AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3 โรคยอดฮิต ของแม่ท้อง

3 โรคยอดฮิต ของแม่ท้อง อันดับโรคยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้อง ไม่ควรตามเทรนด์ การตั้งครรภ์ปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ปัจจุบันผู้หญิงไทยแต่งงานช้า ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก พฤติกรรมการบริโภคไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยอื่น จึงทำให้เกิดโรคและมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองป่วย แต่ยังส่งผลถึงลูกในครรภ์ด้วย มาดูกันดีกว่าว่า อันดับโรคยอดฮิตที่มักเกิดกับแม่ท้องมีอะไรบ้าง

3 โรคยอดฮิต ของแม่ท้อง

 

 

อันดับ 3 โรคโลหิตจาง

โรคโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์คือ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งคุณแม่ท้องนั้นต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไป เพราะร่างกายของแม่ต้องนำมาสร้างรก ทารก และสร้างเลือดให้แม่ใช้ ดังนั้น จึงอาจเกิดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ในขณะที่ตั้งครรภ์

ทำไมจึงเสี่ยง

โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหมายถึง ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงน้อยจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งจะมีผลต่อการตั้งครรภ์หลายอย่าง ได้แก่ เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด ลูกในครรภ์น้ำหนักน้อย ลูกในครรภ์เป็นโลหิตจาง แต่หากโลหิตจางมากๆ อาจทำให้น้ำคร่ำน้อยจนทำให้ลูกในครรภ์เสียชีวิต หรืออาจตกเลือดจนแม่เสียชีวิตระหว่างคลอดได้


เกิดขึ้นได้อย่างไร

โดยปกติคุณแม่ท้องต้องการธาตุเหล็กตลอดการตั้งครรภ์จำนวน 1,000 มิลลิกรัม โดย 300 มิลลิกรัมนำไปสร้างรกและทารก 500 มิลลิกรัมไปเพิ่มโลหิตให้แม่ และที่เหลืออีก 200 มิลลิกรัมจะถูกขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ นอกจากนี้ ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสูญเสียธาตุเหล็กจากสาเหตุอื่นได้อีก ได้แก่

  1. เสียเลือด จากการบาดเจ็บ ริดสีดวงทวาร แผลในทางเดินอาหาร เป็นต้น
  2. การดูดซึมยาเสริมธาตุเหล็กไม่ดีพอ เนื่องจากอาหารที่รับประทานคู่กัน เช่น ชา กาแฟ ผัก ผลไม้ นม โปรตีน ยาลดกรด เป็นต้น ซึ่งธาตุเหล็กจะดูดซึมได้ดีก็ต่อเมื่อรับประทานคู่กับอาหารที่เป็นกรด ดังนั้นจึงมักแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็กกับน้ำส้มคั้น หรือวิตามินซี 250 มิลลิกรัม
  3. การคลื่นไส้อาเจียน ก็ทำให้สูญเสียธาตุเหล็กได้เช่นกัน


ทำอย่างไรไม่ให้เป็นโลหิตจาง

เมื่อตั้งครรภ์การได้รับธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหารปกติเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้นคุณแม่ท้องจึงต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม  โดยกินธาตุเหล็กวันละ 150-200 มิลลิกรัมของธาตุเหล็กที่สามารถดูดซึมได้ ตามคำแนะนำของแพทย์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม 3 โรคยอดฮิตของแม่ท้อง คลิกต่อหน้า 2

 

อันดับ 2 โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

โรคเบาหวานโดยมากเกิดจากพันธุกรรมร่วมกับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป น้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นต้น สำหรับคุณแม่ เบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์แม้จะไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนก็ตาม

ทำไมจึงเป็นเบาหวาน และใครเสี่ยงเป็นบ้าง

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดที่สร้างจากรก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้อินซูลินไม่เพียงพอ ยิ่งคุณแม่ท่านใดชอบรับประทานรสหวาน อ้วน มีไขมันสะสมที่หน้าท้องมากเกินอยู่แล้ว ยิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมากยิ่งขึ้น นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจช่วยเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน

โดยปกติจะมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว และมักจะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ แต่หากมีความเสี่ยงเป็นโรคสูง ก็จะตรวจทันทีที่ฝากครรภ์

ผลกระทบของเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ 

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่

เบาหวานเต็มขั้น (Overt diabetes) ผลกระทบต่อแม่ เช่น ครรภ์เป็นพิษ แฝดน้ำ บาดเจ็บจากการคลอด ผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เช่น ทารกพิการ คลอดก่อนกำหนด คลอดยากเพราะตัวโต ปอดไม่พัฒนา ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด

เบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เนื่องจากค่าน้ำตาลไม่ได้สูงก่อนตั้งครรภ์ โอกาสเกิดทารกพิการหรือภาวะแทรกซ้อนน้อยพอๆ กับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ผลกระทบอื่นๆ ยังมีอยู่เช่นเดียวกับเบาหวานเต็มขั้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม 3 โรคยอดฮิตของแม่ท้อง คลิกต่อหน้า 3

 

อันดับ 1 ความดันโลหิตสูง

เหตุที่โรคนี้ได้อันดับที่หนึ่งเพราะว่าคนไทยเป็นโรคนี้กันมากถึง 10 ล้านคน และใน 10 ล้านคน มีถึงร้อยละ 90 ที่เป็นความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนที่เหลือเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้ว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน และอื่นๆ  โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์จึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการตายของมารดา ติดอันดับ 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก

เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงทุกคนหรือไม่

การเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และเชื่อว่าเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนหรือเกิดการหดรัดตัวของเส้นเลือด ซึ่งทุกคนมีอาจโอกาสเป็นหรือไม่เป็นได้เท่ากันหมด ยกเว้นกรณีที่คุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยหรือมากเกินไป ตั้งครรภ์ท้องแรก ตั้งครรภ์แฝด มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโรคประจำตัวอื่นหรือเป็นโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก.ต่อตารางเมตร ทารกบวมน้ำ เป็นต้น

อันตรายจากโรคความดันโลหิตสูงมีอะไรบ้าง

  1. หากความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้ ก็อาจเกิดเส้นเลือดในสมองของแม่แตก หัวใจล้มเหลว ไตวาย เป็นต้น
  2. เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษเข้าแทรก ซึ่งหากเป็นรุนแรงก็จะมีอันตรายต่อแม่และเด็ก
  3. ทารกคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า

แต่หากคุณแม่ควบคุมความดันได้ดี ความเสี่ยงและอันตรายต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการของตัวเองว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการบวมที่มือ ใบหน้ามาก ตาพร่ามัว อาเจียน ปวดหัวมาก ปวดหัวนาน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ปวดท้องเกร็ง และมีเลือดออกในช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

กินยาความดันโลหิตสูงอันตรายต่อลูกไหมนะ

หากขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควบคุมความดันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดความดัน แต่หากความดันโลหิตสูงเกิน 150/100 มิลลิเมตรปรอท ควรต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งยาที่ปลอดภัยต่อทารก และนิยมเลือกใช้มี 3 จำพวก ได้แก่ เมทิลโดปา (Methyldopa) ลาเบทาลอล (Labetalol) และแคลเซียม แชนเนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) ส่วนยาที่ห้ามใช้ ได้แก่ เอซ อินฮิบิเตอร์ส (ACE inhibitors) แอนจิโอเทนซิน รีเซ็ปเตอร์ แอนต้าโกนิสต์ส (Angiotensin receptor antagonists) และ ไดเร็กต์ เรนิน อินฮิบิเตอร์ส (Direct renin inhibitors)

ได้เวลาดูแลตัวเอง

การฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดเสมอจะช่วยบรรเทาอันตรายจากการเกิดโรคได้ดี นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และไขมันต่ำเป็นประจำ เพราะมีงานวิจัยพบว่า อาหารเหล่านี้ช่วยลดความดันโลหิตได้บ้าง งดอาหารรสเค็มจัด หวานจัด ไขมันสูง ที่สำคัญคือต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ สุดท้ายแล้วหากคุณแม่ดูแลตัวเองได้ดี ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปได้เท่ากับคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติเลยทีเดียว

คงไม่มีใครอยากติดอันดับเป็นผู้นำเทรนด์โรคทั้ง 3 โรคที่กล่าวมาอย่างแน่นอน ดังนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและใจให้สมดุลกันนะคะ แต่หากใครเสี่ยงเป็น โรคยอดฮิต ของแม่ท้อง เสียแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะการใส่ใจดูแลอย่างดีก็ช่วยให้การตั้งครรภ์สมบูรณ์ปลอดภัยได้ไม่ต่างกับการตั้งครรภ์ปกติเลยค่ะ

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

2 เรื่องสำคัญ แม่ท้องต้องทำ เพื่อให้ลูกเกิดมาครบ 32 และมีสมองดี

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ สัญญาณอันตราย บอกอะไร ?

6 อาหาร ช่วยแม่ท้องเร่งคลอดแบบธรรมชาติ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids