AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

นักวิชาการและแพทย์แนะ! รักลูก อย่าสอนลูกให้เป็นแค่คนเก่ง!

เครดิต: NPR

รักลูก อยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต นักวิชาการและแพทย์แนะ “เก่งอย่างเดียวไม่พอ”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีงานแถลงข่าวเปิดเวทีเสวนา “ก้าวข้ามวิกฤตปฐมวัย สู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีคุณหมอและนักวิชาการชื่อดังมาร่วมกันถกปัญหาดังกล่าว พร้อมกับได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแต่ละท่านบอกเลยว่า มีแนวคิดที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่อย่างเราถึงกับสะดุ้งถึงมุมมองที่ว่านี้กันเลยละค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะอยากรู้กันแล้วใช่ไหมละคะว่า ที่แต่ละท่านพูดมานั้นจะมีอะไรกันบ้าง พร้อมแล้วไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ โดยเริ่มจาก

รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันเด็กแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เปิดเผยถึงความน่าเป็นห่วงในประเด็นของที่เด็กถูกเร่งให้อ่านออกเขียนได้เอาไว้ว่า

“ผมเคยแวะเวียนไปดูการสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถวจังหวัดนครปฐม ตัวอย่างของคำที่ให้เด็กอนุบาลอ่านนั้น ทำเอาผมตกใจมากคือคำกว่า “กะหล่ำปลี” นี่คือส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ระบบกำลังมีปัญหา ดังนั้นลดความคาดหวังให้เด็กเป็นคนเก่ง และเลิกเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น เพราะมันสร้างความบาดเจ็บให้แก่เด็ก” ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เด็กจำนวนหนึ่งกำลังถูกบังคับให้ท่องตำรา มุ่งเน้นให้จริงจังกับการสอบตั้งแต่เด็ก หรือทำสิ่งต่าง ๆ เกินวัยด้วยความคาดหวังว่า จะต้องเป็นเด็กเก่งทั้งที่จริงแล้ว การเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เลย แต่กลับกลายเป็นการสร้างภาวะเครียดในสมองเด็ก และปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังนิสัยชอบการแข่งขัน เอาชนะโดยไม่รู้ตัว และก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังกับการสอบจนหมดความเชื่อมั่นในตัวเองตั้งแต่เด็ก”

อ่านมุมมองของแพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ ได้ที่หน้าถัดไป

เครดิต: Line Today และ MGR Online

แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ใน 3 ของผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจดังอย่าง “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ได้กล่าวว่า

“ส่วนตัวแล้วรู้สึกผิดหวังกับระบบ การศึกษาไทย ทุกวันนี้ก็ปล่อยให้นโยบายเป็นเรื่องของนโยบาย เราก็ต้องพึ่งตัวเอง และอยู่ในที่ที่เราเลือกได้ เรามีเงินพอที่จะเลือกโรงเรียนให้แก่ลูก เรามีปัจจัยเกื้อหนุนพอที่จะรู้ว่าอะไรดี และเหมาะกับลูก แต่หลายครอบครัวตกอยู่ในกระแสที่เลือกไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมันเริ่มจากเราได้ค่ะ มีพื้นฐานแค่ไหนก็สร้างลูกจากพื้นฐานที่เรามี แม่จะออกไปโลดแล่นอยู่ในโรงเรียนที่มันมีวิกฤตบ้าง ไม่สวยงามบ้าง แต่คุณหมอเชื่อว่า ด้วยศักยภาพที่พ่อแม่มีนั้น สามารถสร้างลูกให้ดีได้”

“สำหรับตัวหมอเอง เราอยากให้ลูกนั้นคิดเป็น นับถือตัวเองเป็น เพราะการเรียนเก่งไม่ใช่คำตอบ หมอเจอเด็กเกรด 4.00 หลายคนที่ท้องตอนเรียน ถามถึงเหตุผลก็พบว่า ถ้าไม่มีอะไรกับแฟน เพื่อนจะไม่ให้เข้ากลุ่ม ตรงนี้มันคือภาพสะท้อนของเด็กที่เรียนดีแต่คิดไม่เป็น การเรียนลูกให้คิดเป็นนั้น หมอจะเลี้ยงลูกด้วยการใช้ประสบการณ์ การรู้จักรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เช่น ทำงานบ้าน การเล่นกับลูก หรือการพาลูกออกไปหาประสบการณ์นอกบ้าน พาไปท่องเที่ยว ท่องโลก ส่วนภาษานั้นก็สำคัญแต่ไม่ได้ยัดเยียดลูกให้เรียนหลายภาษา สิ่งที่ทำกับลูกคือ พูดกับลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง ไม่เน้นจดคำศัพท์อย่างเอาเป็นเอาตาย”

อ่านต่อมุมมองของคุณหมอโอ๋ คลิก!

เครดิต: Line Today and MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญเผย รักลูก สอนให้เก่งอย่างเดียวไม่พอ!

ดร. ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเด็กปฐมวัย 101 Educare Centre ได้กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังในเรื่องของเทคโนโลยีเอาไว้ให้มาก โดยคุณหมอเล่าว่า ตัวเองไม่ได้ห้ามลูกไม่ให้แตะแท็ปเล็ต แต่จะจำกัดเวลาการเล่นที่เหมาะสมให้ ที่ไม่ได้ห้ามก็เพราะเข้าใจถึงโลกปัจจุบัน ก็อยากให้ระวัง เพราะเด็กบางคนยังไม่ถึงวัยที่ควรจะเล่น เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ รวมถึงตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะไม่มีวิธีการจัดการกับลูกอย่างเหมาะสม ทางที่ดีที่สุดควรให้ลูกเล่นเมื่อถึงเวลาที่ลูกสามารถควบคุมตัวเองได้ดีแล้วจะดีกว่า”

ด้าน ดร. สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ก็ได้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาใหญ่นั่นก็คือ เด็กไทยถูกเร่งเรียน ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กไทยถูกเน้นแต่การพัฒนาด้านไอคิว ไม่ได้รับโอกาสให้ออกสำรวจ เรียนรู้ และลงมือทำ จึงไม่แปลกที่เด็กหลาย ๆ คนนั้น ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการเรียนรู้ และทักษะชีวิต กลายเป็นเด็กที่ไม่มีวินัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าห่วง และต้องเร่งพัฒนาเด็กในทางที่ถูก

สุดท้ายกับ คุณจินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยจากเอกสารงานวิจัยด้วยการพูดถึง 4 ค่านิยมที่ส่งผลกระทบกับการพัฒนาวินัยของเด็กในระยะยาว

4 ค่านิยมที่ว่านี้จะมีอะไรบ้างนั้น คลิก!

4 ค่านิยมร้ายที่ทำลายชีวิตลูก

  1. ค่านิยม “ลูกต้องมีอนาคตที่ไกลและสดใสกว่าพ่อแม่” ทำให้พ่อแม่มุ่งแต่ผลักดันให้ลูกเป็นคนเก่งและฉลาดกว่าตน และมุ่งเน้นแต่ด้านวิชาการจนลืมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ลูกมีปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
  2. ค่านิยม “ลูกเป็นหน้าตาของพ่อแม่” สมัยนี้จะพบว่า หลาย ๆ ครอบครัวยึดความสำเร็จของลูกเป็นความภาคภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาในสังคม ด้วยเพราะอยากให้ลูกสำเร็จสมดังใจตน จึงขีดเส้นทางชีวิตให้กับลูกเดิน จนลืมความต้องการที่แท้จริงของลูกไป ส่งผลให้ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หวาดระแวง และมีความคิด เมื่อโตขึ้นจึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะออกนอกลู่นอกทางถ้ามีโอกาส
  3. ค่านิยม “ลูกฉันเก่งไร้เทียมทาน” ซึ่งค่านิยมที่ว่านี้เกิดจาก การที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีลูกคนเดียว จึงรักและให้ความสำคัญกับลูกคนนี้มาก และบางครอบครัวก็จะปลูกฝังให้ลูกของตนนั้นเป็นคนเก่งกว่าทุก ๆ คน และเก่งอยู่คนเดียว ชื่นชมทุกอย่างที่ลูกทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ทำให้เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นจะขาดความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด และชอบโทษคนอื่น
  4. ค่านิยม “วัตถุทดแทนเวลาที่หายไป” คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ทำงานหนัก จนบางครั้งไม่มีเวลาให้กับลูกเลย จึงตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยวัตถุแทน ทำให้ขาดความใกล้ชิด และปล่อยปละละเลยลูกไป ส่งผลให้ลูกเป็นคนว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น เมื่อลูกโตขึ้น ลูกก็จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจกับคุณพ่อคุณแม่ได้

เห็นได้ว่า 4 ค่านิยมที่กล่าวมานั้น กำลังเกิดขึ้นกันเป็นอย่างมากในสังคมไทยของเราเอง เด็กสมัยนี้มีความก้าวร้าวมากขึ้น อ่อนน้อมถ่อมตนน้อยลง เรียกได้ว่าหันไปทางไหนก็มีแต่เด็กเก่ง แต่จะมีเด็กสักกี่คนกันที่คิดเป็น เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ไม่ใช่เพราะความเก่งเลย หากแต่เป็นคนที่คิดเป็นและมีระเบียบวินัยต่างหาก ดังนั้น หากเราทราบอย่างนี้แล้วอย่ารอช้า รีบมาช่วยกันแก้ไขให้ลูกหลานของเราทุกคน กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีประสิทธิภาพในวันข้างหน้ากันเถอะค่ะ

เครดิต: Line Today และ MGR Online

อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids