ทำอย่างไรดี? เมื่อลูกดื้อ รั้น ให้ทำกินข้าวไม่กิน ให้นอนไม่ยอมนอน งานนี้คงต้อง สอนลูกเรื่องเวลา กันเสียแล้ว!
คุณแม่หลายท่านอาจสงสัยและมีคำถาม ทำไมลูกไปโรงเรียนกลับมา ถึงรู้สึกว่าดื้อมากกว่าเดิม บอกให้ทำอะไรก็ไม่ยอมทำ ชอบทำเป็นหูทวนลม ให้ทำการบ้านก็ไม่ยอม ทำเอาคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราหงุดหงิด! งานนี้เรามีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกันค่ะ
โดยบทความที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids นำมาฝากในวันนี้นั้น สามารถนำไปใช้เป็นไอเดียที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เองที่บ้าน จริงอยู่การที่จะให้ลูกเข้าใจเรื่องของเวลา ตัวเลข หรือจำนวนนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่อย่างน้อย ก็มีสองเหตุผลที่การสอนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของลูก จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันค่ะ
อ่านต่อ >> เนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
สอนลูกให้รู้เวลา มีข้อดีอย่างไร?
ตามที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นแล้วว่า การสอนลูกให้รู้จักกับเวลานั้น ดีต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง ดังนี้
- ทำให้ลูกได้รู้ว่า เวลานี้ควรทำอะไร การสอนจะช่วยให้ลูกรู้จักการมีวินัย
- ลูกรู้จักอดทน การสอนจะช่วยให้ลูกได้รู้ว่า เวลาที่ลูกอยากได้อะไร ต้องรู้จักอดทนและรอคอย ไม่มีอะไรที่จะสามารถได้เลยในทันที ยกตัวอย่างเช่น “เดี๋ยวคุณแม่ไปอุ่นนมให้นะครับ/คะ แล้วเดี๋ยวหนูค่อยหม่ำนะลูกนะ” หรือ “เดี๋ยวคุณแม่พับผ้าเสร็จ แล้วเราค่อยออกไปเล่นกันนะครับ/คะ” เป็นต้น
พอลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะต้องเข้าใจเรื่องของเวลาในทันทีเช่นกันนะคะ ของแบบนี้ต้องคอยหมั่นฝึกฝนค่ะเพราะถ้าไม่ค่อยได้ฝึกมาก่อนหน้านั้น 1 นาทีกับ 5 นาทีก็เท่ากันหมด เพราะเด็กวัยนี้พูดปุ๊บก็ต้องเดี๋ยวนี้ปั๊บ แต่แน่นอนว่าเขาได้เรียนรู้แล้วว่าอะไรทำก่อนทำหลัง ดังนั้นการฝึกให้เข้าใจเรื่องเวลามากขึ้นจึงทำได้ไปพร้อมๆ กับการทำกิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ >> สอนลูกเรื่องเวลา ผ่านกิจวัตรประจำวัน
วิธีการสอนลูกผ่านกิจวัตรประจำวัน
1. บอกเป็นกิจกรรม เช่น “พรุ่งนี้พวกเราจะไปห้างสรรพสินค้า เราจะไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อน ซื้อของเสร็จ เราจะไปกินไอศกรีม ลูกสามารถคิดไว้ตอนนี้ได้เลยลูกจะกินรสอะไร กินเสร็จก็พาแม็กไปตัดผมต่อ“ หรือ “หลังอาบน้ำเสร็จแล้ว ก็จะต่อด้วยแปรงฟัน “ หรือ “ดื่มนมให้เรียบร้อยก่อน ค่อยแปรงฟัน จากนั้นอ่านนิทาน แล้วก็เข้านอน“
2. ให้ตัวเลือก+ตั้งเวลา เด็กวัยนี้การให้ตัวเลือกยังใช้ได้ผล “แต่งตัว 5 หรือ 6 นาทีดีลูก แม่ตั้งเวลาให้” ตกลงกันแล้วคุณก็ตั้งเวลาจากโทรศัพท์ หรือนาฬิกาปลุกเล็ก ๆ ตามแต่สะดวก ถึงเวลาให้เขาได้กดเอง หากยังไม่เสร็จก็ถามเขาได้ “อีกกี่นาทีเสร็จ 2 หรือ 3 นาที” เมื่อลูกทำได้ อย่าลืมกอดหรือหอมเขาสักฟอด คราวต่อไปเขาก็มีแรงใจทำอีก
การได้เลือกและกดเวลาเป็นวิธีที่เด็ก ๆ ให้ความร่วมมืออย่างที่คุณจะคาดไม่ถึง เขาได้เลือกเองและเขาจะได้เห็นภาพว่าระยะเวลาที่เขาทำแต่ละกิจกรรมมากน้อยขนาดไหน แปรงฟัน ดื่มนม เล่นของเล่น โดยเฉพาะเล่นเกม ฝึกไว้ตั้งแต่ตอนนี้ โตขึ้นการควบคุมเวลาเล่นเกมและออนไลน์ของลูกจะไม่ใช่ยาขมสำหรับคุณ
3. นับเลข อยากให้เขาทำอะไรเร็วขึ้น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง ติดกระดุม รูดซิบ เร็วขึ้นก็นับเลข “นับ 1-10 นะ แล้วมาดูกันว่าลูกจะใส่เสื้อเสร็จเลขไหน”ทำให้สนุก แม่อยากได้เร็วแค่ไหน เจ้าหนูก็จัดให้ เรียกได้ว่า เป็นการสอนผ่านเกมส์ที่ลูกจะไม่รู้สึกว่าถูกสอนเลยละค่ะ
4. เผื่อเวลา ถึงจะมีตัวช่วยต่างๆ แล้ว ก็ยังต้องประเมินด้วย ถ้าการอาบน้ำแต่งตัวของลูกคุณไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งลูกและคุณอาจต้องการเวลาเพิ่ม เพื่อไม่ให้ต้องมีอาการเร่งรีบ จนต้องเสียอารมณ์กัน การเผื่อเวลาไว้ จะช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น
5. ใช้ปฏิทินก็ได้ นอกจากยังไม่เข้าใจเรื่องเวลาแล้ว วัยนี้ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องวันด้วย แต่ก็เรียนรู้ได้ เริ่มจากกำหนดวันพิเศษของเดือน เช่น วันไปเที่ยวของครอบครัว (ไม่ควรกำหนดให้ไกลเกินไป เด็กวัยนี้ความสุขตรงหน้าสำคัญที่สุด) “อีก 4 วันเราจะไปทะเลกัน ทำเครื่องหมายบนวันที่ให้เขาเห็น ถึงเวลานับวันเข้าใกล้ ก็ให้เขาเป็นคนทำเครื่องหมายบนปฏิทินเอง” เป็นต้น
อ่านต่อ >> วิธีการสอนลูกเรื่องเวลา คลิก!
จริง ๆ แล้วการสอนให้ลูกรู้จักบันทึกเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจค่ะ เรียกได้ว่า เป็นการสอนผ่านการปฏิบัติและลงมือจริง คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่า ลูกเล็กจะไปบันทึกอะไรได้ … จริงอยุ่ค่ะที่พวกเขายังเขียนหนังสือไม่ได้ แต่การสอนที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะให้ลูกมาลงมือเขียนหนังสือแต่อย่างใด เราอาจจะใช้ภาพ สี สติ๊กเกอร์ หรืออะไรก็ได้ที่ลูกชอบมาประกอบบนตารางเวลาหรือนาฬิกา ตามแบบที่โรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่เขาทำกัน
การบันทึกมีประโยชน์และคุณค่าต่อการพัฒนาเด็กในด้านต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
- เป็นการสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เห็นร่องชิ้นงานที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านพัฒนาการและทักษะต่างๆ เช่น ภาพวาดของเด็กที่สามารถวาดโดยมีรายละเอียดมากขึ้น การเขียนที่เป็นประโยคและได้ใจ ความมากขึ้น
- แสดงให้เห็นถึงทักษะทางปัญญาของเด็กหลาย ๆ อย่าง เช่น การสังเคราะห์ การแปลความหมาย การตีความจากสิ่งที่เด็กบันทึกทั้งการเขียนและการวาดภาพ
- ช่วยสร้างความคิดรวบยอดในสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ การบันทึกถือเป็นการสะท้อนและทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ เด็กจะเขียนหรือวาดภาพตามที่เขาได้เรียนรู้และตามที่เขามีความเข้าใจ ดังนั้นในการเรียนเรื่องเดียวกันเด็กอาจจะแสดงผลงานการบันทึกด้วยการเขียนและวาดภาพที่แตกต่างกันก็ได้
- ช่วยให้เด็กสามารถเขียนอธิบายในสิ่งที่ยากด้วยภาษาของตนเอง
- เด็กจะได้บันทึกความก้าวหน้าที่แสดงถึงพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของตนและสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ได้ทันที
- ช่วยให้เด็กสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วได้ยาวนานขึ้น การบันทึกการเรียนรู้เป็นการเชื่อมโยงความทรงจำกับการเขียน ซึ่งเราเห็นเป็นภาพในรูปของตัวอักษรทำให้เราจดจำได้มากขึ้น
- ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านเขียนให้กับเด็ก การบันทึกสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้อาจบันทึกด้วยการวาดภาพและนำไปสู่การเขียนเป็นคำ เขียนเป็นประโยคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นต้น
อย่างไรลองดูกันนะคะ รับรองว่า วิธีการเหล่านี้ จะช่วยสามารถทำให้ลูกของคุณแม่สามารถเข้าใจเวลา และจัดการชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยเลยละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Taamkru
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่