AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

12 หัวใจสื่อสารกับวัยซนคำสั่งแม่ก็ศักดิ์สิทธิ์ได้

ออกคำสั่งกับลูก เมื่อพูดถึง “คำสั่ง” ฟังดูแล้วไม่ค่อยมีใครปลื้มกับคำคำนี้เท่าไรนัก เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่มักจะชักสีหน้าเวลาถูกสั่ง หรือถูกห้ามไม่ให้ทำโน่นทำนี่ และหากไม่ยอมทำตาม พ่อแม่หลายๆ ท่านมักปลดปล่อยอารมณ์ด้วยท่าที หรือคำพูดที่สะเทือนใจ เผลอๆ อาจมีลงไม้ลงมือด้วย

คุณแม่มีคำถาม : คุณแม่ข้องใจว่าการเป็นผู้หญิง – ผู้ชายมีผลต่อการออกคำสั่งลูกหรือเปล่าคะ มีลูกชาย 2 คน อายุ 6 กับ 5 ขวบค่ะ สังเกตว่าคำสั่งเดียวกัน วิธีพูดเหมือน ๆ กัน ให้เก็บของเล่น ไปอาบน้ำ ไม่กินขนมก่อนอาหาร ฯลฯ ถ้าเป็นคุณพ่อสั่ง 90 เปอร์เซ็นต์ลูกจะฟังและทำตามทันที แต่ถ้าเป็นคุณแม่สั่ง ต้อง 3 – 4 รอบเป็นอย่างต่ำถึงจะทำตามกัน บางครั้งก็ต้องลงมือลงไม้กันทีเดียวค่ะ

ตอบ : สำหรับพ่อออกคำสั่งแล้วศักดิ์สิทธิ์กว่าแม่ อาจเพราะความเป็นชายเป็นหญิงใช่หรือไม่ ก็มีคำอธิบายที่สนับสนุนอยู่

ตั้งแต่เด็กวัยอนุบาล – ประถมต้น รู้จักลักษณะและความแตกต่างของหญิง – ชายแล้ว เช่น ผู้หญิงมักจะใจอ่อนและให้อภัยได้ง่ายกว่าผู้ชายซึ่งมักเอาจริง เข้มแข็ง เฉียบขาด และชัดเจนกว่าหรือแม้แต่เหตุผลที่ว่าผู้ชายรูปร่างใหญ่โตกว่า ดูมีอำนาจมากกว่าด้วยเหตุเหล่านี้คำสั่งของพ่อจึงมักมีผลกับลูก ๆ ในทันที

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า เด็กผู้ชายมักจะตอบสนองต่อน้ำเสียงแหลมของผู้หญิงน้อยกว่าน้ำเสียงต่ำของผู้ชายจึงเป็นไปได้ว่าลูกชายของคุณถึงกระตือรือร้นกับคำสั่งพ่อ แต่กลับเฉื่อยชาบ้างเวลาแม่สั่ง

ถึงจะมีคำอธิบายอย่างนี้ แต่เชื่อแน่ว่าคุณแม่ย่อมรู้ดีว่าลูกจะฟังคำสั่งพ่อแม่หรือไม่นั้น เป็นมากกว่าเรื่องของความเป็นชายเป็นหญิงอยู่แล้ว ทว่าประเด็นของเรื่องนี้อาจอยู่ที่ว่า แม่ ๆ จะสื่อสารอย่างไร

เพื่อให้เข้าถึงลูกได้ Amarin Baby & Kids มีข้อสังเกตในการสื่อสารกับเด็ก ๆ วัยซนอนุบาล – ประถมต้นมาฝากกัน เพื่อให้การออกคำสั่งกับลูก ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

