“ไม่รักพ่อแล้ว!!!” หรือ “แม่ไม่ให้ แสดงว่าแม่ไม่รักหนู” เป็นคำพูดยอดฮิตของเด็กๆ ทุกยุคทุกสมัย!!! เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินได้ฟังว่าลูก ไม่รักพ่อแม่ จะรู้สึกจี๊ดๆ เหมือนมีอะไรมาแทงใจ บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรีบตามใจลูกทันที เพราะกลัวเหลือเกินว่าลูกจะหาว่า พ่อแม่ไม่รัก เขาจริงๆ แต่บางทีก็เหลืออดตะโกนกลับไปบ้างว่า “ไม่รัก ก็ไม่รัก แม่ก็ไม่รักหนูแล้วเหมือนกัน!!!”
ลูกบอก ไม่รักพ่อแม่ หมายความอย่างนั้นจริงหรือ?
คำถามมากมายผุดตามขึ้นมาในใจ เมื่อลูกมาไม้นี้ แล้วเราจะไปไม้ไหน?? จะต้องตามใจเจ้าวายร้ายตัวเล็ก หรือเราจะต้องทำเป็นเก๊ก บอกว่าไม่รักกลับไป??? ก่อนอื่นขอให้ตั้งสติแล้วปล่อยคำพูดนี้ให้ลอยผ่านหูไปค่ะเพราะเวลาที่เด็กๆ บอก “ไม่รักแล้ว” เขาไม่ได้หมายความตามที่เขาพูดจริงๆ แต่มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
-
ยิ่งโตอารมณ์ยิ่งซับซ้อนการระบายอารมณ์จึงง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์
ตามพัฒนาการแล้วเด็กเล็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป จะมีอารมณ์ความรู้สึกสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น ทั้งโกรธ ทั้งเจ็บ ทั้งสนุกเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่ทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง อย่างทักษะการใช้ภาษา และทักษะการใช้สมองส่วนเหตุผล เช่น การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) ความคิดยืดหยุ่น (Shifting) ความจำขณะทำงาน (Working Memory) นั้น กำลังพัฒนาอยู่ ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และฝึกฝน ดังนั้นสำหรับเด็กๆ แล้วการระบายอารมณ์จึงง่ายกว่าการควบคุมอารมณ์
-
ประสบการณ์ยังน้อย การคิดเชื่อมโยงเหตุผลจึงเป็นไปตามประสบการณ์
เวลาที่ลูกรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ที่ถูกคุณพ่อคุณแม่ขัดใจเขาจะเชื่อมโยงความรู้สึกของเขา ไปได้ไม่ไกลไปกว่า ความรู้สึกที่เขารู้จักและสัมผัสได้จากประสบการณ์ตรง นั่นก็คือ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ความพึงพอใจ หรือไม่พึงพอใจ ซึ่งสำหรับเด็กแล้วจะแปลความหมายเป็นภาพรวมได้ว่า “รัก” หรือ “ไม่รัก” ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ทำให้หนูไม่พอใจ ก็ตีความได้ว่า “พ่อแม่ไม่รัก” และ หนูกำลังไม่พอใจพ่อแม่ ก็แปลได้ว่า “หนูไม่รักพ่อแม่”นั่นเอง
-
อยู่ในระหว่างการเรียนรู้ และทดสอบพฤติกรรม
คุณพ่อคุณแม่สังเกตดูได้ว่า เมื่อลูกถูกขัดใจ เขาจะพยายามหาวิธีการมาร้อยแปดเพื่อต่อรองให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ ทั้งพูดอ้อน ตามตื๊อ งอนและหงุดหงิด หากว่ายังไม่ได้ผล เขาก็จะหาวิธีการอื่นๆ ต่อไป และแน่นอนว่า การบอก “ไม่รักแล้ว” หรือ “พ่อแม่ไม่รักหนู” ก็เป็นเพียงอีกวิธีการหนึ่งที่ลูกจะนำมาทดสอบใช้ต่อรองกับเราก็เท่านั้นเองค่ะ
(บทความแนะนำ [สร้างวินัยเชิงบวก] ขัดใจทำไม ตามใจดีกว่า!!)
ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจหรือตอบกลับไปบ้างว่า “ไม่รักแล้ว” ก็เป็นการคอนเฟิร์มว่า “ถ้าพ่อแม่รักหนู ก็ต้องตามใจหนู” และ “หนูรักพ่อแม่ เมื่อทำให้หนูรู้สึกพึงพอใจ” เมื่อพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่ต่อไป ลูกก็จะกลายเป็นคนเอาแต่ใจและไม่ยอมรับฟังเหตุผลผู้อื่น และที่สำคัญคือหากลูกผูกความต้องการของตัวเองไว้กับเงื่อนไขความรักของคุณพ่อคุณแม่ ลองคิดดูว่าเราจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกไปในทางที่ดีได้อย่างไร เพราะกว่าลูกจะโต เราจำเป็นต้องขัดใจลูกอีกกี่ครั้ง และอีกกี่ครั้งที่ลูกจะต้องสงสัยว่า พ่อแม่รักเขาหรือไม่??
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> สอนอย่างไรให้ลูกรู้ว่า การไม่ตามใจ เป็นคนละเรื่องกับความรัก คลิกหน้า 2
ดังนั้นวิธีรับมือที่ดีที่สุด คือการแสดงให้ลูกเห็นว่า การไม่ตามใจ เป็นคนละเรื่องกับความรักด้วยเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก3 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 คือ ยังไงก็รัก
เมื่อลูกบอกว่า “ไม่รักแล้ว” คุณพ่อคุณแม่บอกลูกได้ทันทีว่า “แต่พ่อแม่รักหนู” และเช่นเดียวกัน หากลูกบอกว่า “พ่อแม่ไม่รักหนู” เราก็ต้องยืนยันว่า “ยังไงพ่อแม่ก็รักหนู” วิธีการนี้นอกจากจะเป็นการสื่อสารให้ลูกเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาแล้วว่า “ไม่ตามใจ” ไม่ใช่แปลว่า “ไม่รัก” ยังเป็นข้อความแทนใจที่ทำให้จิตใจลูกอ่อนโยนขึ้นและสงบจิตสงบใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ขั้นตอนที่ 2 คือ แสดงความเข้าใจ
โดยการอธิบายอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของลูกที่กำลังเกิดขึ้น เช่น “แม่รู้หนูบอกว่า ไม่รักแม่ เพราะหนูกำลังโกรธ ที่แม่ยังไม่ซื้อของเล่นให้หนู” วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกมีคลังคำศัพท์ที่ใช้สำหรับอธิบายอารมณ์ของตัวเองเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยให้ลูกได้ทำความเข้าใจเหตุผลที่มาของอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถจัดการกับอารมณ์ขุ่นมัวของตัวเองได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 คือ อารมณ์ดี ถึงทีอธิบาย
เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องมีเหตุผลที่ไม่สามารถตามใจในสิ่งที่ลูกขอได้ แต่การสอนลูกทันทีทั้งที่เพิ่งถูกขัดใจนั้น จะทำให้ลูกยิ่งไม่ฟังและต่อต้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกมีอารมณ์ร้อนเกินไป จนต้องแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดใจไว้ก่อน แล้วค่อยอธิบายเหตุผลในตอนที่ลูกอารมณ์ดีๆ ก็ยังไม่สายค่ะ
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้ความรักเป็นข้อต่อรองเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กๆ แต่ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ วิธีการสอนของเรา ที่สามารถทำให้พฤติกรรมนี้อยู่ยงคงกระพันจนกลายเป็นนิสัย หรือสามารถทำให้ค่อยๆ มลายหายไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จึงช่วยส่งเสริมพัฒนาการภาษาและทักษะสมองส่วนเหตุผลของเด็ก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ฝึกฝนความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของลูกรวมถึงรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับลูกได้อีกด้วย เพราะหัวใจหลักของเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกคือ การแสดงให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าลูกจะมาไม้ไหน…ไม่ว่าลูกจะแสดงพฤติกรรมร้ายเพียงใด…ยังไง้ ยังไง พ่อแม่ก็รัก!!!
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- ตายาย ตามใจหลานสุดๆ กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ พ่อแม่ควรทำอย่างไร
- เลี้ยงลูกแบบตามใจ แล้วลูกจะเสียคนจริงหรือไม่?
- การเจริญเติบโตของลูก จากความรักของพ่อแม่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เรื่อง : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นิตยสาร Amarin Baby & Kids เดือนพฤศจิกายน 2559