AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จิตแพทย์แนะ! 7 วิธี “สอนลูกให้มีจิตใจดี”

เครดิต: Huffpost

สอนลูกทั้งทีอย่าสอนให้ลูกเป็นคนร้าย พบ 7 วิธีแนะนำจากจิตแพทย์ถึงวิธีการ “สอนลูกให้มีจิตใจดี” กันได้ที่นี่

 

 

จากข่าวเหตุการณ์ในโลกยุคปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่า จิตใจคนสมัยนี้ช่างดูดุดันและแข็งกระด้างมากขึ้น หลายคนเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้อารมณ์ บางคนเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการเอาความสะดวกสบายของตนเองเป็นใหญ่ นอกจากตัวบุคคลเองแล้ว “สื่อ” ต่างก็มีผลต่อการแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน

แน่นอนค่ะว่าด้วยความที่พวกเราเป็นคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใหญ่ ก็มักที่จะเล็งเห็นถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ ตามมามากมาย คนอื่นเราอาจจะไม่สามารถสอนหรือขัดเกลาให้เขามีจิตใจที่ดีได้ แต่กับลูกของเราเอง เราสามารถทำได้ ซึ่งในวันนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ก็ได้รวบรวมเอาเทคนิคการสอนลูกให้มีจิตใจดีงามตั้งแต่ยังเล็กโดยคำแนะนำของจิตแพทย์มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ ท่านได้นำไปประยุกต์ใช้กันด้วยนะคะ จะมีอะไรบ้างนั้นพร้อมแล้ว เราไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

อ่านเทคนิคการสอนลูกให้มีจิตใจดี คลิก!

 

เครดิต: Momjunction

7 เทคนิค สอนลูกให้มีจิตใจดี ตั้งแต่ยังเล็ก

แพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงเทคนิคการเลี้ยงดูลูกให้มีจิตใจดีงามตั้งแต่ยังเล็ก โดยสามารถสรุปออกได้ 7 ข้อดังนี้

1. ฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เพื่อเป็นพื้นฐานทักษะอื่นต่อไป การที่ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้และลดการพึ่งพาจากคนอื่นนั้น จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง ลดความกังวล และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ตามมาด้วย

2. ฝึกให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เด็กวัย 2 ขวบนั้น เป็นวัยที่เริ่มฟังและเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกช่วยงานบ้านขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่า ช่วยเก็บของเล่นที่ลูกเล่น นำเสื้อผ้าที่สวมแล้วไปใส่ตะกร้า เมื่อเด็กรู้หน้าที่ของตัวเองแล้ว อนาคตเราก็ไม่จำเป็นต้องคอยบอกคอยสอนอะไรมาก ลูกก็จะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เอง แล้วเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถค่อย ๆ มอบหมายงานบ้านเพิ่มเติมได้ไม่ยาก สิ่งนี้เอง ที่จะเป็นส่วนช่วยให้ลูกได้รู้จักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ตนทำว่าจะมีผลกระทบกับคนรอบข้างอย่างไร เท่ากับเป็นการฝึกความใส่ใจให้กับลูกไปในตัว

3. ฝึกระเบียบวินัย เพื่อเป็นทักษะการควบคุมตนเองและยับยั้งชั่งใจให้แก่ลูก นับเป็นพื้นฐานต่อการทนต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ยกตัวอย่างเช่น การตื่นนอน เข้านอน การรับประทานให้เป็นเวลา การเก็บของเล่นที่เล่นเสร็จแล้วเป็นต้นค่ะ

อ่านต่อเทคนิคการสอนลูกให้มีจิตใจเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป

 

4. การพาลูกไปพบผู้คนที่หลากหลาย นับเป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักคนและเห็นความแตกต่างของแต่ละคนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีผิว ภาษา เชื้อชาติและความคิด การพาลูกไปเจอะเจอผู้คนพร้อมกับอธิบายหรือชี้แนะสิ่งที่เหมาะสม ก็จะทำให้ลูกเข้าใจความเป็นไปของโลกนี้ได้มากขึ้น

5. สอนเรื่องอารมณ์ต่าง ๆ แก่ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นสอนให้ลูกรู้จักกับอารมณ์ต่าง ๆ ของตน ด้วยการเอ่ยชื่ออารมณ์นั้น ๆ เวลาที่เขาแสดงออกมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกร้องไห้ คุณแม่ก็อาจจะบอกกับลูกว่า ลูกกำลังเสียใจเลยร้องไห้ใช่ไห หรือถ้าลูกโกรธที่ถูกแย่งของเล่น คุณแม่ก็สามารถพูดกับลูกได้เช่นเดียวกันว่า ลูกกำลังโกรธเพราะโดนแย่งของเล่นไปจากมือใช่ไหม เพียงเท่านี้ ลูกก็จะสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้ไม่ยากแล้วละค่ะ

6. สร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ ผ่านการเล่าเรื่อง สำหรับเด็กนั้น ด้วยความที่เขายังไร้เดียงสา โลกทั้งใบของลูกจึงยังไม่ใหญ่มา การเล่านิทาน หรือเรื่องราวต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งช่วยเสริมให้ลูกเข้าใจสังคมได้ดียิ่งขึ้น

7. สอนลูกให้รู้จักกับการแก้ปัญหา คุณพ่อคุณแม่บางท่านนิยมใช้วิธีตำหนิหรือดุลูกเวลาที่เขากระทำผิด ซึ่งการทำดังกล่าวจะเป็นการปลูกฝังให้ลูกได้รู้ว่า การทำผิดนั้นเป็นเรื่องใหญ่โต และจะเริ่มปกปิดความคิดของตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสอนลูกด้วยการให้อภัยก่อน และบอกเหตุผลกับลูกทีหลัง ที่สำคัญต้องฟังเหตุผลของลูกทุกครั้งด้วยนะคะ

เครดิต: ราชานุกูล และข่าวสด

อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids