AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกพูดคำหยาบ และวิธีปราบให้ลูกพูดจาไพเราะ

ลูกพูดคำหยาบ แก้ให้ลูกพูดเพราะ

คำสุดท้ายที่คุณพ่อ คุณแม่อยากได้ยินจากลูกๆ คงไม่ต่างจากถ้อยคำที่คุณพ่อ คุณแม่พูดออกไป สเตฟานี กอตต์วาลด์ ผู้ประสานงานการวิจัยแห่งศูนย์การวิจัยการอ่านและภาษา มหาวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ลูกพูดคำหยาบ เกิดจากพวกเขาได้ยินตัวอย่างที่ไม่ดี

เด็กๆ มักจะเรียนรู้ทักษะทางภาษาด้วยการเลียนแบบผู้ใหญ่ เริ่มจากการฟัง แล้วจดจำคำ หรือวลีเหล่านั้นเอาไว้ แล้วนำไปลองพูดซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ถ้าคุณพ่อ คุณแม่เผลอหลุดปากพูดคำหยาบมาแล้วจะทำอย่างไร

1.เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

ลองอธิบายเรื่องดีๆ มีสาระให้ฟังต่อจากนั้นทันที ลูกจะได้ไม่มีสมาธิไปจดจำคำหยาบคาย เช่น “เด็กเวร! เอ้อ แม่หมายถึงเด็กคนนั้นเขามีเวรกรรมนะลูก พุทธศาสนาเชื่อว่าใครทำอะไรก็ได้ผลอย่างนั้น” หรือ “หูแตกรึไง! เอ้อ แก้วหูของหนู เป็นอะไรรึเปล่า ทำไมไม่ได้ยินที่แม่พูดคะ คนเราถ้าไม่มีแก้วหูเราก็จะไม่ได้ยินเสียง รู้มั้ยจ้ะ” เป็นต้น

2.แกล้งไม่ได้ยิน ไม่สนใจ

ไม่ว่าคำพูดของลูกจะได้ยินแล้วสะดุ้ง ก็ควรสงบนิ่งเอาไว้ ไม่แสดงอาการตกใจ หรือตอบโต้ทันที เมื่อเราไม่สนใจลูกก็จะลืมคำนั้นไปอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะพูดน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่นิ่งเฉย เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าคำนั้นพูดได้ คุณพ่อ คุณแม่ควรเตือน บอกคำศัพท์ที่สุภาพกับลูกแทนคำนั้นทันที หากลูกพูดในที่สาธารณะ

วิธีแก้ลูกพูดคําหยาบ

3.เป็นแบบอย่างที่ดี

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเริ่มจากการเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อลูกได้ยินคำสุภาพบ่อยๆ เขาจะรู้จักการพูดที่ดีตาม ถ้าคุณพ่อ คุณแม่เผลอกล่าวคำหยาบ ก็รีบเปลี่ยนไปใช้คำอื่นที่เบาลงแทน เช่น “แย่จัง” “ว้า” สอนคำที่แสดงอารมณ์ให้ลูกในทางที่สุภาพให้ลูกพูดตาม นั่งลง มองตาลูก แล้วบอกเขาว่า “เราไม่พูดคำหยาบกันนะจ้ะ”

4.เตือนสติเมื่อลูกพูดคำหยาบ

เด็กๆ ในวัยหัดพูด ถึงเด็กโต ที่กำลังแสวงหาความเป็นตัวเอง และฝึกการควบคุมตัวเอง ถ้าพ่อแม่ดุว่า เมื่อลูกพูดคำหยาบคาย จะทำให้ลูกรู้สึกแย่ และท้าทายอารมณ์ให้รุนแรงกว่าเดิม ลองใช้คำพูดเตือนสติอย่างนุ่มนวล เช่น “เอ.. เมื่อกี้ลูกพูดว่าอะไรนะคะ หนูพูดคำหยาบหรือเปล่า คำเมื่อกี้เป็นคำหยาบเราไม่พูดกัน”

อ่านต่อ “ลองให้โอกาสลูกแก้ตัว คุยกับลูกให้ชัดเจน และตั้งกฎเหล็ก” คลิกหน้า 2

5.ลองให้โอกาสให้ลูกแก้ตัว

ฝึกให้ลูกกล่าวขอโทษ หรือใช้คำพูดที่เหมาะสม เช่น “พูดคำหยาบไม่ดี แม่ไม่พูดด้วยแล้ว ถ้าหนูสำนึกผิดค่อยมาคุยก็แล้วกัน” บอกลูกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และสงบนิ่ง ลูกจะเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่ได้โกรธ แต่ไม่ยอมรับคำหยาบคาย อย่าใช้คำว่า “หยุดพูดนะ!” เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ลูกต่อต้าน

6.ลองคุยกับลูกให้ชัดเจน

บางครั้งการที่ลูกพูดคำหยาบคาย อาจเป็นเพราะได้ยินเพื่อนๆ ที่โรงเรียนพูดกัน ลูกก็อยากเข้ากลุ่มให้ได้ ลองคุยกับลูก ว่าเขาได้ยินคำเหล่านั้นมาจากใคร ทำไมถึงพูดคำเหล่านี้ อธิบายให้ลูกเข้าใจ เช่น คำหยาบเรื่องเพศ หรือคำใช้ด่าทอ ล้อเลียนผู้ใหญ่ ไม่ควรพูดเด็ดขาด บอกเหตุผลไปตรงๆ ว่า “ถ้าลูกว่าคนอื่นแบบนี้ ระวังเขาว่าคืน แล้วจะรู้สึกไม่ดีมากๆ”

วิธีแก้ลูกพูดคําหยาบ

7.ตั้งกฎเหล็กให้ชัดเจน

ตั้งกฎชัดเจนว่าไม่ยอมให้ลูกพูดคำนั้นอีก เช่น “ถ้าพูด 3 ครั้งจะให้อยู่ในห้องคนเดียว และวันนี้แม่จะไม่พูดกับหนู”  “ถ้าพูดครบ 5 ครั้ง จะงดดูทีวี 1 สัปดาห์”