AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวม 12 อุบัติเหตุที่แม่ท้อง ต้องระวัง!

ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น อุบัติเหตุ แม่ท้อง มักเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรมีการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้การดูแลรักษาคุณแม่ท้องที่ได้รับอุบัติเหตุจะแตกต่างจากคนปกติ เพราะการดูแลต้องคิดถึงทารกในครรภ์อีก 1 ชีวิตด้วย

การตั้งครรภ์ จะทำให้สรีรวิทยาและกายวิภาคของคุณแม่ท้องเปลี่ยนแปลง จนอาจทำให้อาการที่แสดงเปลี่ยนไปในขณะได้รับอุบัติเหตุ จนบาดเจ็บ ทั้งนี้การตรวจรักษาและดูแลจึงแตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ เพราะคุณหมอต้องคิดถึง 2 ชีวิตคือ คุณแม่ท้องเองและเด็กน้อยในครรภ์

12 อุบัติเหตุ แม่ท้อง ต้องระวัง!

ทั้งนี้การดูแลลูกน้อยในครรภ์ที่ดีคือ ต้องให้การรักษาแก่คุณแม่เสียก่อนและรีบให้ความช่วยเหลือเด็กในครรภ์เป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้การเกิดอุบัติเหตุ แม่ท้อง แบบเล็กๆน้อยๆ เช่น ท้องชนโต๊ะ ชนประตู หกล้ม ก็อาจจะส่งผลร้ายต่อลูกในครรภ์ได้ จึงจำเป็นที่คุณแม่ท้องควรรู้ว่าจะมีอุบัติเหตุ อะไรที่สามารถเกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องได้บ้าง และต้องรับมืออย่างไร ตามมาดูกันเลยค่ะ

1. อุบัติเหตุ แม่ท้อง ตกบันได

เมื่อตั้งครรภ์ท้องที่ใหญ่ขึ้น อาจทำให้คุณแม่เดินเหินลำบาก เนื่องจากคุณแม่จะต้องเกร็งขาและเกร็งหน้าท้องเพื่อพยายามทรงตัวให้เดินได้ดี อาการเหล่านี้จะเป็นผลทำให้คุณแม่ปวดขา ปวดหลัง ซึ่งส่งผลเสียกับสุขภาพค่ะ ทั้งหากคุณแม่ก้าวขาพลาดขั้นบันไดหนึ่งไป ก็อาจทำให้เสียการทรงตัวได้ จนอาจทำให้พลัดตกจากบันได จึงจำเป็นที่คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดชั้นสูงๆ หรือบันไดชันๆ

2. อุบัติเหตุ จากแม่ท้อง ยกของหนัก หรือ ปีนป่ายที่สูง

เรื่องนี้คุณแม่ท้องอาจคาดไม่ถึง โดยเฉพาะคุณแม่ท้องอ่อน หรือคุณแม่ใกล้คลอด เพราะในขณะที่คุณแม่ท้องยกของที่มีน้ำหนักมาก อุบัติเหตุ แม่ท้อง จากการยกของหนัก ทีสามารถเกิดขึ้นได้คือแรงดันหรือพลังที่ใช้ยกของจะไปอยู่ที่มดลูกเพราะเป็นจุดศูนย์กลางแรงดัน ขณะยกของจึงมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการแท้งบุตรได้ ทั้งนี้การปีนป่ายที่สูงก็เช่นกัน อาจทำให้แม่ท้องพลาดเสียการทรงตัวทำให้ล้มกระแทกได้เช่นกัน

Must read : อุทาหรณ์!! แม่ตั้งครรภ์(อ่อน) ยกของหนักแล้วลูกหลุด

Good Things to Know : ในส่วนของการออกกำลังกาย ถ้าคุณไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด มีโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ฯลฯ การออกกำลังเป็นเรื่อง “ควรทำ” สำหรับแม่ท้อง (แต่ก็ควรปรึกษาสูติแพทย์ประจำก่อน) ควรออกกำลังกายแต่พอเหมาะไตรมาสแรกหากหักโหมและผาดโผนมากเกิดแรงสั่นสะเทือนสูง ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตรได้ สำหรับไตรมาสที่ 2  –  3  ออกกำลังกายหักโหม ร่างกายแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนไม่ทัน ทำให้ทารกเกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้เช่นกัน

อ่านต่อ >> อุบัติเหตุ ที่แม่ท้อง ต้องระวัง!” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. อุบัติเหตุ แม่ท้องเดินชนโต๊ะ

จากเดิมที่หน้าท้องเคยแบนราบ แต่เมื่อตั้งครรภ์ ด้วยท้องที่โตขึ้นในแต่ละเดือน พร้อมกับความที่ยังไม่เคยชิน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะทำให้การกะระยะสิ่งของกับขนาดของท้องที่ยื่นออกไปผิดพลาดได้ จึงอาจจะเห็นคุณแม่ท้องเดินชนของประจำเพราะความไม่เคยชินนั่นเอง จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่แม่ท้องต้องกะระยะความห่างให้เกินไว้ก่อนเพื่อเว้นพื้นที่ไว้ให้ท้องที่ขยายใหญ่ด้วยทุกครั้งเมื่อจะเดินผ่านสิ่งของต่างๆ

4. อุบัติเหตุ แม่ท้อง สะดุดล้ม

ด้วยลักษณะท้องที่ใหญ่โย้วออกมาอาจทำให้บดบังวิทัศน์ทางเดินของคุณแม่ท้องได้ จากโต๊ะเก้าอี้ หรือของก็วางอยู่ที่เดิม แต่เท้าของคุณแม่ก็อาจพานไปเตะเข้าจนได้ อุบัติเหตุ แม่ท้อง จากการเดินสะดุดล้มจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งนี้การลื่นล้มเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถส่งผลอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ได้ เพราะธรรมชาติได้สร้างสิ่งวิเศษที่สุดที่คอยช่วยปกป้องทารกให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุเล็กน้อยต่าง ๆ ไว้ให้แล้ว และสิ่งวิเศษที่ว่าก็คือ ผนังท้องและไขมันที่หนา กระดูกเชิงกราน และถุงน้ำคร่ำที่มีของเหลวคอยห่อหุ้มทารกอยู่นั่นเอง

ทั้งนี้สำหรับเรื่องเกราะป้องกันลูกน้อยในครรภ์จากการกระทบกระเทือนเล็กน้อย นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์ สูตินรี โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้กล่าวถึงมีโครงสร้างในการปกป้องไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ง่ายๆ ซึ่งคุณแม่ควรทราบก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นกังวลมาก เพราะก่อนที่จะมีอะไรไปกระทบกระเทือนกับลูกในท้องนั้น ก็ต้องฝ่าด่านระบบป้องกันภัยถึง 5 ชั้น ตามมาดูกันค่ะว่าคุณแม่ท้องมีอะไรไว้ป้องกันให้ลูกน้อยในครรภ์บ้าง

