แม่รู้ว่าลูกอาจยังชอบหยิบทุกอย่างเข้าปาก แต่ทำไมพอโตแล้วหนูถึงชอบแทะหางเปียของตัวเองหรือชายแขนเสื้อมากกว่าอย่างอื่นล่ะจ๊ะลูก
เด็กวัยนี้อาจชอบเคี้ยวอะไรเล่นให้ตัวเองมีสมาธิมากขึ้น แต่การเคี้ยวแบบจริงจังและบ่อยๆ ก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กๆ กำลังเบื่อหรือกังวล และอาจทำให้ขากรรไกรมีปัญหาได้ วิธีช่วยลดความถี่ของการเคี้ยวให้เหลือน้อยครั้งที่สุดมีดังนี้
1. พูดคุยกับลูกว่ามีเรื่องกังวลใจหรือเปล่า?
เพื่อจะได้รู้ว่าลูกกำลังมีเรื่องกังวลใจอยู่หรือเปล่า หรือว่าเบื่อการไปโรงเรียน ซึ่งหากคิดว่าจำเป็น ก็ต้องพยายามแก้ปัญหาโดยขอความร่วมมือจากคุณครูของลูกด้วย เมื่อทราบว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็อย่างนิ่งนอนใจ เพราะอาจส่งผลต่อจิตใจในระยะยาวของลูกได้
อ่านเรื่อง “ลูกใครเป็นบ้าง.. ชอบแทะ “แขนเสื้อ” หรือ “หางเปีย” ของตัวเอง” คลิกหน้า 2
2. ไม่บ่นลูกเรื่องนี้
การพูดกับลูกว่า น่าเกลียดจังเลย ทำไมถึงชอบเอาอะไรแปลกๆ มาเคี้ยวแบบนี้นะ คงไม่ทำให้ลูกหายอยากและเลิกทำพฤติกรรมนี้ได้ การทำเป็นไม่สนใจยังจะได้ผลดีกว่าด้วยซ้ำไป และเด็กยังคงแสดงพฤติกรรมแทะอยู่ซ้ำๆ ถ้าหากยังไม่มีสิ่งอื่นดึงดูดใจ
3. หาสิ่งทดแทนให้ลูก
เช่น ให้เอาขวดหรือกระติกน้ำไปโรงเรียนด้วย เพราะการจิบน้ำอาจทำให้เขาพอใจได้พอๆ กับการเคี้ยว หรือถ้าเผอิญเห็นลูกทำแบบนี้เข้าพอดี คุณก็ยื่นลูกอมหรือหมากฝรั่งแบบไร้น้ำตาล หรือแครอทกรอบๆ ให้เขาหยิบใส่ปากแทน และพูดชมเมื่อเขายอมรับสิ่งทดแทนดังกล่าวแต่โดยดี
ทั้งสามวิธีนี้จะช่วยหยุดไม่ให้ลูกแสดงพฤติกรรม “แทะ” ตัวเองอย่างนี้ต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาและความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ และในอนาคตอาการเหล่านี้จะหายได้ถ้าทุกคนช่วยกันค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & Kids