“ขอกินคุกกี้อีกชิ้นนะคะ วันนี้หนูกินขนมไปนิดเดียวเอง”
“ขอดูการ์ตูนอีกตอนนะครับ ตอนนี้ตอนสุดท้ายแล้ว”
“ถ้าไม่ให้ใส่ชุดยอดมนุษย์ ผมขอไม่ไปงานแต่งงานน้าดาวนะครับ”
“พรุ่งนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน คืนนี้หนูขอนอน 4 ทุ่มได้ไหมคะ”
ลูกวัยนี้ขอต่อรองได้ทุกเรื่อง ทุกที่ ไม่ว่าจะโรงเรียน ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต บ้านญาติ บ้านเพื่อน แค่ขอให้มีคนอื่นอยู่ด้วย ขณะที่เขากำลังต้องการอะไรบางอย่างจากพ่อแม่ นี่คือหนึ่งในทักษะที่คุณและลูกควรได้เรียนรู้ เมื่อโลกของลูกไม่ใช่มีเพียงในบ้าน อะไรที่พ่อแม่ควรเข้าใจ ก่อนรีบปฏิเสธไปทันทีจนเจ้าหนูแผลงฤทธิ์ตามมา หรือต้องตัดใจยอมเพราะกลัวเสียเวลา เสียหน้า แต่ให้ขัดเคืองใจ
เด็กตัวกะเปี๊ยกรู้จักต่อรองได้อย่างไร
เพราะลูกวัย 3-4 ขวบจะมีทักษะทางภาษาที่ช่วยให้สื่อสารได้ว่าต้องการอะไร และการต่อรองกับพ่อแม่ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งสอนให้เขารู้จักคิดหาทางออกที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ แต่การทำฤทธิ์ทำเดชของลูก มักจะเป็นผลจากความพยายามของพ่อแม่ที่จะใช้เหตุผลกับลูกวัยนี้ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอยากให้คุณเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆอย่างการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับกาลเทศะหรือเรื่องของกฎระเบียบสำคัญอย่างเวลาเข้านอน เขาก็เป็นแค่เด็กตัวเล็กๆที่ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด หรือไม่อาจยอมรับได้ ถ้าจะให้เขายอมรับก็ต้องให้เวลา และเรื่องนี้ก็มีทางออก ลูกจะได้ไม่ทำฤทธิ์ทำเดชเพราะเรื่องลงเอยแบบตกลงกันไม่ได้
ดูที่สาเหตุว่าลูกต้องการเพราะอะไร
เวลาที่ลูกวัยนี้ขอต่อรอง การรีบด่วนสรุปว่า เขาต้องการเอาแต่ใจ อยากได้นั่นได้นี่ตามประสาเด็ก จะทำให้คุณรีบปฏิเสธลูกจนตกลงกันไม่ได้ แต่ควรดูสักนิดว่า สิ่งที่ลูกร้องขอนั้นเพราะอะไร คุณก็จะตอบลูกหรือมีทางออกได้ดีขึ้น เช่น ลูกขอต่อรองว่า “ขอฟังแม่อ่านนิทานอีกเรื่อง แล้วค่อยนอนนะจ๊ะ” เพราะอยากให้คุณมีเวลาอยู่กับเขามากขึ้น ไม่ได้อยากฟังนิทานอีกเรื่องจริงๆ ซึ่งคุณก็ตอบได้ว่า “คืนนี้เลยเวลานอนมาแล้ว แต่แม่ขอหอมแก้มลูกเพิ่มขึ้นเป็นการตอบแทนดีกว่าจ้ะ พอเราหอมแก้มกันแล้ว หนูก็นอนเสียนะจ๊ะ นอนหลับฝันดี เจอกันตอนเช้าจ้ะ”
ให้ลูกมีส่วนร่วมและทางเลือกที่คุณยอมรับได้
การให้ลูกมีส่วนในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ และมีทางเลือกที่คุณรู้ว่าไม่ว่าจะเลือกอะไรลูกก็พอใจ ขณะเดียวกันตัวเลือกนั้น คุณก็ยอมรับได้ด้วย เป็นหนทางหนึ่งที่ค่อนข้างได้ผลดี เพราะลูกรู้สึกว่าเขามีส่วนกำหนดสิ่งที่เขาต้องการเอง และจะยินดีทำตามสิ่งที่ตัวเองเลือกมากกว่าที่พ่อแม่เลือกให้
เช่น ตกลงกันว่าคุณจะเป็นคนกำหนดว่าเขาสามารถใช้เวลากับการอยู่หน้าจอได้วันละกี่นาที แต่ให้เขาเป็นคนเลือกเองว่าจะใช้แท็บเล็ตหรือดูทีวีแต่ต้องเป็นรายการที่คุณอนุญาตให้ดูได้เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ตกลงกันได้ด้วยดี เพราะคุณยอมให้เขามีส่วนในการกำหนดว่าจะใช้เวลาที่ได้มาอย่างไร สำคัญคือคุณต้องยึดตามคำพูดของตัวเอง เพราะถ้ากฎเกณฑ์ไม่มีความแน่นอน คุณก็จะทำให้ลูกยิ่งขอต่อรองหนักขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ท่าทียอมรับเป็นสิ่งสำคัญ
สุดท้ายคือ พ่อแม่ควรมีสายตา สีหน้า ท่าทาง ที่แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณรับรู้ว่าเขาต้องการอะไร มิใช่ท่าทางและสายตาปฏิเสธอย่างเดียว อย่าง ถ้าเขาขอให้ซื้อซีเรียลตอนอยู่ในซูเปอร์มาร์เกตด้วยกัน คุณก็ควรจะใช้อารมณ์ขันทำให้เป็นเรื่องสนุกโดยพูดว่า “ถ้าคนเรากินได้แต่ซีเรียล ก็คงเยี่ยมไปเลยนะ” ไม่ใช่รีบปฏิเสธไปทันที ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าคุณไม่สนใจความต้องการของเขาเลย ซึ่งมักจะทำให้เขาใจเย็นลงจนไม่คิดจะเอาชนะด้วยการทำฤทธิ์ทำเดชให้คุณขายหน้า
มองโลกในแง่ดี
ถึงจะเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดไม่น้อย แต่พฤติกรรมนี้ก็ถือเป็นพัฒนาการในแง่ดี เพราะนอกจากจะชี้ว่าลูกรู้จักแสดงความคิดเห็นของตัวเองแล้ว การรู้จักต่อรองอย่างเข้าใจเหตุผล ก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเขารู้ว่าจะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆได้อย่างไรด้วย ดังนั้นการฝึกลูกให้รู้จักการต่อรองอย่างเข้าใจและรับฟังเหตุผล จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
ผลวิจัยโดยมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กของสวีเดนชี้ว่าเด็กเล็กๆเรียนรู้เรื่องการต่อรองจากการเล่นด้วยกัน ซึ่งถึงจะเป็นการต่อรองที่ดูเหมือนจะตกลงกันไม่ได้ (เช่น เด็กผู้หญิง 2 คนเล่น “แม่-ลูก” กันและทั้งคู่ก็อยากเล่นเป็นแม่) ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรจะรีบเข้ามาช่วยตัดสิน เพราะถ้าผู้ใหญ่ให้เวลา เด็กๆก็มักจะแก้ปัญหากันเองได้ จึงเป็นวิธีที่ช่วยทำให้เด็กๆรู้จักประนีประนอม
“การรู้สาเหตุที่ลูกร้องขอสิ่งต่างๆ และให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา หรือให้ตัวเลือก จะช่วยให้ทักษะการต่อรองของลูกไม่ใช่ทักษะที่น่ากลัวเพราะก่อเหตุน่ารำคาญ น่าโมโหให้พ่อแม่เสมอ”
“สำคัญคือพอมีข้อตกลงร่วมกันแล้ว พ่อแม่ต้องรักษาคำพูดด้วย เพราะถ้ากติกาไม่มีความแน่นอน จะทำให้ลูกยิ่งขอต่อรองหนักขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock