เจาะน้ำคร่ำ คัดกรองแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง! - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
เจาะน้ำคร่ำ

เจาะน้ำคร่ำ คัดกรองแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง!

event
เจาะน้ำคร่ำ
เจาะน้ำคร่ำ

วิธีการตรวจเจาะน้ำคร่ำ

  1. เจ้าหน้าที่พยาบาลให้คำปรึกษาและแนะนำขั้นตอนการตรวจให้เข้าใจก่อนตรวจ
  2. นอนบนเตียงตามสบาย เปิดเสื้อผ้าบริเวณท้องน้อยออก ไม่เกร็ง
  3. แพทย์จะทำการตรวจครรภ์โดยจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อคาดคะเนอายุครรภ์ที่แน่นอน จำนวนของทารก การเต้นของหัวใจ ท่าและตำแหน่งของทารก ตำแหน่งของรก ว่าอยู่ที่ตรงไหนเพื่อป้องกันไม่ให้เข็มแทงไปถูกทารก สายสะดือ หรือรก
  4. ก่อนเจาะแพทย์จะเตรียมผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะเจาะโดยทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดใต้ผิวหนัง
  5. แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ ยาวๆ เจาะผ่านผนังหน้าท้อง ผ่านลงไปที่มดลูก เข้าไปในถุงน้ำคร่ำแล้วดูดเอาน้ำคร่ำปริมาณ 15 -30 ml. (1ml. / อายุครรภ์ 1 สัปดาห์) ออกมานำไปปั่นหาเซลล์ของทารก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมต่อไป

การเจาะน้ำคร่ำใช้เวลาเพียง 2 –3 นาที คุณแม่สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล ภายใน 12 ชั่วโมงร่างกายจะสร้างน้ำคร่ำมาทดแทนได้เหมือนเดิม

การเจาะน้ำคร่ำอาจมีความรู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มแทงสัก 2 -3 วินาที แต่เมื่อเข็มแทงผ่านลงไปแล้วความรู้สึกนั้นก็จะหายไป ความกลัวเข็มและเกร็งหน้าท้องขณะทำจะทำให้เจ็บมากขึ้น คุณแม่บางท่านจะมีความรู้สึกเหมือนถูกกดบริเวณท้องน้อยขณะที่มีการดูดน้ำคร่ำออกไป หลังจากเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้วบางรายอาจรู้สึกเกร็งเล็กน้อย การนอนพักสักระยะจะทำให้ดีขึ้น ผลการตรวจจะทราบภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของเซลล์ และขั้นตอนในห้องปฏิบัติการ

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงของการเจาะน้ำคร่ำ

  • แม้ว่าการเจาะน้ำคร่ำจะเป็นการใช้เข็มเจาะเข้าไปในมดลูกเพื่อดูดน้ำคร่ำ แต่เป็นการเจาะที่ค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้แก่
  • การแท้งพบได้ประมาณ1ต่อ200-400 การแท้งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อหรือการที่มดลูกบีบตัวมาก
  • อาการปวดท้องของคุณแม่
  • รูที่เจาะมีน้ำรั่ว
  • คันตรงที่เจาะ

การปฏิบัติตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์หลังการเจาะน้ำคร่ำ

  • งดทำงานหนัก เช่น ยกของ ออกกำลังกาย หรือเดินทางไกล อย่างน้อย 3 วัน
  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • กรณีที่มีอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที

การแจ้งผลการตรวจ

ผลการตรวจจะเสร็จสิ้นภายใน 4 สัปดาห์  สูติแพทย์ จะนัดทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และคู่สมรสมาร่วมรับฟังผลการตรวจน้ำคร่ำ หากพบว่า ผลผิดปกติ คู่สมรสต้องตัดสินใจร่วมกันว่า จะยุติการตั้งครรภ์ครั้งนี้หรือไม่  หรือต้องการตั้งครรภ์ต่อ โดยสูติแพทย์ จะไม่ชี้นำให้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่สมรสเท่านั้น

เจาะน้ำคร่ำดีไหม ไม่มีใครตอบแทนคุณได้  ดังนั้นก่อนตัดสินใจ  ลองทบทวนเหตุและผลของเรื่องนี้เฉพาะกรณีของคุณ และผลของการตัดสินใจนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะใช่สิ่งที่ดีที่สุดหรือไม่  แต่ขอให้มั่นใจว่าหากคุณตัดสินใจบนพื้นฐานของสติและปัญญา  นั่นคือ “การลงทุนในเหตุ ปล่อยวางในผล”  ตัดสินใจอย่างไร  ก็ปล่อยวางเสีย อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นความเครียดนานจนทำลายเวลาสำคัญของคุณและลูก

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก

แม่ท้องต้องตรวจอะไรบ้าง? ตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึงการคลอดลูก

ดาวน์ซินโดรม รู้ล่วงหน้า..หยุดความเสี่ยงได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์

น้ำคร่ำน้อย อันตรายไหม


ขอบคุณข้อมูลจาก :   www.siamhealth.net

ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : DragonTonsai

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up