AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เตรียมความพร้อมของวัยอนุบาลที่พ่อแม่ควรรู้

1. ความรู้ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของสมอง กับความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เช่น เด็กอนุบาลเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ถ้านำมาเปลี่ยนเป็นบทเรียน ตัวอย่างที่ชัดมาก คือ เรียนเรื่องผลไม้ เราควรให้เด็กเห็นผลไม้จริง เขาจะได้ใช้ตามองเห็นความแตกต่าง ได้ใช้ลิ้นสัมผัสรสชาติที่แตกต่าง ใช้จมูกสัมผัสกลิ่นที่แตกต่าง หรือแม้แต่ใช้หูฟังเสียงจากการตกกระทบที่แตกต่าง ไม่ว่าจะใช้ประสาทสัมผัสใด ข้อมูลที่ผ่านประสาทสัมผัสนั้นจะเข้าสู่สมองผ่านกระบวนการแปลข้อมูลและเข้าไปเป็นความจำระยะสั้นก่อน ต่อเมื่อเกิดการทำซ้ำบ่อยๆ จะกลายเป็นความจำระยะยาว เป็นต้น

พ่อแม่ส่วนหนึ่งอาจคิดว่าให้ลูกเรียนรู้จากบัตรคำก็น่าจะได้เหมือนกัน แต่ลูกจะได้เห็นแค่ภาพและได้ยินคำศัพท์ ไม่ได้เรียนรู้ครบทั้งห้าประสาท นั่นก็หมายความว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจช่องทางการเรียนรู้ของลูก เป็นต้น

 

2. อีกเรื่องหนึ่ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนเราจะเรียนรู้ 4 ทักษะไปพร้อมกัน ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน พร้อมกับเรียนจากประสบการณ์ตรง ดังนั้น ถ้าจะให้เด็กได้ฝึกทักษะทั้งสี่ โดยใช้บัตรคำก็ทำได้ แต่จะต้องเป็นคำที่เด็กคิดเอง

เมื่อนำมาเปลี่ยนเป็นบทเรียนแนวเตรียมความพร้อม คุณครูจะถามว่าเด็กอยากรู้คำไหน เช่น จะได้คำตอบว่า เขาอยากรู้คำว่า “หนูรักพ่อ” สังเกตว่าคำที่เด็กๆ อยากรู้จะเป็นคำที่มีความหมายกับตัวเขา เพราะอยากเขียนการ์ดให้พ่อ และด้วยความรู้ที่ว่าคนเราเรียนรู้ทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการเรียนแนวเตรียมความพร้อมครูจะยังไม่บอกเด็กว่าสะกดยังไง แต่ครูจะเขียนคำนี้ให้เด็กดู และอาจให้เขาเขียนทับคำที่ครูเขียนไว้ เด็กก็จะได้เรียนรู้ไปทั้งประโยคอย่างนี้เลย

พ่อแม่สังเกตได้ว่าการเตรียมความพร้อม จะไม่มีการให้เด็กจดจำพยัญชนะ ตัวอักษร สระใดๆ เพราะการจดจำตรงๆ ถือเป็นการจำที่สลับซับซ้อน เด็กต้องโตพอสมควรแล้วจึงจะจำได้เพราะเข้าใจกฎเกณฑ์ของการเขียนต่างๆ ซึ่งก็ต้องเป็นเด็กประถม 1 ไปแล้ว ไม่ใช่เด็กอนุบาล

 

3. อีกตัวอย่างที่ชัดเจน คือ เด็กจะเขียนได้ต้องมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรง และเข้าใจถึงความหมายของคำ เด็กควรอ่านเขียนได้ตามพัฒนาการของเขา สำหรับอนุบาลเราแค่เขียนคำไว้ แล้วให้เด็กมาเขียนทับคำนั้น โดยยังไม่คำนึงถึงการเขียนที่ถูกหรือถ้าเด็กมาบอกเราว่า “ช่วยเขียนคำว่าพ่อให้หน่อยค่ะ/ครับ” ก็ถือเป็นพัฒนาการการเขียนขั้นหนึ่งแล้ว เพราะเขาได้สื่อความคิดของตัวเองออกมาด้วยภาษาพูด

การสื่อความคิดในเด็กอนุบาลทำได้หลายแบบทั้งวาดรูป เล่นละคร หรือแสดงท่าทาง ดังนั้นเด็กอนุบาลจะเขียนสวยหรือไม่เราไม่สนใจ เราสนใจเนื้อหาที่เขาเขียน หรือพูดว่าเขาสื่อออกมาได้ตรงกับความต้องการของเขาหรือไม่ ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ การอ่านเขียนในชั้นอนุบาล จึงเน้นที่มีความหมายกับตัวเขา เช่น เด็กอนุบาลควรรู้ตัวสะกดชื่อของตัวเอง เพราะมีความหมายกับตัวเขา ถือว่าพอแล้ว ตัวอักษรอื่นจะตามมาเมื่อเขาพร้อม เป็นต้น

บทความโดย : ดร.วรนาท รักสกุลไทย