คนขี้อวด ขี้โม้ คือหนึ่งในบุคคลที่มีพฤติกรรมสุดยี้! ที่หลาย ๆ คนรังเกียจ แต่จะทำอย่างไรหากลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว!
หนึ่งในพฤติกรรมสุดยี้ที่สังคมส่วนใหญ่มักส่ายหน้าก็คือ พฤติกรรมของ “คนชอบขี้อวดและขี้โม้” นั่นเอง แต่จะเป็นอย่างไร หากลูกของเรามีพฤติกรรมแบบนั้นเสียเอง แน่นอนค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่อยากให้ลูกน้อยที่น่ารักของเราเป็นกันอยู่แล้วใช่ไหมละคะ แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรกันดี กับพฤติกรรมดังกล่าวของลูก วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids มีข้อมูลดี ๆ มีประโยชน์มาฝากกันค่ะ
จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกเสียเท่าไรหรอกค่ะที่จู่ ๆ เด็กน้อยวัยอนุบาลจะลุกขึ้นมาชอบเล่านู่นเล่านี่ว่าบ้านเรามีอย่างนู้นมีอย่างนี้กับเพื่อน ๆ เพราะเด็กวัยนี้เป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น มีความรู้รอบตัวต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญรู้สึกมีความภูมิใจในการเป็นตัวเองที่มากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ต้องนำเรื่องเหล่านั้นออกมาพูด ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะโอเว่อร์เกินจริิงไปบ้างก็ตาม ทีนี้ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเรา จะมาช่วยกันปรับพฤติกรรมการขี้คุยโวของลูกให้ลดน้อยลงหรือให้โม้แบบสมเหตุสมผลกันแล้วละค่ะ
อ่านต่อสาเหตุของการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้โม้และขี้อวด คลิก!
อะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ลูกกลายเป็น “คนขี้อวด”
จริง ๆ แล้วลูกอาจจะไม่เข้าใจก็ได้นะคะว่า อะไรคือการพูดจาโอ้อวด อะไรคือการคุยขี้โม้ แต่ที่ลูกทำไปนั้นเพียงเพราะ สาเหตุใส ๆ ของเด็กวัยนี้เท่านั้น อันได้แก่
- ลูกกำลังอยู่ในวัยช่างพูด ช่างเจรจา อย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นแล้วว่า เด็กวัยนี้เริ่มที่จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เริ่มมองและสนใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญลูกรู้จักเริ่มที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้วด้วย จึงมักที่จะชอบพูดว่า “ของหนูดีกว่า” อยู่บ่อยครั้ง เพราะเขาอยากที่จะเอาชนะและไม่อยากด้อยกว่าคนอื่น ๆ นั่นเองค่ะ
- สภาพแวดล้อมพาไป ยกตัวอย่างเช่น เวลาอยู่ที่โรงเรียน เพื่อน ๆ ในห้องอาจจะชอบแข่งขันกันว่าใครจะเก่งหรือว่ามีของดีที่สุด ทั้งนี้อาจรวมถึงสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วยเช่นกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ญาติพี่น้อง หรือเลียนแบบพฤติกรรมนี้จากคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นได้
- อยากแบ่งปันเรื่องราว บางครั้งลูกก็ไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ลูกพูดนั้นหมายถึงอะไร ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ลูกไปเที่ยวไหนมา ลูกอาจจะเพียงแต่ต้องการเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังในสิ่งที่เจอ จนในบางครั้งการพูดบ่อยหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้ยินได้ฟังไม่เข้าใจ และคิดว่าสิ่งที่ลูกกำลังพูดอยู่นั้น คือการพูดจาโอ้อวด ก็เป็นได้
- อยากเป็นที่ยอมรับ เพราะลูกอยากเป็นที่ยอมรับในสังคมเพื่อน ๆ จึงอยากคุยอยากพูดในสิ่งที่พวกเขามี ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนั้นอาจจะเป็นช่วงที่กำลังฮิตอะไรสักอย่าง ทำให้ลูกยกสิ่งนั้นออกมาพูดบ้าง ซึ่งการพูดนั้น อาจจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความคิดของลูกในตอนนั้น
จะทำอย่างไร เมื่อลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว อ่านต่อได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
4 กลเม็ดปรับพฤติกรรมลูกให้อยู่หมัด
- พูดกับลูกตรง ๆ หากคุณพ่อคุณแม่ได้ยินลูกพูดจาโอ้อวดหรือออกแนวข่มคนอื่นละก็ แนะนำให้พูดกับลูกไปตรง ๆ เลยค่ะว่า สิ่งที่ลูกพูดอาจจะทำให้คนที่เขาได้ยินเสียใจได้ และหนูก็คงไม่อยากให้เพื่อนเสียใจใช่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ลูกมาเล่าให้ฟังว่า วันนี้คุณครูให้ระบายสี และภาพที่ลูกระบายนั้นสวยที่สุด และสวยกว่า (เอ่ยชื่อเพื่อน) เยอะมาก ๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกก็คือ ลูกระบายสีสวยนั้นดีมากเลยละค่ะ แต่คุณพ่อหรือคุณแม่ว่าหนูไม่ควรไปว่าคนอื่นนะจ้ะ เพราะถ้าเพื่อนเขาได้ยิน เขาจะเสียใจ และไม่อยากเล่นกับหนูอีกก็เป็นได้นะจ้ะ
- ใช้วิธียกตัวอย่างให้เห็น ตามเหตุการณ์ในข้อที่แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาสอนและอธิบายลูกเพิ่มเติมในมุมกลับกัน เพื่อให้เขาได้คิด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากหนูได้ยินเพื่่อนว่าหนูแบบนี้บ้าง หนูจะรู้สึกอย่างไรจ้ะ … เสียใจใช่หรือไม่ ดังนั้น ถ้าหากหนูรู้ว่าลูกระบายไม่สวย ทำไมหนูไม่สอนเพื่อนละจ้ะ เป็นต้น
- อย่าทำให้ลูกรู้สึกเสียหน้า ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่หรอกนะคะ ที่ไม่ชอบการถูกหักหน้า เด็ก ๆ ก็เช่นกันค่ะ หากลูกกำลังพูดจาคุยโม้อยู่ละก็ อย่าไปหักหน้าลูกหรือเบรกลูกกลางครันโดยเด็ดขาด เพราะการกระทำนั้น จะเป็นการทำให้ลูกเสียหน้า และสูญเสียความมั่นใจไปเลยก็ได้นะคะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นแน่
- อย่าดุหรือต่อว่าลูก หากลูกว่าลูกพูดเกินความจริง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้คำพูดกับลูกดี ๆ ด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรงและทำร้ายจิตใจค่ะ เพราะนั่นจะเป็นการทำลายทัศนคติเชิงบวกให้กับลูกโดยทันที นอกจากนี้ยังกลายเป็นแผลใจของลูกเลยก็ว่าได้นะคะ
อย่างไรก็ดี หากไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมดังกล่าวแล้วนั้น นอกจาก 4 วิธีที่ได้กล่าวไป การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกนี่ละค่ะ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น หากไม่อยากให้ลูกเป็น ก็จงอย่าทำให้ลูกเห็นกันนะคะ
เครดิต: Health and Trend
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่