คนแปลกหน้า หมายถึง คนที่เด็กไม่เคยรู้จักมาก่อนในฐานะญาติพี่น้อง ครู เพื่อนเล่น เพื่อนบ้าน และอาจจะเป็นคนต่างประ เทศที่มีความแตกต่างจากคนไทยทั้งลักษณะรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ภาษาและกิริยาท่าทาง
ทั้งนี้ สภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีผลให้ผู้คนในสังคมโลกติดต่อ สื่อสารและเดินทางไปมาระหว่างประเทศกันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ในแต่ละวัน เด็กปฐมวัยจึงได้พบปะผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก หรือคนแปลกหน้าเสมอ บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นทั้งมิตรและไม่ใช่มิตรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องสอนเด็กให้รู้จักแยกแยะคนแปลกหน้า
พ่อแม่ควรสอนเรื่องคนแปลกหน้าให้ลูกได้อย่างไร?
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องคนแปลกหน้า ทั้งเรื่องที่เด็กควรเรียนรู้ สังคมรอบตัว และภัยที่อาจจะได้รับจากคนแปลกหน้า สังคมรอบตัวที่เด็กจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น ควรเกี่ยวกับการมีบุคคลอื่นเข้ามาอยู่ในชุมชนเรามากขึ้น เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมีการติดต่อกับคนทั่วโลก เด็กจะต้องรู้จักคนอื่นเพิ่มขึ้นซึ่งมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เด็กต้องเรียนรู้จากการสอนของผู้ใหญ่ ให้สังเกตที่จะแยกแยะคนแปลกหน้า และใช้วิธีสอนแบบให้คิดเชิงเหตุผล (ฟังดูยากนะคะ) เด็กปฐมวัย วัยนี้เด็กๆ จะใช้เหตุผลจากสิ่งที่พบเห็นหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ การสังเกต การเปรียบเทียบ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องคนแปลกหน้าให้ได้ดีในจุดหนึ่งด้วย
แนวทางการสอนและจัดกิจกรรมของพ่อแม่ที่ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากคนแปลกหน้ามีดังนี้
ซึ่งอันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกๆ จำชื่อ นามสกุลของตนเองและของพ่อแม่ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของพ่อแม่ให้ได้ตลอดจนเบอร์ฉุกเฉิน
- ฝึกให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ด้วยวิธีการเล่นเกมต่างๆ ฝึกให้ลูกๆบรรยายรายละเอียดของคน เช่น คนนี้มีผม ผิว สีอะไร สวมเสื้อสีอะไร ฯลฯ จะเป็นพื้นฐานให้จดจำรายละเอียดของคนแปลกหน้าได้
- กรณีที่เด็กเล็กๆมาก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ เช่น การอุ้มเด็กเล็ก การดูแลเด็กที่หลับสนิทต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่เท่านั้น ไม่ควรฝากคนอื่นที่ไม่รู้จักหรือรู้จักผิวเผินให้อุ้มเด็ก เพราะเคยมีกรณีที่คนไม่รู้จักอุ้มเด็กหนีหายไปเลย
- ฝึกให้ลูกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น ที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง หากมีคนมาเคาะประตูบ้าน เด็กจะต้องไม่พูดโต้ตอบ ไม่เปิดประตู ให้คนแปลกหน้าเข้าใจว่าบ้านไม่มีคนอยู่ ดีกว่ารู้ว่าเด็กอยู่ตามลำพัง
- สร้างกฎของครอบครัว อาจจะตั้งรหัสลับของครอบครัว เช่น ให้พูดคำว่า “ปวดหัว” เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรืออยู่ในภาวะคับขันและต้องการความช่วยเหลือ อีกตัวอย่างหนึ่งคือถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้บุคคลอื่นไปรับลูกไม่ว่าจะเป็นหลังโรงเรียนเลิกหรือจากเลิกเรียนพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อาจจะตั้งรหัสลับกับลูกๆ เช่น ให้ลูกสอบถามกับบุคคลที่มารับลูกว่า “รหัสอะไร” ถ้าตอบไม่ได้หรือตอบไม่ถูก ก็ควรจะจะสอนลูกในขั้นตอนต่อไปว่าควรทำตัวอย่างไร เช่น ให้ไปแจ้งคุณครู ให้ลูกโทรหาคุณพ่อคุณแม่
- สอนให้ลูกรู้จักพูดปฏิเสธข้อเสนอของคนแปลกหน้าที่จะให้โดยสารรถไปด้วย เพราะอาจจะนำไปทำมิดีมิร้ายหรืออาจถูกพาไปขายหรือเรียกค่าไถ่เด็กควรจะอยู่ห่างจากรถคนที่ไม่รู้จัก หากเข้าไปอยู่ใกล้รถเพื่อพูดจากับคนในรถอาจถูกจับตัวไปได้
อ่านต่อ >> “วิธีการสอนให้ลูกปลอดภัยจากคนแปลกหน้า” คลิกหน้า 2
- ฝึกให้ลูกรู้จักการขออนุญาตก่อนไปเล่นบ้านคนอื่น เมื่อลูกไปเล่นที่ใด ต้องฝึกให้บอกผู้ปกครองหรือคุณครูทราบ
- สอนจากการเล่านิทาน เช่น นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ฯลฯการเล่นสมมติ การเล่นเลียนแบบ และสอนให้ลูกรู้จักอาชีพและชุดแต่งกายบุคคลอาชีพต่างๆ เช่น ชุดเครื่องแบบยามรักษาความปลอดภัย ชุดตำรวจ ชุดพนักงานขายของร้านสะดวกซื้อ ชุดเสื้อผ้าผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนของเล่นที่หลากหลาย เช่นโทรศัพท์มือถือ วิทยุสื่อสาร กิจกรรมเหล่านี้จะสะท้อนความคิดของเด็กเรื่องการแยกแยะคนแปลกหน้า
- ผู้ปกครองควรเล่าข่าวจากโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ให้ลูกฟังพร้อมยกตัวอย่าง โดยเน้นแต่เรื่องดีๆ ให้เด็กคิดในเชิงบวก แต่ก็ควรจะพูดเล่าความจริงในโลกนี้เป็นอย่างไร และควรจะเล่าทั้งเรื่องราวไม่ดีด้วย เช่น ข่าวเด็กหายที่คาดว่าคนแปลกหน้าขโมยไป ก็ควรเล่าให้ลูกฟังได้
- สอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธจากคนแปลกหน้า ให้ลูกรีบหนีออกมาตลอดจนส่งเสียงขอความช่วยเหลือ
- สอนให้ลูกระมัดระวังการรับของขวัญหรือของฝากจากคนแปลกหน้า เพราะอาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือผิดกฎหมาย หรือมีเจตนาล่อ ลวง
- หากมีคนแปลกหน้าเข้าถึงตัว เข้ามาจับหรือพยายามมาสัมผัสบริเวณร่างกาย ต้องสอนให้เด็กๆ หนีออกมา ส่งเสียงขอความช่วยเหลือหรือโวยวายให้ดังที่สุด
- สอนให้ลูกรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้สามารถเชื่อถือได้ ในโลกนี้มีทั้งคนแปลกหน้าที่ “ดี” และคนแปลกหน้าที่ “ไม่ดี”
- บอกลูกว่าลูกมีสิทธิที่จะปฏิเสธคนแปลกหน้า สามารถที่จะกรีดร้อง ต่อสู้ เตะ เมื่อพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ลูกมีสิทธิที่จะทำตัวไม่สุภาพเมื่อลูกกลัวหรืออยู่ในอันตราย
- “การสอนให้ลูกไม่ได้พูดคุยกับคนแปลกหน้า” เป็นสิ่งที่คนมักจะพูดและสอนกันมา แต่มันเป็นแบบผิดๆ ค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสอนให้ลูกพูดคุยหรือเข้าใกล้คนแปลกหน้าอย่างถูกวิธี ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย
อ่านต่อ >> “วิธีการสอนให้ลูกปลอดภัยจากคนแปลกหน้า” คลิกหน้า 3
- บอกลูกว่าถ้ามีคนแปลกหน้า เสนออะไรให้ก็ตามหรือขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับงาน ให้ลูกจะตอบไปว่า “ไม่!” เสียงดังๆ และเดินหนีออกไป เพราะผู้ใหญ่ควรถามผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือไม่ใช่มาถามเด็ก
- สอนให้ลูกๆเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง สอนให้ลูกมีพื้นฐานการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง
- สอนเด็กๆให้ทราบถึงสถานที่ที่ปลอดภัยภายในบ้าน ตลอดจนเส้นทางที่ปลอดภัยที่จะใช้หรือแนะสถานที่ที่ปลอดภัยหากเกิดปัญหาหรือเหตุการณ์คับขัน
- ฝีกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต ด้วยวิธีการเล่นเกม ให้เด็กบรรยายรายละเอียดของคน เช่น คนนี้มีผม ผิว สีอะไร สวมเสื้อสีอะไร ฯลฯ จะเป็นพื้นฐานให้จดจำรายละเอียดของคนแปลกหน้าได้
- ฝึกสถานการณ์สมมติที่มีคนแปลกหน้ามาแสดงท่าทีที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น พยายามล่อลวง ลวนลาม ชักชวนเด็กไปที่ลับตาคน ให้เด็กพยายามจดจำลักษณะท่าทางและสถานที่ที่เด็กเคยพบเห็นคนแปลกหน้า และรายละเอียดอื่นๆ เช่น ขับรถสีอะไร ขับรถอะไร หมายเลขรถอะไร โดยหัดให้ลูกอ่านหมายเลขรถทั่วไปไว้บ่อยๆ การฝึกเช่นนี้เหมือนฝึกให้เด็กหนีภัยธรรมชาติ เป็นการเตรียมพร้อมให้เด็กรับเหตุการณ์ได้
- ฝึกลูกในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอยู่บ้านตามลำพัง หากมีคนมาเคาะประตูบ้าน เด็กต้องไม่พูดโต้ตอบ ไม่เปิดประตู ให้คนแปลกหน้าเข้าใจว่าบ้านไม่มีคนอยู่ ดีกว่ารู้ว่าเด็กอยู่ตามลำพัง
- ฝึกให้ลูกรู้จักการขออนุญาตก่อนไปเล่นบ้านคนอื่น สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องรู้จักคนที่บ้านนั้นเป็นอย่างดี
คลิกอ่านต่อ >> “โรงเรียนปล่อยลูกไปกับคนแปลกหน้า พร้อมวิธีสอนให้ลูกระวังตัวจากคนแปลกหน้า
นอกเหนือจากข้อความที่สรุปมาให้อ่านข้างบนนี้แล้วแต่ละบ้านอาจจะมีวิธีสอนให้รับมือต่างกันหรือมีวิธีอื่นๆ อีก ตามแล้วแต่ละครอบครัวค่ะ แต่เบื้องต้นที่คุณพ่อแม่ควรจะสอนก็มีประมาณนี้ค่ะ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มีคำแนะนำเรื่องการสอนลูกให้แยกแยะคนแปลกหน้าเพิ่มเติมก็สามารถแชร์ประสบการณ์กันได้ในเพจ Amarin Baby & Kids เลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thelovelyair.com
ขอบคุณภาพประกอบจาก : isnhotnews.com