AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 สิ่งสุดว้าว! ทารกทำได้ในครรภ์แม่

ทารกในครรภ์ ทำอะไรบ้าง แม้ลูกน้อยในครรภ์เป็นทารกตัวนิดเดียวแต่ ทารกทำอะไรในท้อง ได้มากมาย ทั้งเรียนรู้ จดจำ และคิดอะไรมากกว่าที่เราเคยคิดไว้เยอะเลย เพราะสมอง ความจำ พัฒนาการต่างๆ กำลังทำงานแล้ว ฉะนั้นหากคุณแม่ต้องการจะพัฒนาสมองลูกน้อยให้ฉลาดเมื่อโตขึ้นล่ะก็ ควรเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์ค่ะ และนี่คือ 7 สิ่งสุดว้าวที่ ทารกทำได้ในครรภ์แม่

7 สิ่งสุดว้าว ทารกทำได้ในครรภ์แม่

“ลูกน้อยในท้อง เรียนรู้ จดจำ และคิดอะไรมากกว่าที่เราเคยคิดไว้เยอะ”

ใครจะไปคิดว่าเด็กตัวเล็กๆ ในท้องที่กำลังก่อร่างสร้างตัว จะสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆได้มากมาย ในสมัยก่อนบรรดาหมอๆ ต่างคิดว่า เด็กเกิดมาโดยไม่รู้จักโลกภายนอกเลย แต่งานวิจัยล่าสุดได้พบเบาะแสสำคัญที่บ่งชี้ว่า ลูกในท้องรู้อะไรมากกว่าที่เราเคยคิด และเริ่มเข้าใจแล้วว่า ลูกน้อยเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ และสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกครรภ์ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่สาม หรือบางทีอาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป มาดูกันว่าสิ่งที่ ทารกทำได้ในครรภ์แม่ มีอะไรบ้าง

1. หนูรู้ว่า …เสียงอะไรนะ

ในมดลูกของคุณแม่นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เงียบสนิทอย่างที่คิด ลูกน้อยจะได้ยินเสียงต่างๆ ในร่างกายของคุณแม่ อย่างเสียงท้องร้อง เสียงหัวใจเต้น เสียงเรอหรือสะอึก และยังได้ยินเสียงที่อยู่ไกลออกไปได้อีกด้วย เช่น เสียงเอฟเฟ็กต์ในโรงหนัง หรือเสียงก่อสร้างต่างๆ โดยลูกน้อยก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบเสียงดังนั้นด้วยการเตะ ถอง

แต่…ไม่ใช่ทุกเสียงที่จะเป็นเช่นนี้ มีอยู่เสียงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อลูกน้อยอย่างมาก นั่นก็คือ เสียงของแม่ เมื่ออายุครรภ์ราวๆ เจ็ดหรือแปดเดือน เมื่อไรก็ตามที่แม่พูด อัตราการเต้นของหัวใจของลูกจะเต้นช้าลงเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสียงของแม่มีผลทำให้ลูกสงบลงได้

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อคลอดแล้ว ลูกน้อยสามารถจดจำเสียงของแม่ของตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ลูกน้อยมีความพึงใจในเสียงของพ่อ พี่ หรือเสียงอื่นๆ ที่ได้ยินบ่อยๆ ขณะอยู่ในครรภ์เหมือนเสียงของแม่ อาจเป็นเพราะเสียงของคุณแม่แตกต่างจากเสียงอื่นๆ คือคุณแม่ใช้เสียงสื่อสารกับลูกได้ 2 วิธีคือ เสียงข้างนอกที่ทะลุผ่านหน้าท้อง และเสียงภายในที่เกิดจากการสั่นของเส้นเสียง อีกทั้งลูกน้อยยังชอบเสียงของคุณแม่ที่ใกล้เคียงกับเสียงที่เขาเคยได้ยินในท้องมากกว่าด้วย (เสียงอู้อี้และต่ำ)

2. หนูรู้..ภาษาแม่

จากการวิจัยพบว่า ทารกสามารถเรียนรู้ภาษาแม่ (Native Language) ได้ขณะอยู่ในครรภ์ และชอบจังหวะและเสียงสูงต่ำของประโยคมากกว่าเป็นคำเดี่ยวๆ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกตรงๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนภาษา เพราะลูกน้อยสามารถเรียนรู้ได้เพียงแค่ฟังคุณแม่คุยอยู่กับคนอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถเลือกจดจำบางอย่างจากหนังสือที่แม่อ่านให้ฟังได้ด้วย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม ทารกทำอะไรได้บ้างตอนอยู่ในท้อง คลิกต่อหน้า 2

3. ตาหนูมองเห็นแสง

ดวงตาของลูกน้อยพัฒนาเป็นรูปร่างมาตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่ง แต่ยังคงหลับตาอยู่จนอายุครรภ์จะย่างเข้าเดือนที่เจ็ดหรือแปด ลูกจึงสามารถมองเห็นได้ แต่เห็นได้เล็กน้อยเท่านั้น มีรายงานจากแพทย์ว่า หากลองส่องไฟจ้าๆ ไปที่มดลูก เด็กจะหันหน้าหนีแสงนั้น และคาดว่าเด็กอาจจะสามารถมองเห็นเป็นแสงจางๆ ได้ นอกจากนี้จากการอัลตร้าซาวด์พบว่า เด็กจะลืมตาและหลับตาบ่อยมากๆ เมื่อใกล้คลอด ซึ่งถือเป็นการฝึกกะพริบตาและการมองเพื่อเตรียมตัวเมื่ออกไปสู่โลกภายนอก

4. หนูแยกแยะรสชาติได้

ตุ่มรับรู้รสของลูกน้อยในครรภ์จะพัฒนาชัดเจนในช่วงเดือนที่เจ็ดหรือแปด แต่ก็มีข้อมูลบางอย่างบ่งชี้ว่า ลูกน้อยสามารถรู้รสขม หวาน และเปรี้ยว ในน้ำคร่ำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมักสำรวจรอบๆ มดลูกด้วยการชิม ซึ่งจากการอัลตร้าซาวด์พบว่า ทารกมีการเลียรกและผนังมดลูกด้วย

นอกจากนี้ รสชาติและกลิ่นของอาหารที่แม่กินเข้าไประหว่างตั้งครรภ์ อาจจะมีผลต่อความชื่นชอบในรสชาติอาหารของลูกหลังคลอดได้ ดร.จูลี่ เมนเนลล่า นักจิตชีววิทยา จาก Monell Chemical Senses Center เมืองฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า “ยิ่งคุณแม่กินอาหารหลากหลายมากเท่าไร ทั้งระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมลูก ยิ่งมีแนวโน้มช่วยให้ลูกยอมรับอาหารใหม่ๆ ได้มากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าทารกเรียนรู้และยอมรับรสชาติอันหลากหลายผ่านน้ำนมของแม่นั่นเอง”

5. หนูจำกลิ่นแม่ได้นะ

ทารกในครรภ์ไม่เพียงแต่จะรับรู้รสชาติได้เท่านั้น แต่ยังได้กลิ่นด้วย เช่น เมื่อคุณแม่กินอาหารที่มีสมุนไพรหรือเครื่องเทศ น้ำคร่ำก็จะมีกลิ่นเดียวกัน ลูกน้อยที่ต้องกลืนและหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าออกจึงได้กลิ่นไปด้วย บรรดาคุณหมอตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้ว ทารกอาจไม่เพียงแต่ได้กลิ่นอาหารเท่านั้น แต่อาจได้กลิ่นของคุณแม่เองด้วย

ดังนั้นเด็กแรกเกิดจึงอาจจดจำแม่ของตัวเองได้ด้วยกลิ่น “ในช่วงสองสามชั่วโมงหลังคลอด ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นของทารกอาจสำคัญมากกว่าเรื่องการมองเห็น เพราะกลิ่นเป็นตัวช่วยระบุตัวคุณแม่ได้” ดร.เมนเนลล่ากล่าว และจากการศึกษายังพบด้วยว่า หากคุณแม่ทำความสะอาดเต้านมข้างใดข้างหนึ่งทันทีหลังคลอด ทารกมักจะเลือกดูดนมจากเต้านมที่ไม่ได้ล้างมากกว่า (นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคุณหมอบางคนจึงแนะนำให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดไม่ต้องอาบน้ำจนกว่าจะให้ลูกกินนมมื้อแรกเสร็จ เพื่อปล่อยให้กลิ่นธรรมชาติช่วยให้นมลูกได้สำเร็จนั่นเอง)

6. หนูเริ่มจะฝัน

จากการทดสอบด้วยอัลตร้าซาวด์ ค้นพบข้อมูลบางอย่างว่าทารกในครรภ์อายุ 32-36 สัปดาห์ มีการหลับแบบกลอกตาแบบรวดเร็ว (Rapid Eye Movement – REM) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝัน นอกจากนี้ วงจรการนอนหลับของทารกในครรภ์ในไตรมาสที่สามนี้ ก็มีความใกล้เคียงกับเด็กแรกเกิด คือ ใช้เวลาหลับในช่วง REM มาก แต่ก็มีช่วงหลับลึกหรืออยู่ช่วงนิ่งสงบด้วย ซึ่งดวงตาจะไม่มีเคลื่อนไหว นักวิจัยจึงยังคงเฝ้าสังเกตการหลับของทารกในครรภ์ในช่วงที่นิ่งสงบ และสันนิษฐานว่าทารกอาจจะกำลังมีสมาธิกับบางสิ่งอยู่ อย่างการฟังแม่คุยอยู่ก็เป็นได้ สรุปแล้วจึงยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าทารกฝันจริงๆ หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจวัดคลื่นสมองได้ แต่คุณหมอหลายคนก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากทีเดียว

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม ลูกน้อยเล่นอะไรตอนอยู่ในท้อง? คลิกต่อหน้า 3

7. ลูกน้อยเล่นสนุกตั้งแต่ในท้อง

ลูกน้อยมีความกระตือรือร้นที่จะสำรวจอะไรก็ตามที่คว้ามาได้ในมือ แต่ความสนุกเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนจะคลอดเสียอีก ในสัปดาห์ที่ 20 ลูกน้อยในครรภ์มีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว (จากการอัลตร้าซาวด์พบว่า เด็กบางคนพยายามคว้าเข็มสำหรับเจาะน้ำคร่ำ ขณะที่สอดเข้าไปในมดลูก) พอเข้าสู่ไตรมาสที่สาม ก็จะรู้จักสร้างความสนุกให้ตัวเองด้วยการดูดมือและนิ้ว (โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ) เดินไปรอบๆ ด้วยการใช้เท้าดันผนังมดลูก กระชาก ดึง และแกว่งสายสะดือ รวมถึงการฝึกการหายใจ

การเล่นซุกซนนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเมื่อลูกเกิด การดูดไม่เพียงแต่ช่วยนำอาหารเข้าร่างกาย แต่ยังช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายอกสบายใจ และการสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยปากจะช่วยปูทางให้ลูกน้อยรู้จักสำรวจสิ่งต่างๆ ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวกระบังลมขึ้นลงและหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอดแทนอ๊อกซิเจน ก็ถือเป็นการเตรียมตัวฝึกการหายใจด้วยเช่นกัน

คุณหมอหลายคนเชื่อว่าการถีบผนังมดลูกจะช่วยลูกน้อยพัฒนาความสามารถในการเอื้อมจับเต้านมของแม่ คือเมื่อนำเด็กแรกเกิดมาวางไว้บนหน้าท้องของแม่ สัญชาตญาณพื้นฐานคือ การถีบเตะ ในชั่วโมงแรกของชีวิต ลูกน้อยจะผลักตัวเองให้ไปถึงเต้านมของแม่ โดยมีกลิ่นของแม่เป็นตัวนำทาง ซึ่งตรงกับการวิจัยของนายแพทย์มาร์แชลล์ คลอส ผู้เขียนเรื่อง Your Amazing Newborn

ดังนั้น นายแพทย์คลอสและนักวิจัยเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดทั้งหลาย จึงพยายามกระตุ้นให้โรงพยาบาลเปลี่ยนขั้นตอนการดูแลเด็กแรกเกิดคือ แทนที่จะจับเด็กมาชั่งน้ำหนักและอาบน้ำทันทีหลังคลอด แต่ให้อุ้มเด็กมาวางไว้ที่อกแม่แทนหลังจากทำคลอดเสร็จ และรออีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงจึงค่อยทำตามขั้นตอนอื่นๆต่อไป

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ลูกน้อยไม่เพียงแค่รออยู่ในท้องเพื่อรอวันคลอดเพียงอย่างเดียว แต่เขากำลังสร้างทักษะความสามารถที่สำคัญต่างๆ และถักทอสายใยความผูกพันให้กับคนที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตของเขา นั่นก็คือ “คุณแม่” นั่นเอง

อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก

ลูกดิ้น หรือทำอะไรบ้าง ตอนอยู่ในท้องแม่? (มีคลิป)

12 วิธีเพิ่ม IQ ให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง

ใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจ แต่ไม่ได้ยินเสียงลูกในท้อง ต้องกังวลไหม?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids