AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกไม่เชื่อฟัง 6 เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ ทำให้ลูกเชื่อ

ลูกไม่เชื่อฟัง

หาก ลูกไม่เชื่อฟัง พ่อแม่ละก็ ต้องแก้ไขด้วย 6 เคล็ดลับนี้ … รับรองงานนี้ไม่ต้องพูดหลายรอบ

 

เหนื่อยหรือยังคะ กับการที่ต้องพูดซ้ำหลาย ๆ รอบกว่าลูกจะยอมฟัง ถ้าเหนื่อยแล้วละก็วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้รวบรวม 6 เคล็ดลับที่ไม่ลับมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คนกันค่ะ ซึ่งบอกเลย งานนี้รับรองไม่จำเป็นที่จะต้องพูดหลายรอบ เพราะแค่รอบเดียวพวกเขาก็ยอมทำตามโดยง่ายแล้วละค่ะ

และวิธีการส่วนใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้พูดกับลูกนั้น มีผลต่อการเรียนรู้และความสามารถที่ลูกจะฟังเราเป็นอย่างมากเลยละค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกทำตาม ดังนั้น วิธีการที่เราจะใช้พูดกับลูก ๆ นั้นส่วนใหญ่แล้วก็มักหนีไม่พ้น 3 ประเภทนี้คือ

ลูกไม่เชื่อฟัง

3 วิธีที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมใช้พูดกับลูก

1. วิธีรุนแรง บางครอบครัวนิยมใช้คำพูดกับลูกด้วยถ้อยคำรุนแรงก่อน เพราะคาดหวังว่า ถ้าทำเช่นนั้นไปลูกต้องรู้สึกกลัวและทำตามแน่นอน … แต่หารู้ไม่ค่ะว่า การที่คุณพ่อแม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงนั้น ลูก ๆ จะตอบโต้ด้วยพฤติกรรมนิ่ง ไม่ฟัง และไม่สนใจ หรือบางทีอาจจะรู้สึกกลัวจนลนลาน ทำตัวไม่ถูก สุดท้ายแล้วก็ไม่ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่พูดอยู่ดี

2. วิธีการสื่อสารแบบไม่โต้ตอบ ดูผิวเผินแล้วคุณพ่อคุณแม่ที่นิยมใช้วิธีนี้มักจะดูอ่อนโยน และนิยมที่จะใช้คำเตือนลูกด้วยคำพูดนิ่ง ๆ ช้า ๆ แต่ถ้าลูกเกิดไม่ยอมฟังขึ้นมาละก็ คุณพ่อคุณแม่ก็จะฟิวส์ขาดทันที เมื่อถึงขีดสุด ก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเป็นแบบรุนแรงทันที

3. วิธีสื่อสารกับอย่างเหมาะสม คือ วิธีที่พ่อแม่ใช้สื่อสารกับลูกอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสื่อสารกับเด็ก เพราะหนักแน่น มั่นคง ชัดเจน ใช้ทางบวก อบอุ่นและมั่นใจในตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะเฉพาะตัวค่ะ และต้องอาศัยความอดทนและการฝึกฝนอีกด้วย แน่นอนว่าวิธีนี้นอกจากจะให้ลูกเชื่อฟังได้แล้ว ลูกมีอะไรก็อยากที่จะบอก

จากวิธีที่ได้กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่า วิธีที่ 1 และ 2 นั้นดูเหมือนจะไม่ได้ผล และก็เป็นวิธีที่พวกเรานิยมใช้กันเสียด้วยสิ ส่วนวิธีที่ 3 นั้นก็เหมือนกับจะใช้ได้ผล แต่ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนตัวเองให้นิ่งพอสมควร แล้วแบบนี้จะมีเคล็ดลับอะไรได้บ้างนั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

อ่านต่อ >> 6 เคล็ดลับ พูดแล้วทำให้ลูกเชื่อ

 

6 เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่หาก ลูกไม่เชื่อฟัง

  1. พยายามทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ หลีกเลี่ยงการบอกให้ลูกทำทุกอย่างในครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น ตื่นเช้ามาเดี๋ยวรีบแปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัว เสร็จแล้วรีบกินข้าว อย่าลืมหยิบกระเป๋ารองเท้า เอาขึ้นรถให้เรียบร้อยด้วย … สำหรับผู้ใหญ่เองฟังดู อาจง่ายใช่ไหมล่ะคะ   แต่สำหรับเด็ก ๆ การที่เราบอกให้พวกเขาทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันนั้น ทำได้ค่ะ แต่จะให้ลูกทำให้ครบนั้นมันยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นลูกเล็กด้วยแล้ว ดังนั้น ค่อย ๆ บอกเขาค่ะ อาจจะเป็นเชิงคำถามคำตอบว่า ตื่นเช้ามา หนูต้องทำอะไรบ้างจ้ะ แปรงฟัน เสร็จแล้วต้องทำอะไรต่อ ทั้งนี้ลูกก็จะค่อย ๆ จำ  ทบทวนและค่อยๆ บอกและค่อยๆ ทำเอง เท่ากับเป็นการฝึกให้พวกเขาเรียงลำดับความสำคัญได้ไปในตัว
  2. เลือกใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ และพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “อย่า”   “ไม่”  “ห้าม” ที่สำคัญที่สุดพยายามหลีกเลี่ยงคำพูดตำหนิติเตียน เช่น “ลูก..โตป่านนี้แล้วยัง…”   หรือ   “แม่อายคนอื่นจริง ๆ ที่ลูกทำอย่างนี้” การใช้ภาษาพูดเหล่านี้ลูกจะยิ่งไม่มีทางเชื่อฟังเราเลยค่ะ   ดังนั้น ควรใช้คำพูดในเชิงบวกกับพวกเขามากกว่า เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองและมีความสุขแล้วยังช่วยให้เขามีพฤติกรรมดีขึ้น และยอมฟังคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายขึ้นอีกด้วยค่ะ
  3. ใช้คำถามเป็นการเปิด หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกคิดหรือเปิดใจ ควรใช้คำถามในการเปิดบทสนทนา ด้วยการถามคำถามที่ให้ลูกได้คิดและพูดความในใจออกมา ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะถามว่า “ไปเที่ยวงานวันเกิดเพื่อนมา สนุกไหม” ควรถามลูกว่า ” ไปงานวันเกิดเพื่อนมา ลูกคิดว่าอะไรน่าประทับใจที่สุด” เป็นต้น
  4. พยายามสบตาลูก เพราะดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ดังนั้น การที่เราจะพูดกับลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรมองตาลูกไปด้วย แต่ต้องเป็นดวงตาที่มุ่งมั่นที่จะรับฟังและอ่อนโยน แทนการทำดวงตาที่ดุใส่ลูกนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะเริ่มต้นพูดคุย คุณพ่อคุณแม่ควรสบตาเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารกับลูก  อาจจำเป็นต้องก้มลงหรือนั่งลงเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับลูก ไม่เพียงแต่เป็นมารยาทที่ดีแต่ยังช่วยให้เด็กและพ่อแม่ฟังซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะบอกกล่าวอะไร พ่อแม่ควรเรียกชื่อลูกก่อนจนลูกเริ่มหันมาสบตา ช่วยให้ลูกพร้อมและตั้งใจที่จะฟังมากขึ้นได้ค่ะ
  5. หลีกเลี่ยงการบ่น หากคุณพ่อคุณแม่พบเห็นว่าลูก รื้อของเล่นเลอะเทอะและไม่ยอมเก็บละก็ แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดว่า “รื้อออกมาเล่นแล้วทำไมไม่เก็บ” ก็ให้เปลี่ยนเป็น “เล่นของเล่นสนุกไหมจ้ะ เล่นเสร็จแล้วเก็บของเล่นเข้าที่เรียบร้อยแล้วหรือยังเอ่ย” เป็นต้น
  6. เป็นตัวอย่างที่ดี การที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกรับฟังในสิ่งที่เราบอกลูกนั้น เราจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นก่อนว่า เวลาที่พวกเขาขอร้องหรืออยากให้เราทำอะไรให้ เราเป็นผู้ฟังที่ดีแล้วหรือยัง ถ้ายังลองทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างดูสิคะว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม หากลูกเรียกหรือขอร้องให้ทำ เรามักที่จะให้ความสำคัญและทำตามสิ่งที่พวกเขาขอเป็นอย่างแรก

หากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำตาม 6 ข้อนี้ได้ละก็ การที่จะทำให้ลูกหันมาเชื่อฟังในสิ่งที่เราพูดนั้นก็ไม่ยากค่ะ   คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ไม่ต้องพูดหรือสั่งให้ลูกทำอะไรซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบให้ต้องเหนื่อยอีกแล้วละค่ะ

เครดิต: Parents

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids