คนแปลกหน้า หมายถึง คนที่เด็กไม่เคยรู้จักมาก่อนในฐานะญาติพี่น้อง ครู เพื่อนเล่น เพื่อนบ้าน และอาจจะเป็นคนต่างประ เทศที่มีความแตกต่างจากคนไทยทั้งลักษณะรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ภาษาและกิริยาท่าทาง
ทั้งนี้ สภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีผลให้ผู้คนในสังคมโลกติดต่อ สื่อสารและเดินทางไปมาระหว่างประเทศกันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ในแต่ละวัน เด็กปฐมวัยจึงได้พบปะผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก หรือคนแปลกหน้าเสมอ บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นทั้งมิตรและไม่ใช่มิตรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องสอนเด็กให้รู้จักแยกแยะคนแปลกหน้า
พ่อแม่ควรสอนเรื่องคนแปลกหน้าให้ลูกได้อย่างไร?
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องคนแปลกหน้า ทั้งเรื่องที่เด็กควรเรียนรู้ สังคมรอบตัว และภัยที่อาจจะได้รับจากคนแปลกหน้า สังคมรอบตัวที่เด็กจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น ควรเกี่ยวกับการมีบุคคลอื่นเข้ามาอยู่ในชุมชนเรามากขึ้น เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงมีการติดต่อกับคนทั่วโลก เด็กจะต้องรู้จักคนอื่นเพิ่มขึ้นซึ่งมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เด็กต้องเรียนรู้จากการสอนของผู้ใหญ่ ให้สังเกตที่จะแยกแยะคนแปลกหน้า และใช้วิธีสอนแบบให้คิดเชิงเหตุผล (ฟังดูยากนะคะ) เด็กปฐมวัย วัยนี้เด็กๆ จะใช้เหตุผลจากสิ่งที่พบเห็นหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ การสังเกต การเปรียบเทียบ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องคนแปลกหน้าให้ได้ดีในจุดหนึ่งด้วย
แนวทางการสอนและจัดกิจกรรมของพ่อแม่ที่ช่วยให้ลูกปลอดภัยจากคนแปลกหน้ามีดังนี้
ซึ่งอันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกๆ จำชื่อ นามสกุลของตนเองและของพ่อแม่ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของพ่อแม่ให้ได้ตลอดจนเบอร์ฉุกเฉิน
- ฝึกให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ด้วยวิธีการเล่นเกมต่างๆ ฝึกให้ลูกๆบรรยายรายละเอียดของคน เช่น คนนี้มีผม ผิว สีอะไร สวมเสื้อสีอะไร ฯลฯ จะเป็นพื้นฐานให้จดจำรายละเอียดของคนแปลกหน้าได้
- กรณีที่เด็กเล็กๆมาก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ เช่น การอุ้มเด็กเล็ก การดูแลเด็กที่หลับสนิทต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่เท่านั้น ไม่ควรฝากคนอื่นที่ไม่รู้จักหรือรู้จักผิวเผินให้อุ้มเด็ก เพราะเคยมีกรณีที่คนไม่รู้จักอุ้มเด็กหนีหายไปเลย
- ฝึกให้ลูกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น ที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง หากมีคนมาเคาะประตูบ้าน เด็กจะต้องไม่พูดโต้ตอบ ไม่เปิดประตู ให้คนแปลกหน้าเข้าใจว่าบ้านไม่มีคนอยู่ ดีกว่ารู้ว่าเด็กอยู่ตามลำพัง
- สร้างกฎของครอบครัว อาจจะตั้งรหัสลับของครอบครัว เช่น ให้พูดคำว่า “ปวดหัว” เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรืออยู่ในภาวะคับขันและต้องการความช่วยเหลือ อีกตัวอย่างหนึ่งคือถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้บุคคลอื่นไปรับลูกไม่ว่าจะเป็นหลังโรงเรียนเลิกหรือจากเลิกเรียนพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อาจจะตั้งรหัสลับกับลูกๆ เช่น ให้ลูกสอบถามกับบุคคลที่มารับลูกว่า “รหัสอะไร” ถ้าตอบไม่ได้หรือตอบไม่ถูก ก็ควรจะจะสอนลูกในขั้นตอนต่อไปว่าควรทำตัวอย่างไร เช่น ให้ไปแจ้งคุณครู ให้ลูกโทรหาคุณพ่อคุณแม่
- สอนให้ลูกรู้จักพูดปฏิเสธข้อเสนอของคนแปลกหน้าที่จะให้โดยสารรถไปด้วย เพราะอาจจะนำไปทำมิดีมิร้ายหรืออาจถูกพาไปขายหรือเรียกค่าไถ่เด็กควรจะอยู่ห่างจากรถคนที่ไม่รู้จัก หากเข้าไปอยู่ใกล้รถเพื่อพูดจากับคนในรถอาจถูกจับตัวไปได้