AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อดทนรอคอย & ผิดแล้วรู้จักแก้ไข ต้องฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็ก

“เด็กเล็กๆ เขายังไม่รู้อะไรเป็นอะไร แต่ถ้าเราบอกผลของการกระทำ ถ้าอดทน รอคอย จะเกิดผลอะไร เมื่อทำผิดไม่ใช่เรื่องใหญ่ เขาหาวิธีแก้ไขได้ โดยหาสาเหตุความผิดพลาด ไม่ใช่หาคนทำผิด 

“การใช้ชีวิตประจำวัน อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พ่อแม่มักเข้าใจว่า เด็กจะรู้ได้เอง เมื่อโตขึ้น และมักจะดุลูกว่า ‘โตแล้วทำไมไม่รู้’ แต่ความจริงคือ เรื่องมารยาท สิ่งควรทำไม่ควรทำในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่สอน ไม่ฝึก ไม่เน้น เด็กจะไม่มีเลย เพราะสมองไม่เคยเรียนรู้จดจำ หรือเราสอนเพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วคิดหวังว่า เด็กจะรู้ไปจนชั่วชีวิตก็ไม่ถูก และเป็นไปไม่ได้

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นด้วยกับ ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ อาจารย์ประจำและผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมการพัฒนาสมองและกระบวนการรู้คิดในเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล คุณน่าจะสนใจวิธีบริหารสมองลูกด้านล่างนี้ค่ะ

2 เรื่องสำคัญ สมองต้องฝึกคิดแต่เล็กแต่น้อย

1. อดทน รอคอย ถ้าทำได้ ผลดีรออยู่

หลายบ้านมีปัญหาเสมอ เมื่อพาลูกไปกินอาหารนอกบ้าน เขาจะวิ่งรอบโต๊ะ เอาช้อนเคาะโต๊ะ เคาะแก้ว หรืออยู่ไม่นิ่ง

ฝึกสมองรู้คิดอย่างไรดี? แสดงให้ลูกเห็นว่าถ้าลูกรอได้ จะเกิดผลอะไร เช่น ได้อาหารที่เขาชอบมากขึ้นอีก 1-2 ชิ้น การได้รู้ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เขาชั่งใจว่าเขาจะทำหรือไม่ หรือระหว่างที่รอ การมอบหน้าที่จะทำให้รู้ว่าเขาควรจะทำอะไร เช่น ช่วยแจกช้อน เช็ดจาน หยิบกระดาษทิชชูหรือเทน้ำให้คนบนโต๊ะ

อ่านต่อ “วิธีฝึกทักษะ “ผิดแล้วรู้จักแก้ไข” ให้ลูก” คลิกหน้า 2


2. ความผิดพลาด มีไว้ให้แก้ไข ไม่ใช่หาคนผิด

หลายครั้งที่ลูกทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติใครๆ ก็ทำผิดพลาดได้ คุณรู้หรือไม่ เรายังทำอะไรได้ดีกว่าการดุ หรือทำโทษ

ฝึกสมองรู้คิดอย่างไรดี? เมื่อลูกทำอะไรผิด ไม่ต้องดุว่าให้เป็นเรื่องใหญ่ แค่ส่งเสียงเตือนเบาๆ “อืมม…” เพราะการทำผิดพลาดมักนำมาซึ่งวิธีการแก้ไขที่จะทำให้ครั้งต่อๆ ไปไม่ผิดพลาดอีก พ่อแม่ช่วยบอกสาเหตุที่เกิดความผิดพลาดได้ แต่อย่าเพิ่งรีบบอกวิธีแก้ไข เช่น ทำน้ำหก ล้างจานแล้วทำจานแตก ครั้งนี้น้ำมากไป หนักไปหรือเปล่า จานยังลื่นอยู่หรือเปล่า เสร็จแล้วให้ลูกลองได้คิดว่า ถ้ามีสาเหตุจากอย่างนี้ ครั้งต่อไปจะแก้ไขอย่างไรดี ถ้าลูกคิดไม่ออก ลองเสนอทางเลือกให้เขา หลังจากนั้นก็ให้เขาคิดเอง

“ทุกวันนี้ เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือเกิดปัญหา เราจะหาคนผิด แต่ไม่ช่วยกันหาว่าจะแก้ไขความผิดพลาดหรือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร จึงต้องสอนเด็กให้รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดให้แก้ที่ปัญหา ไม่ใช่หาคนผิดก่อน

“เด็กช่างฟ้องกับเด็กที่บอกว่าอะไรเกิดขึ้นและขอวิธีว่าจะให้เขาทำอย่างไร จะต่างกัน เด็กที่ได้ฝึกสมองส่วนบริหารขั้นสูง เขาจะไม่บอกว่าคนนั้น คนนี้ทำผิด แต่เขาจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้น และจะขอให้ช่วยหรือจะถามว่าเขาจะต้องทำอะไร”

รู้จักสมองรู้คิด

“กิจกรรมบริหารสมองส่วนบริหารขั้นสูงในเด็ก ไม่ต้องยุ่งยากสรรหาเรียนตามสถาบันใดๆ เลย ทุกอย่างเริ่มได้ที่บ้าน ดูว่าที่บ้านเราชอบทำอะไร คนในบ้านถนัดอะไร ก็ทำอย่างนั้น ชอบทำอาหาร ก็ชวนกันเข้าครัว ชอบต้นไม้ ก็ไปเล่นกับต้นไม้ ใบหญ้า ดิน ทราย น้ำ ชอบทำงานบ้าน ก็ทำงานบ้านด้วยกัน ชอบทำงานฝีมือ ก็ช่วยกันเลือกวัสดุ อุปกรณ์ ชอบเล่นกีฬา ก็เล่นด้วยกัน ชอบดนตรี ชอบดูหนัง ดูละคร ทำได้ตั้งแต่ฟัง ร้อง เล่น ดูการแสดงต่างๆ ด้วยกัน”

 

ขอขอบคุณ  ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ อาจารย์ประจำและผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมการพัฒนาสมองและกระบวนการรู้คิดในเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่อง : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ : Shutterstock