AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Terrible Threes วายร้าย 3 ขวบ กับวิธีรับมือ!!

วายร้าย-3-ขวบ

Terrible Threes วายร้าย 3 ขวบ พฤติกรรมดื้อๆ ของลูกที่ทำเอาพ่อแม่แทบลมจับกันได้ง่ายๆ นั่นเป็นเพราะว่าลูกวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการของเด็กเล็กมากขึ้นกว่าในช่วง 1-2 ขวบที่ผ่านมา เขาจะสนใจตัวเอง อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม ไม่สน ไม่เชื่อฟัง ก็หนูจะเอา จะทำแบบนี้ ใครจะทำไม!! ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาให้ทุกครอบครัวได้ทราบกันค่ะ

 

 Terrible Threes วายร้าย 3 ขวบ

มีเพื่อนๆ ของผู้เขียนบ่นให้ฟังว่าลูกๆ กำลังเข้าสู่ช่วง Terrible Threes วายร้าย 3 ขวบ ได้ยินแบบนี้เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนอาจ คิดในใจว่าเด็กตัวเล็กๆ แค่เนี่ยจะเป็นวายร้ายประจำบ้านได้เลยเชียวเหรอ ขอบอกเลยว่าร้ายยิ่งกว่าตอนอายุ 2 ขวบอีกค่ะ คือ ถ้าพ่อแม่ที่ยังไม่เจอกับตัวอาจไม่เข้าใจว่าอะไรคือลูกเป็นวายร้าย แล้ว Terrible Threes คืออะไรกันนะ งงจริงๆ…

Credit Photo : Shutterstock

ครอบครัวไทยอาจไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า Terrible Threes แต่ถ้าพ่อแม่คนฝรั่งจะเข้าใจกันเป็นอย่างดีเลยละค่ะ

เมื่อรวมสองคำนี้เข้ากันจะเรียกว่า แทริเบิล ทรี (Terrible Threes) และคำนิยามที่ได้ คือ การแสดงออกของเด็กที่แผลงฤทธิ์  ต่อต้าน ดื้อสุดๆ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงที่เด็กๆ อายุได้ 2 ขวบแล้วค่ะ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปจะ เรียกว่าช่วงวายร้าย 2 ขวบ(Terrible Twos) จริงๆ แล้วพฤติกรรมแบบนี้ในเด็กบางคนอาจเริ่มเป็นตอนอายุ 4-5 ขวบ หรือไม่ก็เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่แรกเลยก็มีค่ะ  และถ้าจะให้ดีพ่อแม่ต้องรู้วิธีจัดการและรับมือกับลูกให้ได้ เพื่อที่พฤติกรรมดื้อสุดๆ เอาแต่ใจแบบสุดขั้วนี้จะได้ไม่ติดตัวลูกไปจนโตค่ะ

ลูก 3 ขวบแล้ว เขาเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ดีมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พ่อแม่บอกห้ามทำนั่นนี่ ห้ามกินขนมแบบนั้น ห้ามไปเล่นตรงโน่น ลูกอาจมีความลังเลใจอยากทำ อยากเล่น อยากกิน ฯลฯ ก็กลัวที่ถูกห้ามปรามไว้ เลยจดๆ จ้องๆ ทำดีไม่ทำดี แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกเข้าสู่ช่วงวัย 3 ขวบ “หนูจะลอง หนูจะทำ ไม่เชื่อ ไม่ฟังที่ถูกห้ามแล้วนะ!!” มีความท้าทายพ่อแม่อยู่ไม่น้อย  ไปดูกันสักนิดค่ะว่า ความไม่ยอมของลูกแบบสุดขั้ว จนทุกคนในบ้านต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือวายร้าย 3 ขวบชัดๆ เลยนะเนี่ย มีอะไรกันบ้าง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายบ้านอาจเจอลูกดื้อ ซน แผลงฤทธิ์หนักกว่านี้อยู่ก็ได้ใช่ไหมคะ…

อ่านต่อ พฤติกรรมต่อต้านของวายร้าย 3 ขวบ หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

พฤติกรรมต่อต้านของเจ้าวายร้าย 3 ขวบ

ความดื้อสุดๆ ของลูกที่ทำให้พ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้างที่ช่วยเลี้ยงดูอาจปวดหัวขั้นสุด จนอยากจะจับให้ลูกนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่หลายๆ ชั่วโมงได้เลยยิ่งดี อาจเป็นไปได้ยากสำหรับเด็กวัยนี้ค่ะ

1. พูดเก่งจนลิงหลับ

ตอนลูก 2 ขวบว่าพูด ถามเก่งแล้ว มาเจอตอน 3 ขวบพ่อแม่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ เพราะถ้าเจ้าตัวเล็กอยู่ด้วย เขาจะถาม ทุกเรื่องที่เห็น ที่สงสัยว่านั่นคืออะไร สิ่งนี้เรียกว่าอะไร ทำไมต้องสีเขียว ทำไมรถวิ่งได้ หมาแมวเหมือนกันไหม พ่อไปไหน  แม่ไปไหน หนูอยากกินแต่ไข่เจียว ไม่ชอบกินข้าว ขอดื่มน้ำนมอย่างเดียว ฯลฯ และอีกสารพัดคำถามที่พรั่งพรูออกมา พูด เป็นต่อยหอยชนิดที่ว่าลิงหลับเลยละค่ะ

ผู้เขียนจำได้ว่าตอนหลานชายอายุได้ 2-3 ขวบ นั่งรถไปเที่ยวด้วยกัน คนอื่นในรถง่วงจะหลับ แต่เจ้าหลานชายพูดไปตลอด ทาง ไม่ง่วงไม่นอนเลยสักนิด ช่างถือเป็นเพื่อนตอนขับรถที่ดีมากจริงๆ ค่ะ (เหรอ!!??)

2. ร้องไห้สุดโอเวอร์

ขอใช้คำนี้ค่ะ เด็กบางคน(อย่างลูกเพื่อน) ตอนนี้อยู่ในช่วง 3 ขวบอยู่หลายคน ก่อนหน้านี้ที่ว่าร้องไห้ไม่มีเหตุผลแล้ว มาเจอ ตอนนี้อาการยิ่งหนัก ดราม่าได้รางวัลตุ๊กตาทองกันเกือบทุกคนเลยค่ะ ^_^ ขนาดพ่อแม่ยังงงว่าลูกร้องไห้หนักมากแต่ไม่มี น้ำตาสักหยด คือบางครั้งเด็กเล็กวัยนี้อยากได้อะไรก็จะต้องเอาให้ได้ ลงไปร้องดิ้นกับพื้นให้พ่อแม่ขายหน้านอกบ้านกันอยู่ บ่อยๆ แล้วยิ่งถ้าพ่อแม่ตัดบทตามใจลูกเขาก็จะทำแบบนี้ทุกครั้งที่อยากได้ของเล่น เสื้อผ้า ขนม ฯลฯ  ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ ส่งเสริมลูกให้มีพฤติกรรม อารมณ์เอาแต่ใจตัวเองด้วยการเล่นบทโศกตีหน้าเศร้าร้องไห้สุดโอเวอร์ แถมบางทีมีกรี๊ดๆๆๆ  จนบ้านแทบแตกด้วย พ่อแม่ต้องไม่ตามใจ และหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในช่วงเวลาที่ลูกแสดงพฤติกรรม แผลงฤทธิ์แย่ๆ แบบนี้ ออกมา

ถ้าลูกเริ่มทำ ให้เดินหนีออกจากลูก ไปแอบดูอยู่ห่างๆ แล้วปล่อยให้เขาร้องไห้ไป คือเด็กเมื่อร้องไปสักพัก แล้วเห็นว่าพ่อแม่ ไม่สนใจในสิ่งที่เขาแสดงออกเพื่อเรียกร้อง คือทำไปยังไงก็ไม่ได้ดั่งใจแน่ๆ เขาก็จะเรียนรู้และค่อยๆ หยุดทำไปได้ในที่สุด ค่ะ

3. เลือกกินสุดๆ

จำได้ว่าช่วงที่เริ่มอาหารเสริมไปจนถึงตอน 1-2 ขวบ ลูกก็ยังกินได้อร่อยตามที่แม่ทำอาหารให้กิน ไม่ค่อยจะเลือกกินสักเท่าไหร่ คือจริงๆ กับเด็กบางคนที่เมื่ออายุครบขวบ อาจมีการต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ว่าไม่อยากกินนั่นนี่ แต่แม่ก็จัดการได้อยู่หมัดจนลูกยอมกินจนหมด ว่าแต่ทำไมพอเข้า 3 ขวบ ความชัดเจนว่าไม่ชอบผัก ไม่ชอบปลา ชอบอมข้าว ขอแต่จะกินไข่เจียว ไก่ทอด ต้มซุปต้องไม่ใส่ต้นหอม และอีกสารพัดความเลือกกินขั้นสุด ที่ทำเอาแม่ๆ ปวดหัวกันยกใหญ่เลยค่ะ

เด็กวัยนี้เขาเริ่มที่จะรับรู้สัมผัสถึงรสชาติอาหารได้มากยิ่งขึ้น เขารู้ว่าตัวเองชอบทานอาหารรสชาติ มีกลิ่นแบบไหน อันไหนคือผักที่ไม่ชอบ เนื้อสัตว์แบบไหนที่ถูกใจรสชาติเข้าลิ้น เขาก็จะเลือกขอกินแต่อาหารที่ชอบ บางทีก็จะขอทานอาหารเมนูซ้ำๆ ถ้าแม่ไม่ทำให้ก็ไม่ยอมกินข้าว คือเชื่อว่าแม่ๆ ส่วนใหญ่ใจอ่อนตามใจลูก เพราะกลัวลูกไม่กินข้าวแล้วจะขาดสารอาหาร ไม่สบาย

บทความแนะนำ คลิก >> Terrible two วัย 2 ขวบ มารู้จักกับลูกวัยนี้กัน

การตามใจลูกที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้ มีแต่จะยิ่งทำให้ลูกได้ใจ และเสียนิสัย  แนะนำว่าพ่อแม่ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของลูก อย่าให้ในสิ่งที่ลูกเรียกร้องจนมากเกินไปค่ะ

อ่านต่อ 5 วิธีจัดการลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง พฤติกรรมวายร้าย หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5 วิธีจัดการลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง พฤติกรรมวายร้าย

การปรับเปลี่ยนอารมณ์ดื้อสุดขั้ว พฤติกรรมแย่ๆ ไม่เชื่อฟังอะไรเลย ที่ลูกแสดงออกมาในช่วง 2-3 ขวบ กับภาวะที่เรียกว่า แทริเบิล(Terrible) เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกันอย่างมาก และเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจลูกๆ ลองดูวิธีจัดการแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น กันตามนี้ค่ะ…

1. หลีกเลี่ยงพูดคำว่า “ไม่” กับลูก

เด็กวัยนี้จะมีความดื้อ และพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่ คนรอบข้างอยู่มากพอสมควร และทุกครั้งที่เขาอยากจะทำอะไร อยากลองเล่น ลองกิน อยากเดินขึ้นลงบันไดด้วยตัวเอง ฯลฯ พ่อแม่มักหยุดลูกด้วยคำว่า “ไม่นะ ไม่ได้ ไม่ให้ทำ” เป็นต้น คือพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกที่เพิ่งอยู่ในวัย 3 ขวบ เขายังไม่เข้าใจเหตุผลจริงๆ หรอกว่า ไม่ ที่แม่พูดบ่อยๆ กับเขานั้นหมายความว่าอย่างไร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเมื่อยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุให้ลูกอยากรู้ อยากลองมากขึ้น จึงทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าลูกกำลังท้าทาย เพราะห้ามอะไรก็ไม่เคยที่จะฟังกันเลย

ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือพูดให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผลที่เขาพอเข้าใจได้ เช่น เมื่อลูกหยิบเอาของใช้ส่วนตัวคุณแม่มาเล่น แนะนำว่าให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการหาของเล่นอื่นที่เขาชอบมาเปลี่ยนให้ใหม่ แทนการพูดดุว่าไม่ให้เล่นเพียงอย่างเดียว การไม่ให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงเล่นของใช้แม่ไม่ได้ จะยิ่งทำให้ลูกอยากเล่นเข้าไปอีก และไม่ยอมปล่อยมือจากของที่หยิบมาเล่นค่ะ รวมทั้งในครั้งต่อๆ ไปลูกก็จะแอบไปหยิบเอามาเล่นอีกได้ค่ะ

2. อย่าเอาชนะกัน

เชื่อว่าหลายบ้านเลยที่มีลูกวัยนี้แล้วมีพฤติกรรมชอบลงไปนอนกรีดๆๆ อยู่กับพื้นเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ แล้วยิ่งตอนพาไปเที่ยว  เดินเล่นนอกบ้าน ไปห้าง ไปสวนสัตว์ ถ้าเห็นแล้วอยากได้ของเล่นสักชิ้น ถ้าพ่อแม่ไม่ซื้อให้ ก็ประท้วงด้วยการร้องไห้เสียง  ดัง แถมกรีดดังให้คนมองจนพ่อแม่นี่อายเลยก็มีค่ะ

พฤติกรรมและอารมณ์แบบนี้ของลูก ทำให้แม่ๆ ส่วนใหญ่มักเก็บอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ คือโมโหดุใส่ลูกตรงนั้นเลยก็มี ลูกกับ  แม่แรงใส่กัน มีแต่พังค่ะ แนะนำว่ากับเด็กอายุแค่ 3 ขวบ เขายังไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมตัวเองได้ พอมีคนขัดใจก็ยิ่งแสดง  พฤติกรรมไม่น่ารักออกมา ถ้าลูกเป็นแบบนี้ให้เดินเลี่ยงออกมาจากลูก แล้วมองดูเขาอย่าให้คลาดสายตา พอเขาเห็นว่าแม่   หรือใครๆ ก็ไม่สนใจในสิ่งที่เขาเรียกร้องและแสดงอาการแย่ๆ ออกมา เดี๋ยวลูกก็จะค่อยๆ หยุดทำ และสงบลงค่ะ เมื่อลูก เงียบแล้ว อารมณ์แม่ก็เย็น ทีนี้ก็ค่อยๆ พูดอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไม่ถึงไม่ซื้อของเล่นให้ ซึ่งอาจบอกได้ว่า “ที่บ้านก็มีของเล่น  แบบเดียวกันนี้ แล้วลูกก็ยังไม่ได้เอาออกมาเล่น ถ้าลูกอยากได้อยากเล่น แม่จะพากลับบ้านไปเล่นของเล่นด้วยกันดีกว่านะคะ”

บทความแนะนำ คลิก >> 4 วิธีปราบลูกดื้อ วางอำนาจ เอาแต่ใจ จากนักจิตวิทยาต่างประเทศชื่อดัง (มีคลิปเหตุการณ์จริง)

3. ชื่นชม ให้กำลังใจลูกบ่อยๆ

เด็กๆ ช่วงแทริเบิล ทูส์-ทรี จะมีอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ บางทีก็ออดอ้อนแม่ พูดจาน่ารัก เมื่อเด็กทำดี หรือพูดจาดี รู้จักขอโทษ  พ่อแม่ควรให้คำชมลูกบ่อยๆ กอดลูก และบอกรักบ่อยๆ เพื่อให้ลูกมีกำลังใจทำดีในทุกวัน1

4. ฝึกลูกให้ควบคุมอารมณ์ด้วย Time Out

คือการ ขอเวลานอก หรือการหยุดพักชั่วคราว เป็นวิธีการจัดการกับลูก ที่นำมาจากทฤษฎีที่วิจัยกันมาแล้วว่า ช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กได้ เมื่อเด็กมีอารมณ์โกรธ หรือเอาแต่ใจ ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เชื่อฟัง เด็กควรรู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาการใช้วิธี Time Out ใช้ในเวลาที่เหมาะสม และใช้อย่างถูกต้อง เพื่อสร้างสื่อที่ตรงกันกับลูก2

5. ฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ

ในช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นกิน นอน ขับถ่าย เล่น แปรงฟัน กิจวัตรประจำวันที่ลูกต้องทำ ควรจัดให้ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ เช่นกินข้าวแต่ละมื้อตรงเวลา นอนตรงเวลา เวลาเล่น เวลาแปรงฟัน เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง และรับรู้ว่าเวลานั้นๆ เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอะไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีความอดทนในการช่วยส่งเสริมให้ลูกด้วย ถึงประสบผลสำเร็จ3

วายร้าย 3 ขวบ พฤติกรรมและอารมณ์แบบดื้อ ต่อต้านแบบสุดขั้วลูกดูแล้วไม่น่ารักเลยใช่ไหมคะ ดังนั้นพ่อแม่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้ลูกกันด้วยนะคะ อย่าปล่อยเลยผ่าน เพราะเมื่อลูกโตขึ้นอาจไม่สามารถช่วยและแก้ไขได้ทันการณ์ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่นิสัยเสีย อยู่ร่วมกับใครก็ไม่ได้ เอาเป็นว่าสังเกตลูก และแก้ให้ตรงจุดแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

สร้างวินัยเชิงบวก ให้ลูก ป้องกันลูกดื้อ ด้วยเทคนิคง่ายๆ จากหมอ!
4 วิธีปราบลูกดื้อ วางอำนาจ เอาแต่ใจ จากนักจิตวิทยาต่างประเทศชื่อดัง (มีคลิปเหตุการณ์จริง)

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1,2,3www.ceediz.com
magazine.orami.co.th