ลูกไม่สบายแม่ย้ำ! ลูกไม่สบาย อย่ามัวแต่หาข้อมูลผ่านทางออนไลน์ ประสบการณ์ตรงเมื่อลูกเป็น H1N1
คุณแม่เหมียวเปิดใจกับทีมงาน Amarin Baby & Kids ถึงเรื่องราวเมื่อลูกป่วย พร้อมกับอยากฝากบอกทุกครอบครัว ลูกไม่สบายอย่านิ่งนอนใจ อย่ามัวแต่หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ถ้าหากอยากให้ลูกปลอดภัยละก็ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที! โดยคุณแม่ได้เล่าถึงประสบการณ์พร้อมกับตั้งชื่อเรื่องว่า
ประสบการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ล้มช้าง!!
วันที่ 5 สิงหาคม คุณแม่เริ่มรู้ว่าลูกไม่สบาย เพราะมีอาการตัวรุม ๆ ไอนิดหน่อยพอเป็นพิธี ไม่มีน้ำมูกและเสมหะ แต่กินอะไรอาเจียนออกตลอด ประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง ลูกเริ่มมีไข้ 38.3°C จึงรีบพาลูกไปหาหมอ แต่หมอวินิจฉัยว่า ลูกอาจจะเป็นไวรัสลงกระเพาะ จึงสั่งยาให้และกลับไปรับประทานที่บ้าน
วันที่ 6 สิงหาคม ลูกตัวร้อนอีกครั้ง จึงได้รีบหาปรอทมาวัดไข้ แต่ปรอทกลับมาเสียอีก ทำให้คุณแม่โมโหมาก ยายบอกว่า ตุ้ยนอนไม่ค่อยหลับ ดิ้นไปมา รอประมาณ 8 โมงเช้าพาไปหาหมออีกรอบ หาที่จอดรถไม่ได้บอกสามีส่งทางประตูเดี๋ยวอุ้มลูกลงไปเอง สามีก็กลัวจะอุ้มไม่ไหว วินาทีนั้นหัวอกแม่หนักกว่านี้ก็ต้องไหวอุ้มลูกวิ่งไปเจอพยาบาลวัดไข้ 39.3 °C พยาบาลพาไปเช็ดตัว กินพาราฯ ทันที พบคุณหมอกำพล คุณหมอถามว่าจะแอดมิทไหม ไข้สูงนะ แม่ตอบตกลง เพราะอาการโรคอะไรไม่เด่นชัดไม่มีน้ำมูก ไอน้อยมาก แต่อาเจียนทุกครั้งที่กิน ลูกนอนซบนิ่งไม่หือไม่อือ กลัวชักมาก อยู่กับหมอน่าจะอุ่นใจกว่า ตอนนั้นแม่กลัวว่าจะเป็น RSV กับ ไข้หวัดใหญ่ แต่ลึก ๆ ก็คิดว่าน่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะ RSV ต้องไอมากกว่านี้ พยาบาลเอาน้ำมูกไปตรวจ และให้กลับบ้านไปก่อนเพื่อรอห้องว่าง
ประมาณเกือบเที่ยง ตุ้ยมีจุดเลือดใต้ผิวหนัง ทั้งที่ตอนเช้ายังไม่มี มือสั่นมากขึ้น แม่ไม่รอห้องว่างแล้ว รีบพาไปโรงพยาบาลอีกรอบนึง คุณหมอให้ตรวจเลือดทั้งหมด 3 ชนิด คือ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B รวมถึง RSV ด้วย ผลคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นอนรักษาอยู่ 3 วัน ให้ยาทางสายน้ำเกลือ และกินยาร่วมด้วย ที่สำคัญ คือ ยาต้านไวรัสต้องกินให้ครบ
วันที 7 สิงหาคม ช่วงเช้าไข้ลด เหลือ 38.3°C ตกเย็นอุณหภูมิปกติแล้ว เริ่มกินข้าวได้นิดหน่อย ยืนบ้าง เดินได้บ้าง
วันที่ 8 สิงหาคม ทุกอย่างปกติ มีไอนิดหน่อย คุณหมอให้กลับบ้านได้ เย้!! ตุ้ยร่างเริงมาก มีกระโดดโชว์ด้วย ประกัน
คุณแม่เหมียวกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สาเหตุที่น้องตุ้ยฟื้นตัวได้เร็วนั้นเป็นเพราะตุ้ยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้ และแม่ไม่นิ่งนอนใจสังเกตอาการลูกตลอด หากพบว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกละก็ แนะนำให้คุณแม่รีบพาน้องไปหมอในโรงพยาบาลมากกว่ามานั่งหาคุณหมอออนไลน์
ทำอย่างไรดีเมื่อลูกเป็นไข้?
เครดิตเรื่องและรูปภาพ: คุณแม่เหมียว
ทำอย่างไรเมื่อ ลูกไม่สบาย?
หากพบว่าลูกหลานกำลังไม่สบายและดูเหมือนว่าจะมีไข้ละก็ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติดังนี้
- เช็ดตัวลดไข้ เมื่อรู้สึกไข้สูงหรือหลังจากวัดปรอทพบว่ามีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ให้คุณพ่อคุณแม่รีบเช็ดตัวทันที วิธีเช็ดตัวนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ ถูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช็ดค่อนข้างแรงเพื่อให้เส้นเลือดบริเวณนั้นขยาย มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น จะช่วยให้ความร้อนระเหยออกจากร่างกายได้ดี ตามบริเวณข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ หน้าผากควรใช้ผ้าชุบน้ำบอดหมาด ๆ วางประคบไว้ เมื่อรู้สึกว่าผ้าร้อน ควรชุบน้ำให้หมาด ๆ วางประคบใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนน้ำที่นำมาเช็ดตัวรู้สึกร้อน ควรระวัง! อย่าให้ห้องที่เช็ดตัวนั้นมีลมโกรกมากเกินไป และควรปิดพัดลมก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกมีอาการหนาวสั่นระหว่างเช็ดตัว
- ให้ยาลดไข้ ก็เป็นสิ่งจำเป็นทุกครั้ง เมื่อมีไข้สูง38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรรับประทานยาลดไข้ตามขนาด และตามเวลาที่แพทย์สั่ง
- ให้ลูกดื่มน้ำให้มาก เพื่อให้น้ำขับความร้อนออกทางปัสสาวะ จะสังเกตได้เวลามีไข้ปัสสาวะที่ออกมาจะร้อนมาก ถ้าปัสสาวะที่ออกมาสีเหลืองเหมือนน้ำชา และปริมาณน้อยแสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ฉะนั้นควรได้น้ำเข้าไปให้เพียงพอ (ประมาณ 2-3 ขวดแม่โขงกลมต่อวันหรือกินให้มากพอจนกระทั่งปัสสาวะบ่อย สีใสขึ้น) สำหรับน้ำดื่มจะจำกัดในคนไข้ที่มีอาการบวมเพราะจะทำให้บวมเพิ่มขึ้น
- อย่าห่มผ้าที่หนาเกินไป คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะเคยนำผ้าห่มหนา ๆ มาห่มให้ลูกตอนที่เห็นว่าลูกมีอาการหนาวสั่น การที่ทำเช่นนี้ผิดอย่างมากเลยละค่ะ เพราะจะทำให้ไข้สูงยิ่งขึ้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฉะนั้นเสื้อผ้าควรใส่ชนิดธรรมดาตามฤดูกาล ผ้าห่มควรเป็นผ้าที่เบาบาง อากาศถ่ายเทได้ เช่น ผ้าแพร เป็นต้น
- อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่อับหรือร้อนเกินไป
- พยายามให้ลูกนอนพักเยอะ ๆ
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม คลิก!
เครดิต: หมอชาวบ้าน
เมื่อไรที่ไข้จะบ่งบอกว่าอาการท่าจะไม่ดี?
ที่ผ่านมาเราอาจจะดูแต่อุณหภูมิร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้การจะดูว่าลูกนั้นเป็นอะไรมากหรือไม่ แนะนำให้ดูทั้งอุณหภูมิ และสภาพโดยรวมของเด็กด้วย
เครื่องวัดอุณหภูมิมีกี่แบบ
- แบบดิจิทัลที่วัดจากทางก้น ทางปาก หรือ ใต้รักแร้
- แบบดิจิทัลที่วัดจากทางหู
- แบบแผ่นที่ติดตรงหน้าผาก
- แบบที่เป็นจุ๊บดูด
- แบบที่เป็นปรอท
คำแนะนำเพิ่มเติม:
- สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน แนะนำให้วัดไข้ทางก้นจะแม่นยำที่สุด เครื่องวัดแบวัดทางหูไม่แนะนำให้ใช้เพราะว่าหูยังเล็กมากอยู่
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือน – 4 ขวบ แนะนำให้ใช้เครื่องวัดแบบวัดทางก้น หรือ ทางหู คุณพ่อคุณแม่สามารถวัดไข้จากใต้รักแร้ก็ได้ แต่ความแม่นยำจะน้อยกว่า
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป แนะนำให้ใช้เครื่องวัดแบบดิจิทัลวัดอุณหภูมิจากทางปาก ถ้าเด็กยอมทำ อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีอาการไอ หรือ หายใจทางปากเพราะคัดจมูก อาจจะไม่สามารถอมเครื่องวัดได้นานพอที่จะวัดอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ ในกรณี ก็คงต้องวัดผ่านทางหู หรือ ใต้รักแร้แทนก็ได้ค่ะ
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ลองปฏิบัติตามรายละเอียดด้านบนแล้วลูกยังไม่ดีขึ้น แนะนำว่าให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อจะได้เข้ารับการตรวจเช็คและวินิจฉัยโรคนั้นเป็นวิธีการที่ดีและปลอดภัยที่สุดแล้วละค่ะ
เครดิต: Thelittlegymrama3
อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่