  1. เมื่อท้องร่างกายของคุณแม่ก็จะมีการสะสมไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะที่ก้นกับที่สะโพก ยิ่งท้องโตก้นก็ยิ่งใหญ่ ตรงนี้เขาเรียกว่า กันชน หรือ Bumper ก้นที่ใหญ่หนานุ่มของคุณแม่ก็จะรับแรงกระแทกกระเทือนได้มากขึ้น แรงกระแทกกระเทือนเล็กๆน้อยๆก็จะได้ไม่กระเทือนไปสู่ลูกในท้องได้มากนัก แต่ถ้าหนักๆ เช่นตกจากที่สูงก็รับไม่ไหวเหมือนกัน
  2. ช่วงที่ยังท้องอ่อนๆ ซึ่งจะมีอัตราการแท้งได้สูง มดลูกก็จะจมอยู่ในอุ้งเชิงกราน มีกระดูกเชิงกรานใหญ่แข็งแรงโอบอุ้มเป็นเกราะป้องกัน หากโชคไม่ดีมีอุบัติเหตุหนักๆ มดลูกก็ไม่ค่อยได้รับอันตรายเท่าไหร่ เพราะมีกระดูกเชิงกรานคอยป้องกันไว้ แต่ถ้าหนักๆ ถึงกระดูกเชิงกรานแตกหักก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะถ้าถึงขนาดนั้น บางทีแม่ก็มักไม่รอดเหมือนกัน ทั้งนี้กระดูกเชิงกรานของผู้หญิงเราก็จะเป็นปีกโอบไปทางด้านหลัง ด้านหน้าเปิดโล่งๆ ให้มดลูกขยายออกไปทางด้านหน้าได้ ดังนั้นกระดูกเชิงกรานก็จะปกป้องทางด้านหลังได้ดีกว่าทางด้านหน้า เพราะคนเราถ้าล้มไปข้างหลังก็ไม่ค่อยได้เอามือเอาเข่าช่วยยันไว้ได้ ส่วนท้องที่ยื่นไปข้างหน้าก็จะถูกปกป้องด้วยสัญชาติญาณ ไม่มีใครที่ล้มไปข้างหน้าลงไปทั้งแท่งโดยที่ไม่เอามือเอาเข่ายันไว้ ดังนั้นก็มีโอกาสน้อยมากที่หกล้มไปข้างหน้าแล้วท้องจะกระแทกพื้น
  3. มดลูกของผู้หญิงเราจะมีปากมดลูกติดอยู่กับส่วนปลายของช่องคลอด ส่วนตัวมดลูกเองก็จะลอยขึ้นไปในช่องท้อง โดยจะมีปีกมดลูกสองข้างคอยดึงรั้งมดลูกให้ตั้งตรงอยู่ตรงกลาง ดังนั้นมดลูกก็เหมือนลูกตุ้มที่แกว่งไปมาในช่องท้องได้ ถ้าคุณแม่เกิดซุ่มซ่ามเดินชนเสาไฟฟ้าโป้งเข้าให้ มดลูกก็จะไม่ได้รับแรงกระแทกกระเทือนเต็มๆ เพราะมันจะแกว่งตัวโยกเยกไปมาเพื่อดูดซับแรงสะเทือนได้เยอะ ลูกคงไม่รู้สึกเหมือนวิ่งไปชนเสาไฟฟ้าเหมือนแม่แน่นอน
  4. มดลูกของผู้หญิงก็จะอยู่ลึกลงไปในท้องน้อย แต่ก็ไม่ได้ลอยแคว้งคว้าง เพราะรอบๆตัวมันก็ยังมีอวัยวะต่างๆอยู่ใกล้เยอะแยะ ที่สำคัญก็คือมีลำไส้ขดเล็กขดน้อยอยู่ล้อมรอบเต็มไปหมด ในลำไส้ก็จะมีน้ำ มีอาหารเละๆ มีแก๊สอยู่ข้างใน  มันก็เหมือนเราเอาเครื่องแก้วใส่กล่องแล้วเอาโฟมเป็นหลอดๆใส่เอาไว้ล้อมรอบ เวลาคุณแม่เกิดโดนอะไรกระแทกที่ท้อง แรงกระแทกนั้นก็จะไม่สะเทือนไปถึงมดลูกตรงๆ แต่จะไปเจอลำไส้เล็กลำไส้น้อยรอบๆก่อน แก๊สกับน้ำในลำไส้ก็จะทำหน้าที่เหมือนถุงลมนิรภัยคอยดูดซับแรงกระแทกไปได้เยอะทีเดียว
  5. ปราการด่านสุดท้ายก็คือถุงน้ำคร่ำในมดลูกที่ห่อหุ้มลูกอยู่นั่นเอง ลูกน้อยในครรภ์จะลอยอยู่ในน้ำอย่างอิสระ เวลามีการสั่นสะเทือนเล็กๆน้อยๆก็จะทำให้เด็กไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากนัก อย่างเวลาเราขับรถวิ่งผ่านลูกระนาดบนถนน รถสั่น แม่นั่งตัวสั่น มดลูกแม่ก็สั่น แต่ลูกลอยอยู่ในน้ำ อาจจะสั่นสะเทือนเหมือนกัน แต่ก็ไม่มากการที่เด็กลอยอยู่ในน้ำก็ดีในแง่ลดการสั่นสะเทือนเล็กๆได้ดี  แต่ก็ไม่เหมาะกับการสะเทือนเยอะๆ ทั้งนี้ถุงน้ำคร่ำนอกจากช่วยดูดซับการสั่นสะเทือนได้บ้างแล้ว ยังช่วยป้องกันการกดทับโดนตัวเด็กด้วย น้ำในถุงน้ำคร่ำจะช่วยให้มดลูกทรงรูปอยู่ได้ นอนทับด้านนี้ น้ำคร่ำก็จะโป่งออกไปทางด้านโน้น  ปริมาตร หรือพื้นที่ภายในมดลูกก็จะคงที่ตลอด ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่านอนไปนอนมาจะนอนทับแขนขาลูกหัก

