มารยาททางสังคม …สังคมเราทุกวันนี้มีการพูดกันมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของพ่อแม่ลูกในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงดังเอะอะ ไม่มีมารยาท ชอบแซงคิว ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง พูดไม่คิด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทันทีที่มีกระทู้ หรือข้อมูลในลักษณะดังกล่าวเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ ก็มักมีแนวร่วมจำนวนหนึ่งเข้ามาตอกย้ำว่าพฤติกรรมของครอบครัวไทยบางส่วนนั้นเลวร้ายจนเกินเยียวยาจริงๆ
คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าการดูแลลูกน้อยและครอบครัวของเรา ไม่มีพฤติกรรมแย่ๆ และต้องตกเป็นครอบครัวกลุ่มเป้าหมายที่ถูกยี้จากสังคมรอบข้าง ซึ่งพ่อแม่สามารถเตรียมการก่อนพาลูกออกนอกบ้านได้ดังนี้
Must read : โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง ระบาดหนักส่งต่อสู่รุ่นลูก !
9 ข้อที่ควรสอนลูก เพื่อ มารยาททางสังคม ที่ดี ก่อนไปในที่สาธารณะ
1. วางแผนก่อนเดินทาง
เมื่อมีลูก การออกนอกบ้านควรมีการวางแผนก่อน เพราะเด็กเล็กยังต้องการการดูแล การตั้งกฎกติกา และการอบรมสั่งสอนมารยาทสังคมตามสมควร หากพ่อแม่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้ ก็อาจกลายเป็นความปั่นป่วนเล็ก ๆ ขึ้นได้ เช่น จะออกไปซื้อของ พ่อแม่อาจต้องเขียนรายการสิ่งของที่ต้องการซื้อเตรียมเอาไว้ก่อน นอกจากนั้น ก่อนจะไป ควรบอกลูกให้รู้ว่า การเดินทางครั้งนี้เราไปเพื่อซื้อ…. ซึ่งจำเป็นต่อครอบครัว และมีสิ่งใดที่คุณจะไม่ซื้อบ้าง (เช่น ขนม ของเล่น) เพราะฉะนั้นไม่ต้องร้องไห้ หรือลงไปชักดิ้นชักงอถ้าไม่ได้ของอย่างที่ต้องการ เพราะเราคุยกันแล้ว
2. มอบภารกิจให้ลูก
การมอบหมายความรับผิดชอบให้ลูกเวลาคุณออกไปนอกบ้าน สามารถทำให้พวกเขานิ่งและตั้งใจมากขึ้น เช่น ถ้ามีลูกมากกว่า 1 คน พี่คนโตอาจได้รับมอบหมายให้ดูแลน้อง ๆ คอยช่วยคุณพ่อมองทาง ช่วยหยิบของ ฯลฯ หรือถ้าเป็นน้องเล็กๆ ก็สามารถมอบหมายภารกิจให้ได้เช่นกัน เช่น น้องสองขวบก็โตพอที่จะเดินไปหยิบนมที่ตนเองชอบมาให้คุณแม่ได้แล้ว เป็นต้น
Must read : ชีวิตลูกต้อง (ฝึกให้) ลูกรับผิดชอบเองได้
3. ของเล่นถูกใจ หยิบไปให้ครบ
นึกถึงเวลาพาลูกขึ้นเครื่องบิน คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะสายการบินโดยมากจะมีของเล่นของแถมให้กับเด็กเล็กอยู่แล้ว แต่ถ้าหากไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน เปลี่ยนเป็นการไปร่วมงานพิธีกับพ่อแม่ก็ไม่ควรลืมหยิบของเล่นชิ้นโปรดของลูกติดไม้ติดมือไปด้วย เช่น หนังสือนิทาน ตุ๊กตา โดยหลักสำคัญในการเลือกของเล่นก็คือ ควรเป็นของเล่นที่ไม่รบกวนผู้อื่น เช่น ตุ๊กตาก็ไม่ควรมีเสียงปี๊บๆ หรือมีเพลง เป็นต้น
4. แผนสำรองต้องมี
ถ้าเกิดนมหมด ถ้าเกิดลูกร้องไห้จนอาเจียน ถ้าเกิด…ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ พ่อแม่หรือคนเลี้ยงควรตระหนักว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ และพ่อแม่ควรเป็นคนที่รู้จักธรรมชาติของเด็กคนนั้นมากที่สุด ดังนั้นในการเดินทาง ควรมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เมื่อเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นจริงๆ จะได้ไม่ทำให้พ่อแม่หวั่นไหวหรือประสาทเสีย
อ่านต่อ >> “เรื่องที่ควรสอนลูกเพื่อให้มีมารยาททางสังคมที่ดีก่อนไปในที่สาธารณะ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ก่อนอารมณ์เสีย พยายามมองลูกๆ ในแง่ดี
คงมีพ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าลูกไม่ได้ดั่งใจยามอยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะคนมีลูกเล็กที่มักงอแง ร้องไห้ ขอให้อุ้ม ฯลฯ อยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้าหากเรายิ่งมองลูกในแง่ลบมากเท่าไร ความสุขและความสนุกของการเดินทางก็จะถูกบั่นทอนลงไปมากเท่านั้น ดังนั้น ถ้าทำได้ อาจสูดหายใจลึกๆ นับ 1-10 หรือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณสามารถมองพวกเขาอย่างเข้าใจ และยิ้มกับลูกๆ ได้อีกครั้ง
6. เข้าใจธรรมชาติของเด็ก
บางครั้งการเข้าใจธรรมชาติของเด็กก็ช่วยให้ความหงุดหงิดบรรเทาลง ธรรมชาติของเด็กมาพร้อมกับความยุกยิกอยู่ไม่สุข หรือหากอยู่นิ่งได้ก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถทำได้นาน ดังนั้น หากพ่อแม่หรือสังคมรอบข้างมาตั้งความหวังว่าเด็กเล็กที่เราพบเจอในโลกภายนอกจะต้องนิ่งสงบราวกับรูปปั้นก็คงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อย่างไรก็ดี พ่อแม่ควรเป็นคนที่เข้าใจในจุดนี้มากที่สุด และควรเลือกสถานที่ที่จะพาลูกไปด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์โยเย เช่น หากต้องพาไปร่วมงานสังคมที่เป็นทางการ ในขณะที่ลูกยังเล็กมาก และไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ก็ยังไม่ควรพาไป เพราะเด็กจะร้องงอแงจนพ่อแม่ไม่เป็นอันสร้างสังคมได้อย่างแน่นอน
Must read : ลูกสาว ลูกชาย แตกต่าง และมีข้อดีอะไรบ้าง?
7. เลือกสถานที่ที่ไว้วางใจได้ และต้อนรับครอบครัว
พฤติกรรมการเที่ยวของหลายครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีลูก ครอบครัวของทีมงานเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้ เวลาเดินทางไปนอกบ้านทีไร ก็มักจะมองว่าจะพาลูก ๆ ไปเที่ยวที่ไหนเขาถึงจะสนุก ไปกินอะไรเขาถึงจะอร่อย ส่วนความสุขของพ่อแม่ก็อาจไว้ทีหลัง หรือกลายเป็นว่า ถ้าลูกสนุก พ่อแม่ก็สนุกด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกสถานที่ หรือร้านที่พ่อแม่ไว้วางใจ หากมีความสนิทสนมกับทางร้านเพราะเคยไปรับประทานบ่อยๆ ในสมัยยังไม่มีลูกก็ยิ่งดี เพราะความเป็นลูกค้าเก่าแก่จะทำให้การบริการเป็นไปอย่างดี และร้านค้าโดยมากมักจะยินดีที่จะได้ทำความรู้จักลูกค้าในรุ่นต่อไป (หรือก็คือลูกของคุณ) ด้วยอยู่แล้ว
8. สอนลูกให้มีน้ำใจ
หลายคนบ่นถึงลูก ๆ หรือก็คือเด็ก ๆ ในยุคนี้ว่าไม่ค่อยมีน้ำใจ บ้างก็ติดหนึบหนับกับสังคมออนไลน์จนไม่แยแสคนรอบข้าง การทำเพื่อคนอื่น โดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้น ๆ นอกจากความสุขในใจของผู้ทำ ซึ่งเราเชื่อว่า เรื่องของน้ำใจ การช่วยเหลือคนอื่น เป็นสิ่งที่พ่อแม่สอนอย่างเดียวไม่ได้ เด็กคงไม่ทำตาม หากพ่อแม่ไม่ทำให้ดูก่อน ดังนั้นหากอยากให้ลูก ๆ เป็นเด็กที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา มีน้ำใจกับคนอื่น ๆ เป็นคนดีของสังคม คงต้องเริ่มต้นจากตัวพ่อแม่กันก่อนด้วยค่ะ
9. ดูแลเรื่องมารยาท
เรื่องสุดท้ายและสำคัญที่สุดหนีไม่พ้น การมีมารยาท เพราะสาเหตุหนึ่งที่สังคมค่อนข้างไม่พอใจในตัวลูกค้ากลุ่มครอบครัวก็คือ การไม่มีมารยาท ปล่อยเด็กให้เล่นจนระรานความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เด็กบางคนไปแหย่แขกโต๊ะข้างๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ได้เอ่ยปากเตือนทั้งที่เห็นอยู่ทนโท่ บางคนก็โยนจาน โยนช้อน เทขวดเครื่องปรุงเล่น ปีนขึ้นบนโต๊ะอาหาร สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ต้องควบคุมให้ได้
Must read : ฝึกมารยาท วัย 1-3 ปี
การพาลูกออกนอกบ้านเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่นิยมทำกันมากขึ้น เด็กยุคนี้จึงมีโอกาสได้พบเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้เร็วกว่าเด็กในอดีต แต่ไม่ใช่แค่การพบเห็นเพียงอย่างเดียว พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมไปด้วย …หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ตระหนักในสิทธิ และความเป็นส่วนตัวของคนอื่น ก็เป็นไปได้ว่า เมื่อลูกโตขึ้นไป พวกเขาก็อาจจะจดจำพฤติกรรมพ่อแม่ไปใช้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ซึ่งถึงตอนนั้น แม้จะอยากแก้ไข แต่ก็อาจสายจนเกินการณ์แล้วก็เป็นได้
และเนื่องจากสมัยนี้ภัยเกี่ยวกับเด็กๆเดี๋ยวนี้รุนแรงเสียจน ไว้ใจอะไรไม่ได้และต้องเฝ้าระวังทุกฝีก้าว ด้วยเหตุนี้ Amarin Baby & Kids จึงมี 5 วิธีการ ป้องกัน ระวังภัย สำหรับเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ เมื่อต้องพาลูกเล็กออกนอกบ้านค่ะ
อ่านต่อ >> “5 สิ่งป้องกันระวังภัย เตือนใจพ่อแม่ ก่อนพาลูกเล็กออกนอกบ้าน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5 สิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนลูก ก่อนพาลูกเล็กออกนอกบ้าน
1. ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า
ถ้าคุณต้องพาลูกออกนอกบ้านตามลำพัง ไม่ว่าจะไปธุระหรือไปซื้อของ เมื่อมีคนมาทักคุณว่า “ลูกน้อยน่ารักจังเลย” “ขออุ้มได้ไหมคะ?” ฯลฯ ก็อย่าเพิ่งวางใจว่าเขาจะเป็นคนรักเด็ก หลายรายวางใจ ทิ้งลูกไว้ให้คนแปลกหน้าดูแลชั่วคราว แล้วไปช้อปปิ้งเลือกเสื้อผ้า หรือไปเข้าห้องน้ำ คนพวกนี้บางทีก็เป็นแก๊งลักเด็ก
หากคุณมีความจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับใครสักคน เพื่อไปทำธุระส่วนตัว (เช่น การเข้าห้องน้ำในห้าง) โดยไม่มีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ ให้เลือกฝากลูกไว้กับจุดรับฝากเด็ก หรือคนของบริษัทหรือองค์กรที่คุณไปติดต่อ ต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้ และคุณต้องรีบกลับมารับเขา
2. ไม่ให้ลูกคลาดสายตา
ไม่ว่าเด็กที่อยู่กับคุณจะเป็นลูกของคุณ ลูกของญาติ หรือเด็กแถวบ้าน ผู้ใหญ่ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ไม่ต้องกลัวว่าใครจะว่าคุณกังวลไปกว่าเหตุ แต่ให้คิดถึงความปลอดภัยของลูกไว้ก่อน นอกจากเด็กอาจจะถูกคนใจร้ายล่อลวงแล้ว เด็กอาจจะเผลอวิ่งออกถนนได้
3. บอกจุดหมายปลายทางกับลูกทุกครั้งที่เดินทาง
การบอกจุดหมายปลายทางให้กับลูก นอกจากจะฝึกการจดจำและสร้างพัฒนาการให้กับเขา เช่น “วันนี้เราจะไปหาคุณตาคุณยายกันนะ” เด็กก็จะจำได้ว่าวันนี้เขาต้องเจอกับใครบ้าง ต้องเดินทางผ่านเส้นทางไหน เมื่อเจอสิ่งที่ผิดไปจากที่เคยเจอ ลูกจะได้ทราบว่ามันผิดปกติแล้วนะ
4. ฝึกให้เด็กจำชื่อเบอร์โทรศัพท์คนที่บ้าน
เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ หากวันหนึ่ง คุณกับลูกเล็กพลัดหลงกันระหว่างเดินทางหรือเดินเที่ยว ข้อมูลสำคัญที่ควรฝึกให้ลูกจำให้ได้คือ ชื่อของคุณพ่อคุณแม่ หรือเบอร์โทรศัพท์ของคนที่ติดต่อได้ ซึ่งหากลูกยังเล็กเกินไป ควรพกป้าย tag เขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคุณใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงของลูก
5. สอนให้ลูกรู้จักเล่ห์เหลี่ยมคนร้าย
อย่าเพิ่งคิดว่าลูกของคุณนั้นยังเด็กเกินไปที่จะสอน เมื่อเด็กเริ่มหัดพูดและเดินได้ แสดงว่าพัฒนาการของเขาเดินหน้าพอที่จะรับรู้สิ่งที่คุณสอน คุณต้องรู้จักบอกเขาว่าสิ่งไหนอันตราย สิ่งไหนปลอดภัย แต่ถ้าลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป วิธีง่ายๆ คือ สอนให้เขาเดินหนีและปฏิเสธคนที่ไม่น่าไว้ใจ
แต่ถ้าเด็กวัยอนุบาล สอนเขาว่าเมื่อเจอคนแปลกหน้า ก็ต้องบอกเขาว่าลักษณะแบบนี้อันตรายอย่างไร เช่น ไม่ควรรับขนม ไม่ควรพูดคุยด้วย และไม่ปล่อยให้ลูกไปกับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
เตือนลูกว่าในสังคมมีพวกแก๊งลักเด็ก หลอกเด็กไปใช้แรงงาน เป็นขอทาน เราไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกกลัว ไม่ได้ขู่เขา แต่สอนเขาด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่อยากถูกหลอกต้องอย่าไปไกลจากคุณพ่อคุณแม่นะ!
นี่เป็นเพียง 5 ข้อ ที่เราคัดเลือกมาให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ แต่เรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กแล้ว มีหลายเรื่องให้ต้องระวัง อย่างไรก็ดี 5 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเลยแม้แต่ข้อเดียว
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- สอนลูกให้ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
- เตือนภัย!! พ่อแม่โปรดระวังแม้เพียงคุณเผลอไปเพียงเสี้ยววินาที ลูกน้อยก็อาจถูกลักพาตัวไปต่อหน้าได้ (มีคลิป) พร้อมเผยกลวิธีของ “แก๊งลักเด็ก” ที่มักใช้ในปัจจุบัน
- 6 พื้นที่เสี่ยงถูกลักพาตัว และ 5 ไม่ ป้องกันการลักพาตัว
- Kid Safety เมื่อลูกถูกลักพาตัว
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids และ ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th