก” เพื่อคลอดทารกปลอดภัย แม่แข็งแรง เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ

การฝากครรภ์ครั้งที่ 1 :

ควรฝากครรภ์อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จะได้รับบริการตรวจร่างกายและการตรวจครรภ์ ทั้งการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจภายใน วัดความสูงยอดมดลูก โดยทั่วไปร้อยละ 75 ของหญิงตั้งครรภ์สามารถให้การดูแลตามปกติ พร้อมกันนี้ยังจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาทิ การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจเลือด ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง การคัดกรองโรค เช่น โรคซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามี นอกจากนี้ยังตรวจคัดกรองทางด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า และคัดกรองการสูบบุหรี่/การดื่มสุรา/การใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงการให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยักเข็มที่ 1 อีกด้วย หากผลตรวจพบว่าผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลรักษาหรือป้องกัน และในส่วนที่มีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์

การฝากครรภ์ครั้งที่ 2 :

เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 13 – 18 สัปดาห์ เพื่อติดตามและดูการดิ้นของทารกในครรภ์ มีการตรวจร่างกายและตรวจครรภ์ การวัดความสูงของมดลูก ตรวจอายุของทารก ตรวจร่างกายทั่วไป จำนวนเด็กที่อยู่ในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ และกำหนดการคลอดได้อย่างถูกต้อง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากการฝากครรภ์ครั้งแรก การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มที่ 2 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป

การฝากครรภ์ครั้งที่ 3 :

เป็นการดูแลต่อเนื่องในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 19 – 26 สัปดาห์ โดยจะมีการตรวจร่างกาย การตรวจครรภ์โดยวัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง

การฝากครรภ์ครั้งที่ 4 :

เป็นการตรวจช่วงอายุครรภ์ 27 – 32 สัปดาห์ ติดตามอาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจร่างกาย วัดความสูงมดลูก ฟังเสียงหัวใจทารกรวมถึงการดิ้นทารกในครรภ์ การตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอดส์อีกครั้ง พร้อมแนะนำอาการเจ็บครรภ์

การฝากครรภ์ครั้งที่ 5 :

ช่วงอายุครรภ์ 33-38 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก นอกจากมีการติดตามตรวจครรภ์ วัดความสูงมดลูก และการดิ้นของลูกแล้ว ฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจท่าเด็ก เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ จะได้การตรวจยืนยันท่าเด็กเมื่อคลอดด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ หากพบว่าส่วนนำในการคลอดเด็กผิดปกติ เช่น ท่าขวางหรือเท้า จะได้ดำเนินการส่งต่อเพื่อเตรียมการคลอดที่ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก การให้คำแนะนำอาการเจ็บครรภ์หรือมีน้ำเดิน นัดฝากครรภ์หรือนัดคลอดครั้งต่อไป[1]

การฝากครรภ์เป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการฝากครรภ์ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งโดยไม่เสียค่าบริการ หากมีข้อติดขัดหรือสงสัยในการรับบริการ ติดต่อสอบถามที่ สายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ

อ่านต่อ สิทธิคลอดลูกฟรีก็มีนะ คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ฝากครรภ์ฟรี แล้วคลอดลูกฟรี มีไหม?

จะให้ดีต้องมีให้ครบสูตร ฝากครรภ์ไม่มีค่าใช้จ่ายไปแล้ว ทีนี้จะคลอดลูกก็มีบริการคลอดฟรีให้คุณแม่ท้องด้วยเหมือนกัน จะว่าไปอยู่ประเทศไทยเรานี่ก็ดีมากไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลกนี้เลยค่ะ

บทความแนะนำ กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยมีลูกเพื่อชาติ

คลอดลูกฟรีมีกับบัตรประกันสังคม สำหรับคุณแม่ที่ทำงานแล้วมีการจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมมาตลอดไม่มีขาดจ่าย ขอให้รู้ไว้ว่าถ้าตั้งครรภ์ คุณแม่ได้สิทธิคลอดฟรีด้วยนะคะ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จะทำหน้าที่ดูแลระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้หลังจากที่ยื่นเรื่องแจ้งเอกสารการคลอดบุตรเข้าไป รายละเอียดตามนี้ค่ะ

  1. ผู้มีสิทธิต้องเป็นลูกจ้างในองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ หรือผู้ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วยตัวเองหลังจากลาออกจากงาน โดยใช้ความคุ้มครองต่อเนื่องตามมาตรา 39
  2. คุณแม่สามารถเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาของภาครัฐได้ 156 แห่ง และเอกชน 86 แห่ง รวมถึงเครือข่ายสถานพยาบาลอีกประมาณ 2,000 แห่ง
  3. การจ่ายเงินคือเหมาจ่ายเป็นรายคน ตามระบบประกันสังคม หากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลอื่นได้ โดยใช้สิทธิฉุกเฉินโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

แนะนำว่าคุณแม่ท้องทุกคนก่อนที่จะคลอดลูกควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิที่ควรจะได้รับกันนะคะ

อ่านต่อ เงื่อนไขในการรับสิทธิเงินคืนจากการคลอดลูก คลิกหน้า 3 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข กรณีคลอดบุตร

บทความแนะนำ ฝากครรภ์ฟรี! คลอดบุตรฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

หมายเหตุ : กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก[2]

การฝากครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน เพราะการฝากครรภ์ให้เร็วเมื่อรู้ตัวว่าท้อง จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับทารกในครรภ์  และการฝากครรภ์ให้ได้คุณภาพควรให้คุณหมอตรวจสุขภาพครรภ์อย่างต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือน …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์ ตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงตอนคลอด ต้องจ่ายเท่าไร?
ค่าใช้จ่ายสำหรับลูก ตั้งแต่ แรกเกิด – ป.ตรี ต้องใช้เงินเท่าไหร่? รู้หรือยัง?
ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ที่พ่อแม่ควรรู้

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1]ก้าวใหม่ สปสช
[2]สำนักงานประกันสังคม