อยากให้ลูกคิดเป็น อยู่เป็น เอาตัวรอดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก…
เพราะบนโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด การปลูกฝังให้ลูกอยู่รอดให้เป็น เอาตัวรอดให้ได้ เพื่อในวันข้างหน้า ลูกจะได้มีอนาคตที่ดี … เพราะทีมงาน Amarin Baby and Kids ตระหนักถึงความสำคัญนี้ประกอบกับไปอ่านเจอบทความนึงเข้า จึงมีความรู้สึกว่า เรื่องราวดี ๆ แบบนี้ หากไม่รีบนำมาฝากคุณพ่อคุณแม่คงจะต้องเสียใจเป็นแน่
มีนักเขียนหนังสือท่านหนึ่งนามว่า Gerard I. Nierenberg ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านหนังสือที่ชื่อว่า Art of Creative Thinking หรือศิลปะแห่งการคิดสร้างสรรค์ว่า “รางวัลชีวิตของพวกเรา ไม่ได้มาจากการมีสมอง แต่มาจากการใช้สมองต่างหาก” ดังนั้น เมื่อมีสมองแล้ว หากไม่ลับให้คม ไม่คิดไม่ใช้อยู่เสมอ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ แล้วจะมีคุณค่าได้อย่างไร
อ่านต่อบทความนี้เพิ่มเติม คลิก>>
สิ่งที่นักเขียนหนังสือท่านนี้พยายามจะสื่อให้พวกเราทุกคนได้เข้าใจก็คือ การปลูกฝังให้ลูกรู้จักคิด รู้จักการนำสมองที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องแบบนี้คนที่จะปลูกฝังได้ดีที่สุดก็คือ คุณพ่อกับคุณแม่
Gerard กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก ยิ่งจำเป็นที่จะต้องฟูมฟักสมองของลูก ให้เขารู้จักใช้สมอง ใช้ความคิด อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเองในอนาคต ทั้งนี้หนึ่งในการใช้ความคิดที่น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเด็กในโลกทุกวันนี้ ที่จะช่วยให้เขามีความคิดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หาวิธี หาหนทางใหม่ ๆ สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ ไม่จนมุม ไม่ติดกับดักความคิด อีกทั้งยังอาจช่วยสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อีกด้วย นั่นก็คือ การฝึกให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่ใช้กระบวนการทางความคิดหลาย ๆ อย่างมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยความคิดสร้างสรรค์ต้องอาศัยการมีอิสรภาพทางความคิดนั่นเองค่ะ
หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะฉันไม่ได้เป็นคนครีเอทอะไรแบบนั้น ในความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องยากจนทำไม่ได้ หากเรารู้หลักการกระตุ้นก็จะทำได้ง่าย โดยฝึกให้เด็กคิดคล่อง คิดลื่นไม่ติดขัดเป็นพื้นฐานอยู่เสมอ ให้เขามีพื้นฐานว่าถ้าคิดให้ฉีกกรอบ ฉีกแนวเดิมจะป็นอย่างไร รวมทั้งการฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต มีความละเอียดละออ คิดโยงใยคิดหลายชั้น คิดให้ซับซ้อน โดยที่ความคิดนั้นจะต้องเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ เป็นการคิดเชิงบวก ไม่ใช่เชิงทำลาย
ทั้งนี้มักพบว่า อุปสรรคสำคัญในการพัมนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กคือ วิธีการเลี้ยงดูที่เข้มงวด ลงโทษ สั่งห้ามโน่น ห้ามนี่ ปกป้องเกินไป หรือแม้กระทั่งวิธีการสอนบางอย่างของครูในโรงเรียน ก็อาจเป็นการบั่นทอนความคิดดี ๆ ของเด็กไปได้มากมาย
เรื่องอะไรบ้างที่เราควรอัดฉีดความคิดนี้ให้กับลูก >>
17 ข้อควรทำหาก อยากให้ลูกคิดเป็น
- ให้เด็กคลุกคลีกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์
- พ่อแม่ต้องสร้างอารมณ์ขันให้ตัวเองและลูก ๆ อยู่เสมอ หัวเราะและยิ้มเข้าไว้
- ให้เด็กคิดเสมอว่าทุกอย่างเป็นไปได้
- พยายามให้เด็กคิดถึงตัวเองในแง่ดี
- กระตุ้นความคิดของลูกด้วยคำถามว่า ถ้า…เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้ากบสูญพันธ์ุไปจากโลก เป็นต้น
- ให้ลูกฝึกคิดสิ่งใหม่ ๆ หาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะนำมาแก้ปัญหา
- เล่นเกมส์สมมุติกับลูก เช่น สมมุติว่าเราเป็นนก เราจะทำอะไรบ้าง
- อย่ามองข้ามความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเด็ก ที่อาจะเป็นทางออกที่แก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้
- ค้นหาหนทางที่แสดงออกถึงความสามารถที่สร้างสรรค์ของลูกคุณให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การพูด การเขียน การประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ
- ถ้าเด็กมีอาการเหม่อ หรือฝันกลางัน อย่าไปตำหนิติเตียน ปล่อยให้เขาฝันไปจนจบเพราะการฝันกลางวัน เป็นอาการ “ฟักไข่ทางความคิด” อย่างหนึ่งของเด็ก
- ถ้าเด็กถนัดมือซ้าย อย่าบังคับให้เขาเขียนมือขวา อย่างไรก็ดี ควรหัดให้เด็กที่ถนัดมือซ้ายหรือขวา ได้ใช้มืออีกข้างที่ไม่ถนัดให้ทำงานเท่า ๆ กัน จะช่วยให้สมองของเขาพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น
- สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ที่ใช้การขบคิดและวางแผน เช่น หมากรุก บริดจ์ โอเทโล หมากฮอส เป็นต้น
- พยายามให้เด็กลองใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ กะเกณฑ์ของหรือน้ำหนักแทนการใช้เครื่องมือชั่ง ตวง วัด
- ฝึกให้เด็กทำการบ้านโดยไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องคิดเลข
- ให้เด็กลองทำเรื่องที่ยังไม่จบ เช่น เวลาอ่านหนังสือที่ยังไม่จบ ให้เด็ก ๆ ลองเขียน หรือเล่าเรื่องต่อให้จบตามจินตนาการของเขาเอง
- ให้เด็กสมมุติว่าเขากำลังเดินทางเข้าไปในความคิดของตัวเอง เช่น สมมุติว่ากำลังเดินเข้าไปในสมองของตนเอง สมมุติว่ากำลังเดินเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของตัวเอง หรือสมมุติว่ากำลังเดินอยู่ในหุบเขาหรือริมห้วย เป็นต้น
- ให้เด็กแยกแยะความแตกต่างระหว่างความก้าวร้าวกับความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้เห็นความแตกต่างว่าการยืนยันความคิดของตนที่เหมาะสมนั้น ไม่ใช่การท้าทายหรือดึงดันอย่างไม่มีความรู้จริง ซึ่งต่างจากความคิดที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น
โดยคุณพ่อคุณแม่ อาจจะเริ่มจากการตั้งคำถามจากสิ่งรอบตัวที่ลูก ๆ สามารถมองเห็นได้ง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่ทำเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ลูกรู้จักคิดนอกกรอบและมีจินตนาการมากขึ้นได้นั่นเองค่ะ
ข้อมูลจาก สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ ฝึกลูกรักให้เป็นนักคิด
อ่านต่อเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่