AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แพทย์เผย! เด็กไทย ชอบแกล้งเพื่อน ติดอันดับ 2 ของโลก!

ลูก “ชอบแกล้งเพื่อน” หรือเปล่า? เช็คให้ดี หลังแพทย์เผย เด็กไทยขึ้นชื่อ ติดเป็นอันดับ 2 ของโลก!

 

 

คุณพ่อคุณแม่คะ เคยมีคุณครู เพื่อนลูก หรือญาติพี่น้องมาฟ้องกันบ้างไหมคะว่า ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ยกตัวอย่างเช่น ชอบแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น

อาจจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่เด็กทะเลาะกัน แกล้งกันที่โรงเรียนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร แต่ทราบหรือไม่คะว่า พฤติกรรมดังกล่าวนั้น สามารถส่งผลกับตัวเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสภาพจิตใจ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะมาขอนำเสนอเรื่องนี้กัน พร้อมกับข่าวที่อาจจะทำให้พ่อแม่อย่างเรารู้สึกตกใจ!

อ่านต่อ >> เนื้อหาเพิ่มเติม ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ

 

 

ข่าวที่ทีมงานนำมาเสนอวันนี้นั้น เป็นข่าวจาก กรมสุขภาพจิต โดยนายแพทย์บุญเรื่อง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยว่า “เด็กไทยนั้นติดอันดับชอบรังแกกันเอง มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จนติดเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ จากผลสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนนักเรียนถูกเพื่อนรังแกสูงถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ ร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก

โดยนายแพทย์บุญเรือง ได้กล่าวถึงสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกรังแก และเด็กที่เป็นฝ่ายรังแกว่า “การรังแกกันเป็นจุดเริ่มต้นการถูกปลูกฝังเรื่องความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย มีผลในระยะยาวฝ่ายที่ถูกรังแก มักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ส่วนคนที่รังแกคนอื่นจะนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว”

ด้าน แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เด็กกลุ่มเสี่ยงถูกรังแกมากที่สุดคือ เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เด็กพิการ และเด็กเพศทางเลือก เนื่องจากมีรายงานการถูกรังแกมากที่สุด ส่วนเด็กที่รังแกผู้อื่น พบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช อาทิ สมาธิสั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข”

พร้อมกับกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้สถาบันฯ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย เน้นที่กลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อน การพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้

อ่านต่อ>> 3 วิธีแก้ไข เมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง


เครดิตภาพและเนื้อหาข่าว: มติชน

 

 

ทำอย่างไร เมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง?

1. สังเกตพฤติกรรมของลูก เด็กบางคนหากโดนเพื่อนแกล้งมา ก็อาจจะไม่บอกพ่อกับแม่ เพราะกลัวโดนดุ ผิดกับเด็กหลาย ๆ คนที่ไม่บอกอะไรเลย ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเลยก็คือ สังเกตดูลูกของตัวเองค่ะว่า พวกเขามีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เงียบ ซึม งอแงไม่อยากไปโรงเรียน รวมไปถึงการสังเกตร่างกายของลูกว่า มีแผลฟกช้ำ หรือมีแผลอะไรบ้างหรือไม่

2. พูดคุยกับลูก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตตามข้อ 1 แล้วเห็นว่า ลูกมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไปแล้วจริง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ ค่อย ๆ พูดคุยกับลูกค่ะ ถามด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่ใจเย็น ไม่เกรี้ยวกราด เพราะความโกรธจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกลัว และไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวโดนดุ

3. เป็นที่ปรึกษาที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่ทราบความจริงแล้ว ให้แนะนำลูกถึงวิธีการเอาตัวรอด และการรู้จักให้อภัย ด้วยการชี้แนะว่า เพื่อนอาจจะไม่ได้ตั้งใจ อย่าตอบโต้กลับไปเพราะความโกรธ มันจะยิ่งทำให้เรื่องราวบานปลายไปมากกว่าเดิม

นอกจาก 3 วิธีที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องไปพบกับคุณครูประจำชั้นแบบเงียบ ๆ พร้อมกับพูดคุยถึงเรื่องราวดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการพูดในปแนวที่ว่า ดูแลลูกให้เป้นพิเศษนิดนึงนะคะ แต่ควรเป็นการพูดให้คุณครูได้ทราบถึงเรื่องราวดังกล่าวนี้ต่างหาก

อ่านต่อ >> 3 วิธีการสอนลูกที่ชอบแกล้งเพื่อน

 

3 วิธีรับมือ เมื่อลูกเป็นฝ่าย “ชอบแกล้งเพื่อน” ที่โรงเรียน

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกชอบแกล้งเพื่อนละก็ แนะนำให้ทำตาม 3 วิธีดังนี้ค่ะ

1. สังเกตพฤติกรรมของลูก หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกของตัวเองมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสังเกตเห็นว่า ลูกชอบแกล้งน้อง สัตว์เลี้ยง ญาติพี่น้อง หรือได้ยินคำร้องเรียนมาจากคุณครู หรือพี่น้องละก็ อย่ารอช้านะคะ ให้ปฏิบัติตามข้อ 2 ทันที

2. พูดคุยกับลูก หากคุณพ่อคุณแม่ทราบแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก อย่ารอช้านะคะ ให้รีบถามถึงสาเหตุที่ลูกกระทำเช่นนั้นทันที ซึ่งคำถามที่ถามนั้น ควรเป็นคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ดุดันหรือตำหนิลูก อย่าลืมนะคะว่า เราต้องการความจริงจากพวกเขา เพราะทุกสิ่งที่ลูกหรือทำนั้น ย่อมมีที่มาที่ไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นใจเย็น ๆ ค่ะ ขืนใจร้อนไป ลูกไม่มีทางบอกแน่นอน แถมอาจจะมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้

3. เป็นที่ปรึกษาที่ดี หากลูกบอกถึงสาเหตุแล้วว่า ที่ลูกทำไปนั้น เพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน หรือว่ากลัวลูกไม่รัก คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้านะคะ รีบอาศัยจังหวะนั้น ค่อย ๆ แนะนำพวกเขาว่า มีหลากหลายวิธีมากที่จะทำให้เพื่อนรักเรา ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักแบ่งปัน การเสียสละ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีการแก้ก็คือ การใช้นิทาน เข้าช่วยค่ะ สมัยนี้มีนิทานต่าง ๆ มากมาย ที่จะสอนให้เด็กเป็นคนที่มีจิตใจดี ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลา ลองไปร้านหนังสือ ดูหนังสือนิทานเด็กสักเล่มสองเล่มนะคะ แล้วมาเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน ค่อย ๆ ปลูกฝังพวกเขาไปวันละนิดละหน่อย อีกไม่นาน ลูก ๆ ก็จะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเองค่ะ

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids