AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกชอบโกหกบ่อยๆ กลัวจะติดเป็นนิสัย แก้อย่างไรดี?

เมื่อลูกชอบโกหกจนเป็นนิสัย โกหกทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ห้ามแล้ว ดุแล้ว ก็ยังโกหก แล้วจะแก้ไขนิสัยนี้ของลูกอย่างไรให้ได้ผล ไปดูกันค่ะว่า แท้จริงแล้ว เด็กที่ชอบโกหก เขามี “นิสัย” แบบนั้นจริงหรือ?

Q: รู้สึกกลุ้มใจกับการโกหกของลูกชายที่อยู่ชั้น ป.4 จังค่ะ เมื่อวันก่อน ลูกชายบอกว่า เพื่อนให้หนังสือกลยุทธพิชิตเกมมา แต่คุณแม่ของเพื่อนลูกชายโทรศัพท์มาบอกว่า ลูกชายไม่ยอมคืนหนังสือที่ให้ยืมไปค่ะ บางครั้ง ทำถ้วยแก้วแตกก็โทษน้องสาว 4 ขวบว่าเป็นคนทำ ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการโกหก ทุกครั้ง ดิฉันจะบอกว่า “พูดโกหกไม่ได้นะ” แต่ก็ยังทำอีก เป็นห่วงว่าหากปล่อยไว้แบบนี้แล้วจะกลายเป็นคนที่มีนิสัยชอบโกหกไป ควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ

A: เวลาที่รู้ว่าลูกโกหก มีการถามในเชิงตำหนิหรือไม่คะว่า “ทำไมถึงโกหกบ่อยอย่างนี้” “นี่คงโกหกอีกล่ะซิ” หากเป็นเช่นนี้ สัญชาตญาณในการป้องกันตัวเองของลูกจะเริ่มทำงาน ทำให้ลูกโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงแม้จะดุลูกว่า “อย่าพูดโกหก” ก็ไม่ช่วยทำให้ลูกหายได้นะคะ

วัยเด็กในทางจิตวิทยา กล่าวว่าเป็นช่วงวัยจินตนาการตามนิทาน ลูกชายของคุณแม่ตอนเด็กๆ เคยทำแบบนี้ไหมคะ เมื่อเขาอยากเจอกับสัตว์ประหลาด เขาก็บอกว่า “ผมไปเจอสัตว์ประหลาดมาแล้ว” หรือ เมื่อเขาคิดว่าเขาอยากเป็นยอดมนุษย์ เขาก็พูดอย่างจริงจังว่า “ผมเป็นยอดมนุษย์” ในเวลาเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจดุลูกว่า “ทำไมพูดแบบนี้ โกหกอยู่เรื่อยเลย” แต่ลูกไม่ได้ตั้งใจที่จะพูดโกหกเลยแม้แต่น้อยค่ะ ลูกพูดตามกระบวนการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของเขาเอง แต่หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ แล้วกล่าวตำหนิลูกว่า “อย่าโกหก” บ่อยๆ ถึงแม้จะโตเป็นเด็กประถมแล้วก็ตาม ลูกก็ยังคงพูดโกหกต่อไป

หากรู้ว่าสิ่งที่ลูกพูดออกมานั้นเป็นการโกหก สิ่งสำคัญคือต้องไม่ต่อว่าลูกทันที “ที่พูดมานี้ โกหกใช่ไหม บอกแล้วใช่ไหมว่าอย่าโกหก” แต่ควรถามลูกด้วยความใจเย็นว่า “มีอะไรหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้น” แล้วรับฟังความในใจของลูก การที่ลูกโกหกอาจเพราะต้องการความรักจากคุณแม่ก็เป็นได้ค่ะ

อ่านต่อ “ควรทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกพูดโกหก” คลิกหน้า 2

คุณแม่เองควรหันมาทบทวนตนเองด้วยว่า ตัวเองโกหกหรือพูดไม่จริงบ้างหรือไม่ ผู้ใหญ่เรามักจะโกหกเล็กๆ น้อยๆ โดยอาศัยความเป็นพ่อเป็นแม่อยู่เรื่อยๆ ดังนั้น คุณแม่ก็ควรคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมาว่า “แม่เองก็เคยโกหกนะ ต่อไปแม่เองก็จะระวัง แม่ให้สัญญา” ซึ่งจากกระทำเช่นนี้ของคุณแม่ ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ในกรณีเช่นคำปรึกษานี้ ไม่ควรต่อว่าลูกว่า “ทำไมถึงโกหกว่าเพื่อนให้มา” ควรพูดด้วยเสียงที่ราบเรียบว่า “ลูกคงคิดว่าเพื่อนให้มา แต่ดูเหมือนเพื่อนจะคิดว่าให้ลูกยืมนะ ลูกเข้าใจผิดไปมั้งนะ” แล้วให้ลูกไปคืนหนังสือ พร้อมกับบอกให้ลูกกล่าวขอโทษเพื่อนที่เข้าใจผิดด้วย เมื่อลูกมีประสบการณ์ที่ได้รับการให้อภัย โดยไม่โดนต่อว่าจากการพูดโกหกแล้ว ลูกจะสามารถพูดความจริงได้อย่างแน่นอนค่ะ

เมื่อลูกโกหกครั้งหนึ่ง พ่อแม่ก็จะมองลูกด้วยสายตาว่า “เอาอีกแล้ว” แต่คนเราสามารถเปลี่ยนกันได้ค่ะ เมื่อวานอาจจะพูดโกหก แต่วันนี้อาจจะพูดความจริงก็ได้นะคะ การที่คุณแม่พูดว่า “โกหกอีกแล้วใช่ไหม” ก็มาจากความตั้งใจของคุณแม่ที่ไม่อยากให้ลูกกลายเป็นคนขี้โกหก แต่คำพูดแบบนั้นกลับจะทำให้จิตใจของลูกรู้สึกว้าเหว่มากขึ้นทุกครั้งที่ถูกคุณแม่ต่อว่า

ในวัยประถมศึกษา เป็นวัยที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องผิดถูกชั่วดี เรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตของมนุษย์ จึงอยากให้สอนลูกด้วยความใจเย็นค่ะ

และสิ่งสำคัญ คือ ควรพูดคุยถึงแนวทางการเลี้ยงดูอบรมลูกระหว่างคุณพ่อและคุณแม่ด้วยกัน โดยใช้เรื่องที่เกิดขึ้นนี้นะคะ

ไม่มีเด็กคนไหนมีนิสัยชอบพูดโกหกมาตั้งแต่เกิด

การโกหกเป็นพฤติกรรมการปกป้องตัวเอง ขอให้ย้อนทบทวนดูว่า ที่ผ่านมาคุณแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างไร เคยมีบ้างหรือไม่ที่การพูดคุยกับลูกนั้น นำพาให้ลูกพูดโกหก ซึ่งในการโกหกนั้น ก็จะมีเหตุผลของการโกหกอยู่เช่นกัน

 

มยุรี มุกดาทอง แปลจาก http://kateikyoiku.jp/qa/41.html

เรื่อง : สถาบันครอบครัวศึกษาแห่งโตเกียว

ภาพ : Shutterstock