12 เทคนิค ออกคำสั่งกับลูก ให้ศักดิ์สิทธิ์

1. สอนลูกให้ฟังเป็น

เด็ก ๆ พอพูดเป็นก็จะถนัดแต่เป็นฝ่ายพูดให้คนอื่นรับฟัง เขาเป็น ส่วนใหญ่ แต่การรับฟัง จำเป็น ต้องได้รับการฝึกฝน วิธีฝึกให้ลูกเป็นผู้ฟังที่ดีคือคุยกัน เช่น ผลัดกันเล่าเรื่อง คุณถามลูกถึงเรื่องที่โรงเรียนเพื่อให้เขาเล่า แล้วคุณก็เล่าเรื่องที่บ้านหรือที่ทำงานของคุณบ้าง ตั้งคำถามชวนให้เขาสงสัยพออยากรู้เรื่องอะไร เดก็ ๆก็มักจะขอร้องให้เราเล่าต่อ เป็นต้น

2. คำสั่งชัดเจน เห็นภาพเป็นสำคัญ

สำหรับเด็กวัยจินตนาการสูงนี้จะให้เขาทำอะไร ถ้าบอกให้นึกภาพออก การสื่อสารจะราบรื่นขึ้นอีกมาก สิ่งที่จะช่วยให้เด็กน้อยนึกภาพได้คือ บอกเป็นการกระทำ เช่น วันนี้ลูกบอกว่าเขาเหนื่อยมาก แต่ยังกระโดดโครม ๆ อยู่บนเก้าอี้ วิ่งเล่นเตะบอลไม่หยุดคุณอยากสั่งให้เขาเลิกเล่นเพื่อจะได้ทำกิจวัตรอย่างอื่นให้เสร็จและจะได้เข้านอนเร็วขึ้น ก็ควรบอกลูกว่า “หยุดกระโดดหรือหมดเวลาเล่นแล้ว วันนี้เหนื่อยมากแล้ว ไปอาบน้ำ เสร็จแล้วจะได้กินมื้อเย็นและเข้านอนกน” โดยไม่ลืมน้ำเสียง สีหน้า และท่าทีเอาจริงค่ะ

3. ชื่นชมและทำโทษ

เพราะการฟังคำสั่งพ่อแม่เป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เป็นโอกาสดีให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการเคารพและให้เกียรติผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็ก ๆ อีกมากมายในอนาคต โดยเริ่มจากคนสำคัญในชีวิตของพวกเขาหากอยากให้ลูกเห็นคำสั่งแม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้คำสั่งพ่อก็เหมือนพฤติกรรมที่พึงประสงค์อื่น ๆ ค่ะ ถ้าคุณอยากให้เขาทำจนติดเป็นนิสัย การบังคับย่อมได้ผลไม่เท่ากับการชื่นชมและลงโทษทันทีเมื่อคุณเอาจริงกับคำสั่งที่สมเหตุสมผล ถ้าลูกลงมือทำตามคำสั่งการให้คำชมทันทีจะเป็นแรงเสริมให้เขาคงการกระทำต่อไป และหากเขาอิดออดหรือไม่ทำ ก็อย่าได้ลังเลที่จะทำโทษอย่างเหมาะสม

อ่านต่อ >> “เทคนิคการออกคำสั่งกับลูกให้ศักดิ์สิทธิ์” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. การออกคำสั่งกับลูกไม่ควรทำบ่อยเกินไป

เพราะการสั่งบ่อยๆ นั้น คำสั่งของพ่อแม่จะไม่ใช่คำศักสิทธิ์อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเรื่องจู้จี้จุกจิกสำหรับลูก และเกิดเป็นความรำคาญจนไม่อยากทำตามก็เป็นได้

5. ควรระวังการออกคำสั่งขณะโมโห หรือโกรธอย่างรุนแรง

เพราะสิ่งเลวร้ายที่ตามมาคือเด็กจะค่อยๆ ซึมซับคำพูดเหล่านั้นและจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ถ้าโกรธต้องตะโกน หรือใส่อารมณ์ ดังนั้นควรออกคำสั่งอย่างสงบ และมีสติ เพราะถ้าเกรี้ยวกราดกับลูก พอเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาอาจจะกลายเป็นคนเกรี้ยวกราดได้

6. ให้เวลากับลูกในการปฏิบัติตามคำสั่ง

โดยเฉพาะเวลาที่บอกให้ลูกละจากสิ่งหนึ่งไปทำอีกสิ่งหนึ่ง เช่น บอกให้ลูกเลิกดูทีวีแล้วมาทำการบ้าน อาจจะเกริ่นกับลูกก่อนว่า “แม่ให้เวลาอีก 5-10 นาทีนะ” หากยังเฉยให้ออกคำสั่งอีกครั้ง และถ้ายังเฉยอยู่อีก ให้เข้าสู่การยื่นคำขาด คือ ถ้าพูดแล้วไม่ทำตาม เขาจะต้องเจอกับอะไร

7. ไม่ควรออกคำสั่งหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน

เพราะจะทำให้เด็กทำตามได้ไม่หมด

8. เวลาบอก หรือออกคำสั่งกับเด็กในบางสถานการณ์

ควรให้คำอธิบายถึงพฤติกรรมที่อยากจะเห็นในตัวเขาด้วย เช่น เห็นลูกหวงของเล่น ก็อาจจะเข้าไปบอกลูกว่า “ถ้าหนูไม่แบ่งเพื่อนเล่น คราวหน้าหนูก็จะไม่มีเพื่อนเล่นนะ แม่อยากเห็นลูกของแม่เป็นที่รักของเพื่อนๆ นะจ๊ะ”

อ่านต่อ >> “เทคนิคการออกคำสั่งกับลูกให้ศักดิ์สิทธิ์” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

9. ออกคำสั่งกับลูกด้วยท่าทีสุภาพ

ใช้ประโยคที่สั้น กระชับ ไม่ยืดเยื้อ เพราะไม่เช่นนั้นเด็กจะรู้สึกเบื่อ อึดอัด และเกิดเป็นอารมณ์ต่อต้านในที่สุด ทางที่ดี ควรพูดกับลูกดีๆ เช่น “เห็นไหมลูก มดขึ้นจานแล้ว เมื่อกี้เราคุยกันว่าอย่างไรนะ กินเสร็จแล้วให้เก็บจานไปล้างใช่ไหมจ๊ะ”

10. ควรแน่ใจก่อนว่า เวลาบอกให้ลูกทำอะไร ตัวลูกได้ยินที่เราพูด

เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่ได้ยิน หรือกำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งการโมโหลูกทั้งๆ ที่ลูกไม่ได้ยินคำสั่งนั้น อาจทำให้เด็กมีทัศนคติในแง่ลบกับคุณพ่อคุณแม่ได้

11. ควรให้คำชมเมื่อลูกปฏิบัติตามคำสั่ง

และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และไม่ควรให้รางวัลเป็นสิ่งของบ่อยๆ จะทำให้เด็กเสียนิสัย เวลาบอกให้ทำอะไรอาจสร้างเงื่อนไข หรือมีข้อแลกเปลี่ยนตามมาได้

12. การออกคำสั่ง ไม่ควรนำความรักมาเป็นเครื่องต่อรองกับลูกบ่อยเกินไป

เช่น ถ้าทำแบบนี้ แม่ไม่รัก พ่อไม่รัก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกแย่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้

ดังนั้น สงครามเล็กๆ ระหว่างพ่อแม่ และลูกจะไม่เกิดขึ้น ถ้าการพูด หรือการออกคำสั่งเป็นไปด้วยท่าที และน้ำเสียงที่น่าฟัง ซึ่งคงไม่มีใครอยากทำตามคำสั่งที่พูดด้วยอารมณ์รุนแรง หรือใช้คำพูดที่สะเทือนใจอย่างแน่นอน

 อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


 ขอบคุณข้อมูลจาก:  www.manager.co.th