ขอบคุณข้อมูลอ้าอิงจากเพจ นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์

อ่านต่อ >> อุบัติเหตุ ที่แม่ท้อง ต้องระวัง!” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5. อุบัติเหตุ แม่ท้อง ครรภ์กระแทกกับพวงมาลัยรถยนต์

สำหรับคุณแม่ท้องที่ต้องที่ขับรถเอง แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ก็อาจจะมีบ้างที่เมื่อรถเบรกกะทันหันหรือรุนแรง จนทำให้ท้องที่มีขนาดใหญ่ของคุณแม่อาจจะกระแทกกับพวงมาลัยได้

ซึ่งหากกระแทกในระดับเบาๆ ก็อาจจะไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่ถ้ากระแทกบ่อยๆ หรือรุนแรงก็ย่อมเกิดอันตรายกับทั้งตัวคุณแม่และลูกในท้องได้

6. อุบัติเหตุ แม่ท้อง ถูกเข็มขัดนิรภัยรัดท้อง

การโดยสารรถยนต์ คุณแม่ท้องควรนั่งบริเวณเบาะด้านหน้า ข้างคนขับ โดยปรับเลื่อนพนักพิงไปด้านหลังให้มากที่สุดในลักษณะกึ่งเอนนอน พร้อมใช้หมอนหนุนหลังและรองคอเพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้า ทั้งนี้ควรคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่เดินทาง เพราะหากคุณแม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังได้รับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ด้วย

Must read : วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยคนท้อง ที่ถูกต้องและปลอดภัย

โดยวิธีคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้อง คือคาดแนวทแยงผ่านร่องอกไปตามแนวโค้งของท้อง ปรับสายเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ ไม่บิดหรือเป็นเกลียว เพื่อป้องกันแรงกระชากทำให้เกิดอันตรายได้ แนวนอนอยู่บริเวณใต้ท้อง เหนือต้นขา และกระดูกเชิงกราน รวมถึงใช้หมอนใบเล็กรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง แล้วจึงคาดเข็มขัดนิรภัย

7. อุบัติเหตุ แม่ท้อง ที่นั่งมอเตอร์ไซด์หรือขับรถตกหลุมแล้วเกิดการกระแทก

หากคุณแม่แม่ท้องจำเป้นต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ หรือขับรถเอง การตกหลุมหรือการกระแทกกระทั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงปกติแล้วร่างกายจะมีการป้องกันตามธรรมชาติดังที่กล่าวมาในข้อ 4 คือเหมือนมีน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่เป็นแอร์แบ็คชั้นดี ช่วยลดแรงกระทบกระเทือนจากภายนอกลงได้บ้าง แต่หากได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ตกหลุมลึกและตกแรง ก็อันตรายไม่น้อย

8. อุบัติเหตุ แม่ท้องลื่นล้มในห้องน้ำ

หากไม่ได้ตั้งท้องแล้วกำลังจะลื่นในห้องน้ำคุณผู้หญิงก็ยังสามารคงตัวได้ แต่เมื่อตั้งท้องแล้วต้องระวังเป็นพิเศษเพราะหากเกิดการลื่นอาจทำให้เสียการทรงตัวจนทำให้ล้มท้องกระแทกกับสิ่งของ หรือง่ายหลังก้นกระแทกพื้นจนเกิดการเจ็บปวดกล้ามเนื้อได้

ทางที่ดีคืออุบัติเหตุ แม่ท้อง ลื่นล้มในห้องน้ำ จะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณแม่หลีกเลี่ยงเดินบริเวณที่มีน้ำขัง และมีพื้นผิวที่ลื่นเปียก ไม่ว่าจะเป็นในครัวหรือห้องน้ำ หากจำเป็นต้องเข้าไปจริง ๆ ควรระมัดระวังให้มาก เพราะอาจจะมีคราบน้ำมัน หรือคราบสบู่ ยาสระผม ครีมอาบน้ำหลงเหลืออยู่ที่พื้นก็เป็นได้

9. อุบัติเหตุ แม่ท้องตกจากส้นรองเท้า ทั้งส้นสูงและส้นเตี้ย

รองเท้าที่เรียวบางและสูง คงไม่สามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ จึงอาจจะทำให้คุณแม่เท้าพลิกหรือตกส้นรองเท้า จนเกิดบาดเจ็บขึ้นได้ ทั้งนี้การที่คุณแม่ตั้งครรภ์สวมรองเท้าส้นสูง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา เอว และหลัง เกิดความตึงเตรียด และเกิดอาการปวดตามมา นอกจากนั้นยังพบว่า รองเท้าส้นสูงทำให้จุดศูนย์ถ่วงของแม่ตั้งครรภ์เสียสมดุลอาจทำให้ลื่นล้มแท้งบุตรได้

ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็คือ รองเท้าที่ดีของคนท้องต้อง “เตี้ย+แบน+นิ่ม” รองเท้าต้องส้นเตี้ยๆ ส้นยิ่งสูงเท่าไหร่ตัวเราก็ยิ่งแอ่นไปข้างหน้าเท่านั้น นอกจากยิ่งทำให้ปวดหลังแล้วก็ยิ่งทำให้หกล้มหน้าคว่ำได้ง่ายอีกด้วย ทั้งนี้รองเท้าที่ดีก็ต้องยึดเกาะถนนดีด้วย ควรมีพื้นเหมือนรองเท้ากีฬา มีร่องมีลายที่กันลื่นได้ดี

 

อ่านต่อ >> อุบัติเหตุ ที่แม่ท้อง ต้องระวัง!” คลิกหน้า 4

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

10. อุบัติเหตุ แม่ท้องโดนชน หรือถูกกระแทก

เพราะคุณแม่ท้อง หรือผู้หญิงอย่างเราๆ ก็ต้องออกเดินทางไปนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ซื้อของที่ตลาด หรือเดินเที่ยวเล่น ซึงจะห้ามไม่ให้คุณแม่เดินไปไหนมาไหนเลยคงยาก และยิ่งคุณแม่ท้องที่ทำงานไปด้วยแล้วก็อาจจะยิ่งยากต่อการที่จะเลี่ยงจากแหล่งชุมชน คนพลุกพล่าน ซึ่งนั้นอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม่ท้อง มีโอกาสที่จะโดนกระแทกหรือชนขณะที่เดินสวนกับคนอื่นมากขึ้น เพราะด้วยท้องที่ใหญ่เกินที่จะหลบเลี่ยงได้ ทางที่ดีคือ ควรพูดขอทางหรือทำสัญลักษณ์ อย่างการติดเข็มกลัดไว้ที่เสื้อ เพื่อให้รู้ว่าท้องอยู่

Good Things to Know : ทั้งนี้สำหรับเรื่องการกุ๊กกิ๊กกับสามี ถ้าคุณแม่ท้องไม่มีปัญหาสุขภาพหรือภาวะเสี่ยงที่แพทย์แนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ ก็เชิญสวีทกับคุณหวานใจได้ตามปกติ เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงท่วงท่าที่กระทบกระแทกรุนแรง ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างทำกิจกรรมรัก ก็ควรหยุดมีเพศสัมพันธ์ไว้ก่อนและปรึกษาสูติแพทย์ประจำตัวให้ตรวจวินิจฉัยอาการในวันถัดไป

11. อุบัติเหตุ แม่ท้องจากถูกของแหลมทิ่มท้อง หรือบาดเจ็บจากการถูกแทง

หากคุณแม่ท้องกำลังถือมีด กำลังถือเข็มเย็บผ้า หรือถือของแหลมอื่นๆ อยู่ ก็สามารถหน้ามืดพลัดสะดุดล้ม และมีโอกาสถูกของแหลมแทงถูกมดลูกที่โตมากในช่องท้องได้ หากเป็นบาดแผลเล็กน้อยก็สามารถปฐมพยาบาลทำแผลเบื้องต้นได้ แต่ทั้งนี้การประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บนั้นพบว่าร้อยละ 80 ของคุณแม่ท้องจะมีความดันเลือดตกต่ำ และมักพบทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์บ่อยมาก ซึ่งแม้จะเป็นการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยก็อาจทำให้รกลอกตัวจนกระทั่งลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงแรกคุณหมอสามารถรักษาคุณแม่ก่อนแล้วค่อยมารักษาลูกน้อยในครรภ์เป็นลำดับต่อมา

12. อุบัติเหตุ แม่ท้องถูกไฟช็อต

การที่แม่ท้องถูกไฟดูด ไฟช็อตอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่ได้รับ ว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากเพียงแป๊บเดียวรู้สึกว่าจี๊ดๆ ในระยะเวลาไม่กี่วินาที แล้วดึงตัวออกมาได้ รวมถึงแม่ท้องเองไม่เป็นอะไร ไม่ได้รู้สึกชา เจ็บ หรือ ไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ ก็แสดงว่าลูกในครรภ์ไม่เป็นไร

แต่หากคุณแม่ท้องได้รับกระแสไฟฟ้าที่รุนแรง จนเกิดอาการหน้ามืด มีอาการชา มีอาการชัก รู้สึกได้ถึงความผิดปกติ หรือหมดสติ ลูกในครรภ์ก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ปัญหาที่เกิดกับคุณแม่ที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงก็อาจเป็นได้หลายรูปแบบ บางทีก็ไม่เป็นอะไรเลย บางทีก็เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด บางทีรกก็ลอกตัวก่อนเวลาทำให้เด็กเสียชีวิตในครรภ์ได้ หรือถ้าหนักๆหน่อยอาจรุนแรงถึงมดลูกแตกได้เหมือนกัน

วิธีตรวจสอบร่างกาย หลังเกิด อุบัติเหตุ แม่ท้อง

อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอะไรขึ้นมาแล้ว คุณหมอก็ต้องรักษาประคับประคองให้ทั้งแม่ทั้งลูกปลอดภัยทั้งคู่ แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆก็เป็นหลักว่าให้เลือกให้แม่ปลอดภัยไว้ก่อนเป็นอย่างแรก  ถ้ายังแข็งแรงดี จะท้องอีกกี่ทีก็ได้

ทั้งนี้มาดูวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆดีกว่า ถ้าเกิดไปอุบัติเหตุ แม่ท้อง ขึ้นแล้ว ต้องลุกขึ้นได้ก็ให้สำรวจตัวเองดูอาการสามข้อนี้ เพื่อความความปลอดก่อนมาหาคุณหมอ

 

 

สิ่งสำคัญในเรื่องของอุบัติเหตุ แม่ท้อง ก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ  ในระหว่างการตั้งครรภ์ต้องระวังตัวเองให้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทุกอย่าง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น แม่ท้องต้องรีบสังเกตตัวเองโดยด่วนว่า ลุกขึ้นได้-ท้องต้องไม่เจ็บ เลือดต้องไม่ออก และลูกต้องดิ้นดี ถ้าครบสามข้อก็สบายใจได้ และที่สำคัญคือต้องระวังตัวเองให้ดีที่สุด เพราะคุณอาจไม่ได้โชคดีไปทุกครั้ง

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!