AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ขอโทษลูก ให้เป็น ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งดีๆ

คุณพ่อ คุณแม่หลายคน เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองทำผิด หรือทำให้ลูกเสียใจโดยไม่ได้ตั้งใจ หลายคนปล่อยผ่านไป และนิ่งเฉย เพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่

คุณพ่อ คุณแม่หลายคน เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองทำผิด หรือทำให้ลูกเสียใจโดยไม่ได้ตั้งใจ หลายคนปล่อยผ่านไป และนิ่งเฉย เพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ทำไมต้องขอโทษเด็ก แต่หลายคน ขอโทษลูก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ขอโทษบ่อยเกินไปจนความสำคัญของคำว่าขอโทษไม่มีความหมาย

ขอโทษลูก ให้เป็น

หากคุณพ่อ คุณแม่อยากสอนลูกน้อย ให้รู้จักคำว่า “ขอโทษ” ในเวลาที่เขาทำผิด การทำเป็นตัวอย่างจะเป็นการสอนเขาได้ดีที่สุด มีคุณพ่อ คุณแม่หลายคนอาจเถียงขึ้นในใจว่า “ฉันไม่เคยทำผิด ทำไมต้องขอโทษลูกด้วย” จริงหรือ ที่คุณไม่เคยทำให้ลูกรู้สึกเสียใจเลย ยกตัวอย่างเช่น ลูกไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่คุณพ่อ คุณแม่อาจกำลังรู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด จากการทำงาน หรือไม่พอใจคนใกล้ตัว เมื่อลูกซุกซน งอแง คุณพ่อ คุณแม่ก็ยิ่งรู้สึกโมโห และเผลอดุ ตะคอก หรือเหวี่ยงใส่ลูก

ลูกน้อย ของคุณพ่อ คุณแม่คงจะรู้สึกตกใจกลัว และเสียใจอยู่ไม่น้อย ความรู้สึกเหล่านี้ อาจทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของเด็กว่า “เขาทำผิดอะไร เขาทำผิดตรงไหน”

ลินน์ ซาการิ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า “นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยนี้ ยุคที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องแข่งขันกับตัวเอง แข่งขันกับผู้อื่น และแข่งขันกับเวลา” เมื่อเหนื่อยจากการทำงาน พักผ่อนน้อย ก็มักจะมีความรู้สึกหงุดหงิดตามมา พอลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ หรือมากวนใจด้วยการถามคำถามมากๆ ก็จะหงุดหงิดมากขึ้น และเผลอตะคอกลูกกลับไปด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดี”

ลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็จะหงุดหงิดมากขึ้น และเผลอตะคอกลูกกลับไปด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดี

คุณพ่อ คุณแม่หลายคนอาจมองข้ามความรู้สึกของลูกน้อย คิดว่าลูกคงจะไม่รู้สึกอะไร เพราะพวกเขายังเด็ก ไม่นานเดี๋ยวเขาก็ลืม ความคิดนี้ถือเป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะลูกเองถึงแม้ว่ายังเล็ก แต่ก็มีความรู้สึก มีความคิด และเสียใจเป็น

จากประสบการณ์ของ ซาการิ พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น ทำให้เด็กเกิดความเครียด ไม่มีความสุข และเก็บตัว พร้อมกับกล่าวโทษตัวเองว่า เพราะเขาทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิดแบบนี้ และเมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็จะเริ่มมองหาทางออกของปัญหานั้น หากใครเข้ามาทำดีด้วย พูดจาไพเราะอ่อนหวานกับลูกก็จะชอบ และหลงเชื่อในคำพูดเหล่านั้นมากกว่าคนในครอบครัว เมื่อคุณพ่อคุณแม่ถามไถ่เรื่องราวต่างๆ ด้วยความอยากรู้ หรือเป็นห่วง ก็จะโดนลูกตะคอกกลับมาด้วยความรำคาญเช่นกัน

อ่าน “ขอโทษลูกให้เป็น (ต่อ)” คลิกหน้า 2

ขอโทษลูกให้เป็น (ต่อ)

หากคุณไม่เคยคิดที่จะขอโทษ สิ่งนั้นจะเป็นกระจกสะท้อนตัวคุณเอง เพราะลูกน้อยจะเรียนรู้การกระทำจากพ่อและแม่ และทำให้พวกเขาคิดว่า นั่นคือการกระทำที่ถูกต้อง เมื่อใดก็ตามที่คุณพยายามบอกให้เขาขอโทษ เขาก็จะปฏิเสธที่จะทำ เพราะในความคิดของเขาจะมีเพียงว่า “ขนาดพวกคุณยังไม่ทำเลย”

ดังนั้น หากคุณอยากให้ลูกเป็นคนดี การกล่าวคำว่า “ขอโทษลูก” ก่อนไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือเสียฟอร์มแต่อย่างใด ในทางกลับกัน นั่นคือความกล้าหาญ และเป็นตัวอย่างให้กับลูกได้ดีที่สุด!

เมื่อใดก็ตามที่คุณพยายามบอกให้เขาขอโทษ เขาก็จะปฏิเสธที่จะทำ

หากคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ให้เริ่มต้นด้วยการมองหน้าลูก ดูที่ดวงตาของเขา หลังจากที่คุณได้เผลอตะคอก ตี หรือดุลูกโดยไร้เหตุผล สังเกตว่าลูกน้อยแสดงอาการอะไรหรือไม่ เมื่อคุณเห็นแล้วแน่นอนว่า ภาพของลูกจะติดตราตรึงอยู่ในใจของคุณ จนทำให้คุณรู้สึกสะอึก และเสียใจที่คุณได้ทำร้ายจิตใจของเขาไปแล้ว

ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณพ่อ คุณแม่จะปล่อยให้เขารู้สึกเครียด โดดเดี่ยว เสียใจ แบบนั้นต่อไปหรือไม่คะ

หรือว่าคุณจะก้าวออกจากความคิดของคุณที่ว่า “ผู้ใหญ่ทำอะไรก็ไม่ผิด” ให้ได้ก่อน แล้วค่อยเดินไปหาลูก พร้อมกับเอ่ยคำพูดที่คุณไม่คิดว่าจะพูดได้มาก่อน

อ่าน “ขอโทษลูกให้เป็น (ต่อ)” คลิกหน้า 3

ขอโทษลูกให้เป็น (ต่อ)

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น ก็เคยเป็นแม่ที่หงุดหงิด และทำผิดใส่ลูกเช่นกัน ซึ่งภาพในวันนั้นของลูกที่นั่งกอดเข่าในมุมมืดกับความเงียบที่มีน้ำตาคลอเบ้า และพยายามอย่างหนักที่จะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ให้ไหล เพราะกลัวว่า แม่จะหงุดหงิดใส่เขาอีก

พอเห็นภาพแค่นั้น คุณรู้ไหมคะ ฉันทำอย่างไร? ฉันตั้งสติ เดินเข้าไปหาลูก แล้วเอาเข้ามากอด ความรู้สึกตอนนั้น ฉันไม่รู้สึกอายเลยที่จะกล่าวคำว่า “แม่ขอโทษลูก แม่ขอโทษที่แม่พูดจาไม่ดีกับหนู แม่รู้ว่าสิ่งที่แม่ทำนั้นไม่ดี แม่คงจะเหนื่อยและเครียดมากเกินไป แม่สัญญาว่าแม่จะไม่ทำแบบนี้อีกเด็ดขาด”

เท่านี้ละค่ะ คุณรู้ไหมคะ ลูกตอบกลับมาหาดิฉันว่าอย่างไร “เหนื่อยก็พักค่ะ หนูไม่อยากให้แม่หงุดหงิด และหนูก็ขอโทษที่หนูดื้อเกินไป หนูรักแม่นะคะ”

หนูไม่อยากให้แม่หงุดหงิด และหนูก็ขอโทษที่หนูดื้อเกินไป หนูรักแม่นะคะ

น้ำตาคนเป็นแม่นี่ไหลออกมาเลยละค่ะ มันเสียใจและตื้นตันอย่างบอกไม่ถูก ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เด็กตัวเล็ก ๆ แค่นี้จะมีความคิดและพูดได้มากขนาดนี้ หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น เชื่อไหมคะ ลูกของดิฉัน เขาก็ไม่ทำตัวงอแงอีกเลย และทุกครั้งที่เขาทำผิด พอฉันเงียบ เขาก็จะรู้สึกสำนึกได้ด้วยตัวเอง แล้วจะเดินมาหาฉันเองเมื่อเขาพร้อม และกล่าวคำว่า “ขอโทษ” และอธิบายว่าที่ขอโทษนั้น เป็นเพราะเขารู้สึกผิดจริง ๆ ในสิ่งที่เขาได้กระทำไป

นี่แหละค่ะ คือวิธีการสอนลูกให้รู้จักกับคำว่าขอโทษได้ดีที่สุด เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราสามารถก้าวออกมาจากคำว่าศักดิ์ศรี และหันมาคำนึงถึงความรู้สึกของคนที่เขารักคุณและคุณก็รักเขามากที่สุดได้เมื่อไร เมื่อนั้น คุณจะเห็นพัฒนาการบางอย่างที่แม้แต่คุณก็นึกไม่ถึงเลยละค่ะ

อ้างอิง: The Washington Post

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids