จากบทความของนายแพทย์วรตม์ โชติพิทยาสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ที่ได้เห็นเนื้อหาบนเฟสบุ๊คของคุณพ่อท่านหนึ่ง มีการแนบรูปตารางชีวิต (Life grid) วันหยุดของลูกชายชั้นมัธยมแปะไว้ที่หน้าประตูห้องนอน คุณหมอกังวลใจที่คุณพ่อท่านนี้เขียนเชื้อเชิญให้คนอื่นทำตาม
>> คลิกอ่านต่อหน้า 2 <<
คุณพ่อท่านนี้จัดตารางเวลาให้ลูกเป็นเรื่องที่ดี และคุณหมอมักย้ำให้ทุกครอบครัวมีการจัดตารางเวลา แต่วิธีการและเป้าหมายนั้นต้องแตกต่างกันไปตามช่วงวัย
1.ชั้นอนุบาล พ่อแม่ต้องจัดตารางเวลาให้ลูกอย่างคร่าวๆ เป้าหมายไม่ได้ให้ลูกทำตามตารางนั้น 100% แต่ให้เกิดความเคยชิน และเรียนรู้เกี่ยวกับระเบียบวินัยเรื่องเวลา เป็นพื้นฐานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม
2.ชั้นประถม พ่อแม่มีหน้าที่ชี้แนะ การจัดตารางเวลา ให้ครอบครัวประชุม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างตารางเวลาที่เหมาะสม ทำให้ลูกรู้สึกว่านั่นคือตารางเวลาของเขาเอง แล้วออกมาเป็นตารางเวลาที่ทุกคนยอมรับว่าเหมาะสมกับช่วงวัย อาจจะเซ็นชื่อกำกับการยอมรับไว้ข้างล่างทั้งพ่อ แม่ ลูก คอยปรับตาราง
3.ชั้นมัธยมต้น พ่อแม่มีหน้าที่เตือน ให้ลูกจัดตารางเวลาเอง อธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องการมีระเบียบวินัยในการเรียน รู้จักรับผิดชอบจากความตั้งใจของตัวเอง สอนให้ลูกรู้จักการพักผ่อนที่เหมาะสม
4.ชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่มีหน้าที่เอาน้ำ เอาขนมมาให้ลูกกิน ดูตารางที่ลูกจัด และลุ้นอยู่ห่างๆ ดูผลการสอนของตัวเองที่สอนไว้ตั้งแต่ยังเล็ก บอกตัวเองเสมอว่าลูกโตพอแล้วที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่เด็ก
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน การที่ยังจัดตารางเวลาให้ลูก เตือนให้ลูกดื่มนม ห้ามแอบหลับ มันช้าไปเกือบ 10 ปีแล้ว เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก และคาดหวังในตัวลูก อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะลูกคนเดียว แต่การคาดหวังสูงเกินไป อาจจะนำไปสู่การกำกับจัดการที่ไม่เหมาะสม เช่น วุ่นวายเกินความจำเป็น บังคับกดดัน หรือใช้ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ
เมื่อลูกถูกขีดเส้นตลอดเวลา เมื่อถึงเวลากลับเดินเองไม่เป็น และเมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ แม้แต่ตารางเวลาของตัวเองยังทำไม่ได้ จะเป็นเจ้าคนนายคนได้อย่างไร ใครจะมาจัดการชีวิตให้
พ่อแม่มักลืมนึกไปว่า นั่นคือความคาดหวังของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก ชีวิตเป็นของลูก ไม่ใช่พ่อแม่ เพราะพ่อแม่บางคนชอบเลี้ยงลูกเป็นชีวิตรอบที่ 2 ของตัวเอง สุดท้ายไม่มีใครสามารถอยู่กับลูกได้ตลอดชีวิต จึงควรใช้เวลาสั้นๆ ในการสอนเขา ให้เขายืนด้วยลำแข้งของตัวเอง คุณหมอเตือนคนรอบตัว และคนไข้เสมอว่า “อย่า! อย่าเลี้ยงลูกให้โตไปเป็นเด็กอนุบาล!”
ซึ่งในส่วนมุมมองของคุณพ่อเจ้าของเรื่อง ได้เข้ามาตอบเอาไว้ดังนี้
โห....ผมรู้สึกดีจังที่หลายๆ ท่านใส่ใจในเรื่องการเลี้ยงดูลูก เป็นห่วงเรื่องกดดันลูก เป็นห่วงเรื่องการเรียนของลูกที่ต้องเป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย อย่างน้อยผมก็ได้รับรู้ว่าสังคมแห่งนี้ เป็นสังคมที่ใส่ใจในตัวเด็กๆ และเยาวชน ผมต้องขอโทษที่โพสต์ตารางการแบ่งเวลา โดยไม่มีคำอธิบาย จึงทำให้ท่านทั้งหลาย รู้สึกไม่สบายใจในสิ่งที่ท่านเข้าใจว่าผมกดดันลูก ผมขอเรียนว่าผมเป็นครู และผมมีลูก คนเดียว ผมจึงพลาดไม่ได้ในเรื่องการอบรมเลี้ยงดู ลูกผมจะต้องเจริญเติบโตทั้งด้าน ร่างกาย สติปัญญา และจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ลูกชายของผมเมื่อพ้นจาก วัยเด็กเล็กไม่เคยถูกตีเลย เราเลี้ยงดูกันด้วยเหตุผล เมื่อเราตักเตือนเขา เขาก็มีสิทธิ์ อธิบายและนำเสนอเหตุผลให้เราพิจารณา หลายครั้งผมก็ยอมและขอโทษ ลูกที่เข้าใจ ผิดพลาด ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มเปี่ยม บ้านเป็นสวรรค์สำหรับเขาเพื่อนของเขา มากมาย แต่เขาไม่ติดเพื่อน เขาชอบอยู่กับพ่อแม่ เล่นดนตรีกีร์ต้าเปียนโนไฟฟ้า เขาฝันอยากสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แต่ผมไม่สามารถอ่านหนังสือแทนเขาได้ ผมจึงต้องทำตารางเวลาให้เขา อาจดูตึงไปบ้างแต่เขาก็มีสิทธิ์ว่าจะปฏิบัติตามตารางเวลา หรือไม่ แต่โชคดีที่เขาเห็นด้วยกับตารางนี้ เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการทำข้อสอบเก่าๆ ที่ใช้ในการสอบเข้าเตรียมทหาร โชคดีเขาสอบติด ปีนี้อยูปี 3เหล่าทหารบก อยู่ห้องคิง เรียนหนัก ฝึกหนัก แต่เขาผ่านมาได้ เพราะเขาเรียนรู้ที่จะแบ่งเวลา เขามีเพื้อนมากมาย มีอารมณ์สุนทรี รักพ่อรักแม่ รักในหลวงมากเป็นพิเศษ เขาเป็นเด็กร่าเริง สนุกสนาน แต่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด ชีวิตของเขามีอิสระในการคิดและ ตัดสินใจมาก เพราะถูกพ่อแม่เลี้ยงดูมาอย่างนี้ หากมีโอกาสได้โปรดไปทักทายให้ กำลังใจเขา แต่เขาจะอ่านได้เฉพาะวันศุกร์เย็นๆค่ำ เสาร์อาทิตย์ ( หากได้กลับบ้าน) สำหรับท่านที่ตำหนิผมนั้น ผมไม่โกรธหรอกครับ เพราะผมคิดทางบวกตลอดว่า ท่านรักและห่วงใยลูกของผม ท่านรักและห่วงใยเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ในภายหน้า ขอบพระคุณสำหรับทุกๆความเห็นครับ
เครดิต: นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยาสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต,
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Save
Save