สงสัยจัง ทำไมลูกเราถึงตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน เพราะกินนมน้อยไป หรือเป็น โรคเตี้ยในเด็ก กันแน่!
คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านคะ เคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า ทำไมลูกของเราที่กำลังอยู่ในช่วงของวัยกำลังเติบโต แต่แทนที่จะเติบโตสูงใหญ่เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน กลับกลายเป็นว่าลูกตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่น ๆ … สาเหตุ เป็นเพราะอะไร จะใช่กรรมพันธุ์ หรือว่าลูกกินนมไม่มากพอหรือไม่ หรือลูกเป็นโรคอะไรกันแน่ วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมข้อมูลนี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนท่านกันแล้วละค่ะ
จากสถิตินั้นพบว่า เด็กจำนวน 100 คน จะมีเด็กที่ตัวเตี้ยต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ประมาณ 1 – 5 คน และในจำนวนนั้นก็มักจะป่วยเป็นโรคเด็กเตี้ยกันอยู่!
โรคเด็กเตี้ยคืออะไร อ่านต่อ >>
โดยทั่วไปแล้ว การเจริญเติบโตของร่างกายคนเรานั้น สามารถแบ่งได้ด้วยกันทั้งสิ้น 3 ช่วงได้แก่
- ช่วงแรกเกิด จะอยู่ในระหว่าง 0 – 2 ปีจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 30-35 เซนติเมตร
- ช่วงวัยเด็ก จะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-7 เซนติเมตรต่อปี
- ช่วงวัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ จะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8-14 เซนติเมตรต่อปี
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ร่างกายของลูกเติบโตนั้นก็ได้แก่ ยีนหรือพันธุกรรม ฮอร์โมน และอาหารการกิน แต่ถ้าหากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีความสูงน้อยกว่าเกณฑ์มากเกินไป จนดูเหมือนร่างกายแคระแกร็นละก็ งานนี้อาจจะต้องคำนึงถึงโรค ๆ หนึ่งที่เรียกกันว่า “โรคเตี้ยในเด็ก“
โรคเตี้ยในเด็ก คืออะไร?
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเด็กได้กล่าวว่า
โรคเด็กเตี้ยในเด็ก เป็นภาวะหรืออาการแสดง ที่ทำให้เห็นว่าเด็กคนนั้นตัวเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเตี้ยมีหลายประการทั้งจากพันธุกรรม และจากโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตหรือเรียกกันว่า โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)
ซึ่งโกรทฮอร์โมนที่ว่านี้ เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง หากต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโต ก็จะทำให้ระดับการเจริญเติบโตของเด็กต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และสาเหตุที่ทำให้ต่อมนี้ทำงานผิดปกตินั้น อาจเป็นพันธุกรรมบางอย่างหรือมีก้อนเนื้อไปกดทับ จึงทำให้ต่อมใต้สมองไม่สามารถทำงานได้
อะไรคือสาเหตุ … คลิก!
สาเหตุของโรค
สาเหตุของโรคเตี้ยในเด็กนั้น เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ แต่ที่พบบ่อย ๆ นั้นมีด้วยกัน 2 ชนิดด้วยกันคือ
- ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวช้า กรณีนี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอยู่ในประวัติที่ครอบครัวนั่นคือ คุณพ่อคุณแม่เป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ หรือมีประจำเดือนครั้งแรกช้า หรือตอนที่คุณพ่อคุณแม่ยังเด็กนั้น ตัวเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน
- ภาวะเตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุ สำหรับกรณีนี้สามารถพบได้บ่อยค่ะ โดยส่วนมากแล้ว คุณพ่อคุณแม่นั้นคนใดคนหนึ่งเตี้ย ทั้งนี้รวมไปถึงคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายเตี้ยด้วยเช่นกันนะคะ ซึ่งเป็นที่บ่งชี้แน่นอนเลยว่า เป็นภาวะเตี้ยอันเกิดจากกรรมพันธุ์นั่นเอง แต่ถ้าหากคนในครอบครัวนั้น ไม่มีใครเตี้ยเลย แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็พาลูกไปตรวจหาภาวะที่ผิดปกติแล้วไม่เจอ อาจเป็นไปได้ว่า อัตราความสูงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีของลูกนั้น อาจจะช้ากว่าคนอื่น ๆ มากนั่นเองค่ะ
สำหรับวิธีการรักษาทางการแพทย์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุการเตี้ยของลูกนั้นเกิดจากอะไรค่ะ โดยวิธีการที่นิยมนั้นคือ การฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือโกรทฮอร์โมน การให้ยาหยุดความหนุ่มสาว และการให้ไทรอยด์ฮอร์โมนหรือการให้วิตามินดี เป็นต้น
นอกจากนี้การรักษาภาวะเด็กเตี้ยนั้น ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นนะคะ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าหากพบเห็นความผิดปกติของลูกหรือสงสัยว่าลูกอาจจะเป็นโรคดังกล่าว อย่ารอช้าค่ะ … สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้เลย
ขอบคุณที่มา: Rabbit Finance และ สสส.
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- อยากให้ลูกมีพัฒนาการดี พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้ให้กับลูก!
- ลูกพัฒนาการช้า โรคพ่อแม่ทำหรือ เวรกรรมของลูก!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่