ภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างหนึ่งที่ถูกขนานนามว่า “ฝันร้ายทางการแพทย์” เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันระหว่างเจ็บครรภ์คลอด ระหว่างคลอด หรือหลังคลอดไม่นาน นั่นคือภาวะ น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด
ไม่มีใครคาดคิดว่าอีกไม่กี่อึดใจที่จะได้เฉลิมฉลองชีวิตใหม่ของเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะออกมาดูโลก จะกลายเป็นฝันร้ายของครอบครัว เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ มาก่อนตลอดการตั้งครรภ์ ได้เข้าไปในห้องคลอด แต่กลับออกมากลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา หรือร่างไร้วิญญาณ เพราะ ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด เรามาทำความเข้าใจกับภาวะนี้กันค่ะ
น้ำคร่ำคืออะไร
เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัว โดยภายในมดลูกจะมีน้ำคร่ำ เป็นน้ำสีใสๆ บางทีก็มีสีขุ่นเหมือนสีน้ำฟางข้าว ทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิ ช่วยขับถ่ายของเสีย และห่อหุ้มปกป้องลูกน้อยในครรภ์ให้ปลอดภัยจากการกระทบกระเทือน ให้ลูกลอยอยู่ในน้ำเหมือนภาวะไร้น้ำหนัก
ในน้ำคร่ำจะมีตะกอนของไขเด็ก ขี้ไคลเด็ก ปัสสาวะของเด็ก รวมถึงเศษเซลล์เล็กๆ ที่ลอกออกมาจากตัวเด็กที่มักไม่ใช่กลุ่มเลือดเดียวกับแม่ หรือบางครั้งก็อาจมีขี้เทาของเด็กปนอยู่ได้ น้ำคร่ำจึงเต็มไปด้วยของเสียมากมายถูกห่อหุ้มอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำที่ปิดเหนียวแน่นจนของเสียเหล่านี้ไม่สัมผัสกับแม่เลย จึงไม่เกิดปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด คืออะไร
“ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ชื่อทางการแพทย์ว่า Amniotic Fluid Embolism (AFE) หรือ Anaphylactoid syndrome of Pregnancy เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่มีความรุนแรง ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะ 3 ประการ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีครบทั้ง 3 ภาวะ ได้แก่
- ภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างทันทีทันใด (Hypotension)
- ภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia)
- ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (Comsumptive coagulopathy)
ภาวะดังกล่าวเกิดเมื่อเส้นเลือดดำเส้นเล็กๆ ปริแตกออกในถุงน้ำคร่ำ อาจจะเกิดขึ้นแถวๆ ปากมดลูก หรือบริเวณขอบรกหรือตรงไหนก็ได้ โดยที่มดลูกนั้นมีขนาดใหญ่กว่าหัวใจของเรา เวลามดลูกบีบตัวแรงๆ แรงดันภายในมดลูก ก็อาจจะสูงกว่าแรงดันภายในเส้นเลือด เมื่อเส้นเลือดดำปริแตก แทนที่เลือดจะไหลออกมาจากเส้นเลือด กลับไม่สามารถสู้แรงดันจากการบีบรัดตัวของมดลูกได้ น้ำคร่ำจึงไหลย้อนเข้าไปในกระแสเลือด
ทำให้คุณแม่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เนื่องจากน้ำคร่ำที่ไหลย้อนเข้าไปจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องขวา ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังปอดเพื่อฟอก ออกซิเจนแล้วกลับเข้าสู่หัวใจห้องซ้าย แล้วสูบฉีดเลี้ยงร่างกายหมุนเวียนกันไป
เมื่อน้ำคร่ำเข้าไปถึงหัวใจห้องขวาก็จะถูกสูบฉีดไปที่ปอดทั้งสองข้าง แทนที่จะเป็นเลือดก็กลับกลายเป็นน้ำคร่ำ ทั้งไขของเด็ก เศษขี้ไคล ขนอ่อน ขี้เทา ก็จะกระจายไปอุดตันเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถทำหน้าที่หายใจได้อีกต่อไป
อ่านต่อ>> น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด มีอาการอย่างไร คลิกหน้า 2
ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน มีอาการอย่างไร
อาการผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยจะเริ่มจากระยะที่ 1 คือ ระยะภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (Hemodynamic collapse) ระยะนี้คุณแม่จะเริ่มหายใจลำบาก เจ็บอก หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีอาการตื่นตระหนก ปวดและชาตามปลายนิ้ว คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้นาน 4 ชั่วโมง จากนั้นจะมีอาการชัก หัวใจและปอดหยุดทำงานทันที
ต่อมาในระยะที่ 2 จะมีภาวะการแข็งตัวของก้อนเลือดเล็กๆ กระจายทั่วร่างกาย ตามมาด้วยภาวะตกเลือดหลังคลอด และเสียชีวิตในที่สุด บางรายอาจจะไม่มีภาวะหายใจลำบาก หรือภาวะช็อกมาก่อน แต่จะมีภาวะเลือดไม่แข็งตัวอย่างรุนแรงเป็นภาวะหลักก็เป็นได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน มีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน
โรคนี้มีอัตราการเกิด 1 ใน 8,000 – 30,000 ราย โดยคนไทยคลอดปีละกว่าเจ็ดแสนคน (เฉลี่ยวันละสองพันคน) จะเกิดโรคนี้ ปีละ 26-100 คน หรือ ราว 2-8 คนต่อเดือน และ แม้ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือครบถ้วน เช่น โรงเรียนแพทย์ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ทั้งที่มีหมอล้อมรอบเตียงคนไข้ และรักษาอย่างเต็มที่ท่ามกลางยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วนก็ตาม
จากสถิติชี้ว่า แม่ 6 ใน 10 รายจะเสียชีวิต
3 ใน 10 รายพิการทางสมอง หรือเป็นเจ้าหญิงนิทรา
และมี 1 จาก10 รายเท่านั้น ที่รอดเป็นปกติ
อ่านต่อ>> ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ทำนายล่วงหน้าได้ไหม คลิกหน้า 3
ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ทำนายล่วงหน้าได้ไหม
ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด พบน้อยแต่ไม่สามารถทำนายได้ กลไกที่เกิดการรั่วของน้ำคร่ำ ใช้เวลาเป็นนาที เข้ากระแสเลือด ไปอุดปอด แพ้ช็อก เลือดออกไม่หยุดทันที เหมือนฉีดสารที่เราแพ้เข้าไปในเส้นเลือดฉับพลัน แม้รู้ล่วงหน้าว่ารักษาอย่างไรก็แทบจะให้ยาแก้ไม่ทัน อาการรุนแรงทันที หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
เพราะเมื่อน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ก็จะกระจายไปตามเส้นเลือดเส้นเล็กเส้นน้อยเป็นหมื่นเป็นแสนเส้น ทังยังมีเศษไขเด็ก เศษขี้ไคล ขี้เทาไปอุดตันเต็มไปหมด คงเป็นการยากที่จะดูดน้ำคร่ำออกมาจากเส้นเลือดทีละเส้นจนหมด
หากรอดจากนาทีแรกๆ จะเสียชีวิตในชั่วโมงต่อไปด้วยเลือดไม่ยอมแข็งตัว ไหลจากแผลไม่หยุด และเกิดเลือดออกในสมอง หากรอดได้จะทำให้ส่วนหนึ่งเป็นอัมพาต หรือกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำอุดตัน
วงการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทราบว่าปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น การคลอดเร็ว มารดาอายุมาก เคยตั้งครรภ์แล้วหลายท้อง ทารกมีขนาดใหญ่ และการทำหัตถการต่างๆ เช่น ใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ การผ่าตัดคลอด รกเกาะต่ำและมีเลือดออก รกลอกตัวก่อนกำหนด ปากมดลูกฉีกขาดจากกระบวนการคลอด ทารกอยู่ในภาวะคับขัน ครรภ์เป็นพิษ การชักนำคลอดด้วยยาชนิดต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่มาจากทารกในครรภ์ เช่น เส้นผม ไขมันจากผิวหนังทารก หรือแม้แต่ขี้เทาของทารกในครรภ์ ทุกส่วนล้วนสามารถเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันได้ในทุกกรณี จึงกล่าวได้ว่าไม่สามารถทำนายและป้องกันได้
อ่านต่อ>> ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ป้องกันและรักษาอย่างไร คลิกหน้า 4
ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ป้องกันได้ไหม
แม้ภาวะนี้จะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่กลับเป็นสิ่งที่วิทยาการการแพทย์ปัจจุบันยังเอาชนะไม่ได้ แม้การฝากครรภ์อย่างดีและสม่ำเสมอ จะลดปัจจัยเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ทำให้โอกาสเกิดลดลง แต่การจะป้องกันให้ได้100% ยังทำไม่ได้
การรักษาภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด
หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นแพทย์จะต้องอาศัยความรวดเร็วในการวินิจฉัย การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของสูตินารีแพทย์และทีมงาน ทั้งนี้จะต้องมีเครื่องมือกู้ชีวิต ยาและเลือดที่พร้อมจะรักษาได้ทันท่วงที โดยเริ่มจากการให้ออกซิเจนอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะสมองและไตขาดเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อทารก การให้เลือดหรือเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันภาวะไม่แข็งตัวของเลือด การให้สารละลายเพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว การประเมินความดันโลหิต พร้อมให้น้ำและยาในปริมาณที่เหมาะสมหากในรายที่มีปอดบวมน้ำ ภาวะช็อกรุนแรงไม่สามารถประเมินสารน้ำในร่างกายได้
นอกจากนี้แพทย์จะต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดทันทีในรายที่มารดามีภาวะหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว และทารกมีอายุครรภ์มากพอที่จะเลี้ยงรอดได้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องกระทำภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของมารดาจากภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด สูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยจะเสียชีวิตในชั่วโมงแรกถึงร้อยละ 25 -50 ในรายที่พ้นจากระยะแรกไปแล้วจะเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัวถึงร้อยละ 40 ส่วนผู้ที่รอดชีวิตมักจะมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรงถึงร้อยละ 85 และมีเพียงร้อยละ 8 ของผู้รอดชีวิตที่สามารถรอดพ้นอันตรายโดยไม่มีความผิดปกติใดๆ ขณะที่ทารกที่รอดชีวิต ในรายที่หัวใจมารดาหยุดทำงานมีน้อยมาก และทารกที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็พบว่ามีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทเช่นกัน
แม้จะมีมาตรฐานการรักษาตามแนวทางราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์ ชัดเจน สูติแพทย์ทุกท่านเรียนรู้อย่างดียิ่ง และในมาตรฐานเหล่านั้นก็ระบุว่าโรคฉับพลันนี้ แม้ให้การรักษาเต็มที่แล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิต มีโอกาสรอดปกติเพียง 1 ใน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลดีที่สุด ในมืออาจารย์สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือพร้อม ก็ไม่อาจช่วยชีวิตแม่ได้ทันเหมือนกัน
ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด เป็นภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่แพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่มีใครอยากเจอเคสเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย คุณแม่อย่าวิตกกังวลไปล่วงหน้า การไปพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
ภาพหาชมยาก!! ทารกคลอดออกมาทั้งถุงน้ำคร่ำ (มีคลิป)
โฉมหน้า 15 โรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา, น.พ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์, นพ.สมพงษ์ วันหนุน หัวหน้ากลุ่มงานสูตินารีเวช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต