หากคุณพ่อคุณแม่กังวลว่า ลูกเรียนไม่เก่ง และกำลังกวดขันลูกอย่างหนักอยู่ ลองอ่านบทความนี้กันดูนะคะ
คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียนทุกท่านคะ … กำลังกังวลถึงผลการเรียนของลูกน้อยกันอยู่หรือเปล่า? … หากเป็นเช่นนั้น คุณจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร พยายามกวดขันให้ลูกเรียนพิเศษโดยไม่มีวันหยุดเลยหรือ? หรือว่าไม่เป็นไรลูก หนูทำดีที่สุดแล้ว! … ของแบบนี้ค่อย ๆ ฝึกกันได้ แม่ไม่อยากให้ลูกเครียดเกินไป เป็นต้น
บทความที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะมาขอนำเสนอในวันนี้ เป็นบทความของคุณหมอชื่อดังท่านหนึ่ง ที่จะมาเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ที่กำลังกลุ้มใจเรื่องดังกล่าวกันอยู่ … ทีมงานรับรองค่ะว่า หากคุณพ่อคุณแม่ได้อ่านแล้ว จะรู้ทันทีเลยว่า สิ่งที่เราต้องการนั้น แท้จริงคืออะไร? มาอ่านเพื่อหาคำตอบให้ตัวเองและลูกกันนะคะ
อ่านต่อบทความของคุณหมอได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
“ลูกเรียนไม่เก่ง …แล้วไงครับ”
โดย นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
• ทบทวนอีกครั้ง อยากให้ลูกเรียนเก่ง ไปทำไมกัน ฟังข้อดี ข้อเสีย ก่อนจะเล่นบทพ่อแม่หลงทาง เมื่อลูกเรียนไม่เก่ง แล้วไงล่ะครับ ? ก่อนจะอ่านต่อไป พวกเรามาทบทวนกันก่อนว่า อยากให้ลูกเรียนเก่งไปทำอะไร
• เพื่อเขาจะได้เอนทรานซ์ได้ ถ้าตอบข้อนี้ให้เวียนไปอ่านบรรทัดแรกอีกทีนะครับ พูดเล่น ๆ เอ็นทรานซ์ได้สมัยนี้ไม่ได้ให้หลักประกันเลยว่าจะไม่ตกงาน จะไม่ใช้ยาเสพย์ติด จะไม่ติดเชื้อเอดส์ จะไม่ตั้งครรภ์ก่อนวัย จะไม่ทำแท้ง จะไม่พนันบอล และอื่น ๆ
• เพื่อให้เขามีอาชีพมั่นคง ไม่จริงหรอกครับ เรียนเก่งแล้วไม่มีงานทำมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ มีงานทำแล้วประคองงานไว้ไม่ได้ก็มีเยอะ ประคองงานไว้ได้แล้วไม่มีความสุขก็มีอีกเยอะ มีเงินเยอะ แต่ไม่มีความสุขยิ่งเยอะใหญ่
• ยกตัวอย่างอาชีพแพทย์ แพทย์สมัยนี้ตกงานทันทีหลังเรียนจบนะครับ ไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการ และไม่รู้อนาคต ประกอบวิชาชีพไปถูกฟ้องไปก็เยอะ สังคมก็คาดหวังสูงขึ้น ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย ต้องแจ้งป้ายราคา ต้องไปชันสูตรพลิกศพ และอื่นๆ
• แทนที่จะเรียนเก่ง น่าจะเรียนให้มี”ความสุข”มากกว่า การเรียนให้มีความสุขมีประโยชน์ดังนี้คือ ทำให้เด็กรักตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเป็นเด็กเล็กก็ดูแลตนเองได้ เมื่อเป็นเด็กโตก็วิ่งไปซื้อของหน้าปากซอยได้ เมื่อเป็นวัยรุ่นก็กล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็รู้จักหาทางเลือกของชีวิต รู้ทีหนีทีไล่ รู้รุก รู้รับ รู้ชนะ รู้แพ้ รู้สู้รู้ถอย และไม่ฆ่าตัวตาย ดีกว่าเรียนเก่งตั้งมากมาย
• คิดให้ดี ๆ นะครับ ว่ากว่าจะถึงเวลาที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเราซึ่งเป็นพ่อแม่หากไม่แก่ หรือหงำเหงือกก็ตายไปแล้ว อยู่บนสวรรค์มองลงมาเห็นลูกใช้ชีวิตแบบหลังย่อมดีกว่าแบบแรกแน่นอน ยังไม่นับว่าสังคมในอนาคตจะเสื่อมทรามไปถึงไหนก็ยังไม่รู้
• บางคนอยากให้ลูกเรียนเก่งไว้ก่อน เพราะกลัวลูกจะไม่มีเงินใช้ เรียกว่าผูกเรื่องข้ามช็อต เอาการเรียนเก่งไปเชื่อมโยงกับการมีเงินใช้
• ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องลูกไม่มีเงินใช้ในอนาคต รัฐไทยจะจัดระบบประกันสังคมได้เด็ด ๆ ไม่แพ้อย่างที่เห็นในหนังฝรั่งแน่นอน แต่ถ้าเกิดไม่มีระบบประกันสังคมที่ดีพอ งั้นคิดให้ดีอีกทีว่า รัฐที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับประชาชนทุกระดับนั้น คนรวยกับคนจนใครจะมากกว่ากัน คนที่เข้าถึงทรัพยากรกับคนที่ถูกกีดกันจากทรัพยากรใครจะมากกว่ากัน
อ่านต่อบทความของคุณหมอเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
• แน่ใจหรือว่าอยากให้ลูกเราเป็นพวกชนกลุ่มน้อย ตอนนี้ใครไม่ฮากรุณาพาลูกและครอบครัวอพยพไปอยู่ต่างประเทศนะครับ เอาใหม่ แทนที่ผมจะพยายามชี้ชวนว่าการเรียนไม่เก่ง ไม่มีประโยชน์อะไรในอนาคตแล้ว ผมจะอธิบายให้ฟังถึงข้อดีของการเรียนไม่เก่งดีกว่า
• ก่อนอื่นมานิยามคำว่า เก่งก่อน เก่งในที่นี้หมายถึง ทำคะแนนได้สูงในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เด็กอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ทางจิตวิทยาของแต่ละวัยได้ครบถ้วนหรือพอเพียง
• ในทางตรงกันข้าม เด็กเรียนไม่เก่งแต่มีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจเรื่องหน้าที่ทางจิตวิทยาประจำวัย ของเด็กมากพอ ก็จะได้ลูกซึ่งเป็นเด็กเรียนไม่เก่งที่มีความสุข รักตนเอง ภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง และพร้อมที่จะเติบโตเป็นตัวของตัวเองต่อไปในอนาคตเมื่อพ่อแม่ตายแล้ว
• เพราะเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจไม่เคี่ยวเข็ญจนเกินไป มักมีเวลาว่างจากการทำการบ้าน การท่องหนังสือหรือการเรียนพิเศษมากกว่า เวลาเหล่านั้นคือ กำไรทางจิตวิทยาที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว
• กำไรได้อย่างไร ลองอ่านต่อ เด็กเล็กและเด็กโตมีงานสำคัญที่ต้องทำอยู่คนละเรื่องเดียวเท่านั้น เด็กเล็กต้องพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งสิบให้แข็งแรง และสามารถใช้ทำงานที่อาศัย ความละเอียดในอนาคตได้ เด็กโตต้องพัฒนาทักษะในการเข้าสังคม เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ทะเลาะกันได้ก็ต้องดีกันได้ ต่อยกันไปแล้วก็ต้องอภัยกันได้
• หากเด็กเล็กใช้นิ้วมือได้คล่องแคล่ว เขาไม่เพียงมีความสามารถทำงานอะไรก็ได้ในอนาคต แต่เขายังมีความรักตนเอง ภาคภูมิใจตนเอง เชื่อมั่นในตนเองที่สอบผ่านจิตวิทยาประจำวัยมาได้
• หากเด็กโตเข้าสังคมได้ทุกรูปแบบ เขาไม่เพียงมีความสามารถหางานอะไรก็ได้ และปรับตัวเข้ากับงานหรือครอบครัวแบบไหนก็ได้ แต่เขายังมีความรักตนเอง ภาคภูมิใจตนเอง เชื่อมั่นในตนเองที่สอบผ่านจิตวิทยาประจำวัยมาได้เช่นเดียวกัน
• ความรักตนเองเป็นภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ในสังคมที่จะมาแผ้วพานชีวิตของเขาในอนาคต นี่คือหนึ่งในคำอธิบายว่า เพราะอะไรคนที่รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดีก็ยังจะสูบ เสพยาบ้าไม่ดีก็ยังจะเสพ เที่ยวหญิงบริการเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ ก็ยังจะไป เพราะพวกเขาไม่รักตนเอง ให้สืบกันจริง ๆ คงพบคามบกพร่องทางจิตวิทยาในวัยเด็กเล็กเด็กโตนี่แหละ
• พวกเรามักคิดว่า งานหลักของเด็กเล็กคือคัดไทย งานหลักของเด็กโตคือบวกเลข ทำให้เราหลงทาง เสียเวลา และคาดหวังลูกในทางที่ไม่ถูกไม่ควรกันค่อนประเทศ เมื่อลูกไม่ได้ดั่งใจก็คาดหวังสูงยิ่งขึ้นอีก เด็กจึงไม่รักตนเอง เกลียดตนเอง ไม่ภูมิใจในตนเอง และขาดภูมิคุ้นกันไปในที่สุด
• อย่าเป็นเลยครับ เด็กเรียนเก่งแต่สุขภาพจิตไม่ดี และไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะร่ำรวยในอนาคต เป็นเด็กธรรมดา เรียนเต็มความสามารถของเขา ได้เล่นและทำงานกลุ่มอย่างเหมาะสม เติบโตเป็นคนที่เอาตัวรอดได้ในยามคับขันทุกสถานการณ์
“ถามตนเองอีกครั้งสิครับ ว่าอยากได้ลูกแบบไหน”
คุณพ่อคุณแม่คะ หากลูกเราเรียนเก่งสมหวังดังใจเรา แต่ลูกไม่มีความสุข ทำหน้าตาอมทุกข์ทั้งวัน ไม่ทันคน ไม่รู้จักโรคภายนอก หวาดกลัวตลอดเวลา แบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังอยากให้ลูกเรียนเก่งติดลำดับต้น ๆ กันอยู่ไหมคะ
ขอขอบคุณที่มา: น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่