เหนื่อยเหลือเกิน บอกให้ลูกทำอะไร ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง ต้องพูดซ้ำหลาย ๆ รอบกว่าจะยอมทำตาม … ถ้าใช่ลองทำวิธีเหล่านี้ดูค่ะ
“จะต้องให้พูดกี่ครั้งถึงจะทำ? เท่าที่จำได้บอกให้ทำมา 5 ครั้งแล้วนะ!!” คุณพ่อคุณแม่เคยพูดประโยคอะไรที่มีลักษณะคล้ายกับประโยคนี้กันหรือไม่คะ? ถ้าใช่ละก็ เหนื่อยไหมคะที่ต้องคอยบ่น คอยจี้ คอยบอกให้ลูกทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา แถมไม่ได้พูดครั้งเดียวอีกด้วย จนในบางทีต้องอาศัยบทบาทแม่มดใจร้ายถึงจะยอม
ผู้เขียนเองก็เป็นเช่นกันค่ะ ยิ่งลูกอยู่ในวัยที่กำลังดื้อกำลังซน และกำลังท้าทายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรารู้สึกเหนื่อย แถมหงุดหงิด แต่ไม่เป็นค่ะ วันนี้ดิฉันมีคำแนะนำจากคุณหมอมาฝากค่ะ … เรามาดูกันไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ เผื่อจะได้กลับไปลองใช้กัน
ดร. จิม เทเลอร์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาเด็ก ได้ออกมาให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบกับปัญหา ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง หรือลูกดื้อมาฝากกันค่ะ คุณหมอบอกว่า การที่ ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง แล้วทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่คอยบ่นให้เมื่อยปากนั้น สามารถแก้ไขได้โดย นำ 9 ข้อนี้ไปใช้
9 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง
เข้าให้ถึง
ดร. จิม กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าเด็ก อย่างไรก็คือเด็ก อย่าลืมว่าพวกเขาไม่สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องการได้ในเวลาเดียวกัน หากคุณแม่คาดหวังว่า การบอกให้ลูกเก็บอันนี้เสร็จ แล้วไปทำอันนั้นต่อ ทำให้ครบถึงจะไปเล่นนั้น … หวังไปเถอะว่าลูกจะทำได้ อย่าลืมว่าเขาไม่ใช่เรา คุณอาจจะหงุดหงิดใส่พวกเขา พอลูกทำไม่ได้ก็แปลว่า ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง หรือลูกดื้อ! แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคิดว่า ลูกยังเป็นเด็ก ของแบบนี้ต้องใช้เวลา ค่อย ๆ เรียงลำดับก่อนและหลังอย่างช้า ๆ และวิธีการแก้ปัญหาข้อแรกก็คือ การเข้าให้ถึงตัวลูกนั่นเอง หากคุณอยากให้ลูกทำอะไรละก็ เรียกลูกมาคุยดี ๆ หรือไม่ก็เดินไปหาลูก พร้อมกับพูดด้วยน้ำเสียงที่ดีและใจเย็น ค่อย ๆ บอกเขาว่าคุณอยากให้เขาทำอะไร เสร็จแล้วก็ให้ลูกทวนคำสั่งนั้น เพื่อคุณจะได้รู้ด้วยอย่างไรละคะว่า ลูกเข้าใจคำสั่งของคุณมากน้อยเพียงใด หากลูกพูดผิดหรือมีท่าทางไม่เข้าใจละก็ ใจเย็น ๆ ค่ะ แล้วค่อย ๆ พูดกับลูกใหม่อีกครั้งนึง
ตรงประเด็น
ดร. ริชาร์ด บรอมฟิลด์ นักจิตวิทยาได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การพูดคุยกับเด็ก อย่าพูดสั้น หรือพูดยือเยื้อจนเกินไป เพราะมันยากเกินกว่าจะเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น “หากคุณบอกว่า รีบตื่นจะได้ไปโรงเรียน” … คุณคิดว่า ลูกของคุณจะตื่นมาทำไหม? สิ่งที่คุณจะได้เห็นก็คือ ลูกยังคงนอนอยู่บนที่นอนเหมือนเดิม … ดังนั้น เพื่อให้ทุกอย่างเข้าทางคุณ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพูดให้ตรงประเด็นดกับความต้องการพร้อมแนวทางที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น “ตื่นนอน ลุกขึ้นไปอาบน้ำแปรงฟัน ทานข้าว แล้วรีบไปโรงเรียน” หรือ หากลูกของคุณส่งเสียงดังอยู่ในร้านอาหาร แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดว่า “เงียบ ๆ หน่อย หัดเกรงใจคนอื่นบ้าง” ก็ให้เปลี่ยนเป็น “เราไม่ได้อยู่ที่นี่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเคารพคนอื่นด้วยเหมือนกัน” เป็นต้น
ท้าทาย
เด็กทุกคนชอบเล่นเกม ชอบความท้าทาย และชอบที่จะเอาชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนะคุณพ่อคุณแม่ของตัวเอง แล้วทำไม เราไม่ตอบสนองความต้องการของลูกกันละ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ หากคุณอยากให้ลูกเก็บที่นอน แทนที่คุณจะต้องคอยบอกว่า “ตื่นนอนมาแล้วเก็บที่นอนด้วย” หรือ “อย่าลืมเก็บที่นอน” เป็นการเล่นเกมแข่งขันกับลูกของคุณพ่อคุณแม่แทน (ซึ่งเกมเหล่านี้ คุณจะต้องยอมเป็นผู้แพ้นะคะ คุณจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก แล้วลูกก็จะเป็นฝ่ายทำเอง” ยกตัวอย่างเช่น เรามาแข่งกันไหมว่าใครจะพับผ้าห่มหรือเก็บที่นอนได้ไวกว่ากัน ใครไวกว่า แล้วเรียบร้อยจะต้องเป็นฝ่ายชนะ … เท่านี้ละค่ะ พอสิ้นเสียงคุณพ่อคุณแม่ปุ๊บไม่เกินสามนาที สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามบอกให้ลูกทำก็จะเสร็จภายในชั่วพริบตา … ตอนแพ้อย่าลืมสวมบทบาทด้วยนะคะ ลูกจะได้รู้สึกสนุกและขอเล่นเกมแบบนี้อีก เผลอ ๆ อาจจะเป็นคนตั้งเกมขึ้นมาแข่งเองเลยก็ได้
ไม่ชอบก็อย่าทำ
หากคุณบอกให้ลูกทำอะไรแล้ว ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง ไม่ยอมทำตาม … อยากให้คุณลองกลับมานึกให้ดี ๆ ว่าเรามีพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้ด้วยหรือเปล่า? เพราะเด็กส่วนใหญ่แล้วมีคุณพ่อคุณแม่เป็นไอดอลอยู่แล้ว หากคุณทำอะไร ลูกก็จะคิดว่าสิ่ง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดี และลูกก็จะพร้อมทำตาม ดังนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยจากการพูดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาละก็ คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องไม่ทำสิ่งนั้นให้ลูกเห็นค่ะ มิเช่นนั้น ลูกอาจจะย้อนกลับมาเลยก็ได้ว่า “ทีพ่อ/แม่ยังทำ!”
ปิดบทสนทนา
เด็กหลาย ๆ คนเถียง ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง ไม่ยอมที่จะทำตาม เพราะคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เปิดทางให้พวกเขาได้พูดนั่นเองค่ะ ดร. ริชาร์ด กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่เถียงเพราะพ่อแม่เปิดช่องว่างให้ ยกตัวอย่างเช่น หากถึงเวลานอนแล้วลูกไม่ยอมนอน พอคุณบอกพวกเขาก็เถียงเสียงดังว่า ยังไม่ง่วง ไม่นอน! สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำทันทีเลยก็คือ ปิดบทสนทนานั้นด้วยการพูดว่า “แม่เป็นแม่ของลูก และแม่ก็บอกให้นอน” แค่ประโยคสั้น ๆ เท่านี้จะช่วยให้ลูกทำทันที โดยไม่พูดอะไรตามมาอีก
นิ่งสยบความเคลื่อนไหว
ความเงียบมักจะทำให้คู่สนทนาด้วยกลัวเสมอ ดังนั้น แทนที่คุณจะไปตะโกน ไปดุลูกให้ทำนู่นทำนี่ซ้ำไปซ้ำมาละก็ เปลี่ยนเลยค่ะ เปลี่ยนมาเป็นเงียบทันที หากพบว่าลูกยังไม่ทำ พร้อมกับเดินไปจากตรงนั้นโดยไม่พูดอะไร แรก ๆ ลูกอาจจะยังไม่รู้ตัว แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน พอเขาอยากได้ความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ คุณก็อาจจะแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินบ้าง สักครั้งนึง แล้วลูกจะรู้สึกตัวเองค่ะว่า ที่คุณไม่พูดกับเขานั้น ต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน แล้วเขาก็จะฉุกคิดขึ้นมาได้ทันทีเลยว่า อ่อ! ที่คุณไม่พูดคุยไม่ตอบสนองเขา เพราะคุณโกรธที่เขาไม่ยอมทำในสิ่งที่คุณบอกนั่นเอง
ใช้เหตุและผล
ไม่มีเด็กคนไหนหรอกค่ะ ที่อยากจะเป็นเด็กดื้อหรือเด็กไม่ดีในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ แต่บ่อยครั้งที่เราจะพบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ทำเพราะปราศจากความเข้าใจว่า ถ้าพวกเขาไม่ทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องอธิบายเหตุผลที่มาที่ไปให้ลูกได้เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณพ่อคุณแม่พยายามบอกให้ลูกเก็บขวดน้ำที่วางอยู่บนพื้นให้ดี ลูกหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็อาจจะเผลอไปเหยียบจนทำให้ลื่นหกล้มได้ แล้วก็อันตรายเป็นอย่างมากหากล้มแล้วศีรษะไปโขกกับพื้นหรือสิ่งของแข็ง ๆ เข้า
ให้ตัวเลือก
หากคุณพ่อคุณแม่หยิบของให้ลูกโดยการใช้การตัดสินใจของตัวเองเป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกจะทำตามไหมละคะ ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเลือกซื้อของ แทนที่เราจะเป็นฝ่ายบอกว่า “พ่อ/แม่ เอาตัวนี้นะ” ปรากฎลูกเงียบไม่ตอบ พอถามอีกก็ไม่ตอบอีก หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ละก็ บอกลูกเลยค่ะว่า “ลูกคิดว่าตัวไหนสวย ไปหยิบมาดูตัวนึง” เท่านี้ลูกก็จะรีบวิ่งไปค้นหาสิ่งของที่พวกเขาต้องการทันที แถมไปอย่างง่ายดายอีกด้วย
ให้คำแนะนำ
เด็กส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ไม่ชอบให้ใครมาตะคอกใส่หรอกใช่ไหมคะ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้แทนที่การตะคอกก็คือ การให้คำแนะนำที่ดีกับลูกนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกไปจับของเล่นชิ้นนึงแรงๆ และไม่ถูก แทนที่เราจะบอกว่า “หยุด!! อย่าทำแบบนี้!” ก็ให้เปลี่ยนเป็น “ลองจับแบบนี้แทนสิลูก เขาเล่นหรือจับกันแบบนี้นะ” เป็นต้น
วิธีที่กล่าวมาทั้งหมด อาจจะค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะขึ้นก่อน ดังนั้น ค่อย ๆ ค่ะ หากรู้ว่าตัวเองกำลังร้อน ให้สูดหายใจเข้าไปในปอดก่อนทีหนึง สูดหายใจลึก ๆ แล้วค่อยพูดกับลูกดี ๆ เท่านี้ละค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะเห็นเลยว่า การพูดหรือให้คำแนะนำกับลูกดี ๆ ลูกจะยอมทำทันที โดยที่เราไม่ต้องบ่นให้ปากเปียกปากแฉะเลย เท่านี้ปัญหา ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง ก็หมดไปอย่างง่ายดายแล้วละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Parents
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่