AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ระวัง! ตุ๊กตาพูดได้ อาจล้วงข้อมูลเด็กโดยไม่รู้ตัว

เครดิตภาพ : bangkokbiznews.com

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มคุ้มครองเด็กและผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้ทำการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ ตุ๊กตาพูดได้ ซึ่งเป็นของเล่นเด็กที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อาจล้วงข้อมูลส่วนตัวของเด็กและพ่อแม่เด็กโดยไม่รู้ตัว

ระวัง! ตุ๊กตาพูดได้ อาจล้วงข้อมูลเด็กโดยไม่รู้ตัว

เอกสารร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ (เอฟทีซี) ระบุว่า ตุ๊กตาพูดได้ ของบริษัทเจเนซิส ทอยส์ อิงค์ รุ่น “มาย เฟรนด์ เคย์ลา” และ “ไอ-คิว อินเทลลิเจนท์ โรบอท” เก็บและใช้ข้อมูลส่วนตัวของเด็กในทางที่เป็นการละเมิดกฎหมายและเข้าข่ายหลอกลวง

ซึ่งผู้ร้องเรียนระบุว่า เจเนซิส ทอยส์ ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเด็ก ก่อนที่จะทำการเก็บบันทึกเสียงและข้อมูลของเด็กขณะเล่นของเล่น ยิ่งไปกว่านั้น เจเนซิส ยังส่งเสียงของเด็กที่ถูกบันทึกไปให้อีกบริษัท ซึ่งข้อมูลจากเสียงนี้ อาจถูกนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าประเภทอื่น อีกทั้ง เอกสารที่ให้มาก็แจกแจงรายละเอียดเพียงน้อยนิดว่า เก็บข้อมูลอะไรไปจากเด็ก ข้อมูลจะไปอยู่ที่ไหน และจะถูกนำไปใช้อย่างไร

นายจอช โกลิน ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มรณรงค์เพื่อปลอดโฆษณาเด็ก ระบุว่า เด็กจะเล่นตุ๊กตาและของเล่นด้วยความไว้วางใจมากพอที่จะพูดเรื่องความลับต่างๆ ให้ตุ๊กตาฟัง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ข้อมูลละเอียดอ่อนที่ตุ๊กตาบันทึกไว้ต้องได้รับการปกป้อง และไม่มีการนำไปใช้เพื่อการตลาด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2015 ก็ได้มีกรณีทำนองเดียวกันนี้เกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร “ตุ๊กตาหมีไฮเทค” ของกูเกิล ซึ่งในครั้งนั้น ทีมวิจัยและพัฒนาของ “กูเกิล” (Google) จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์บนแนวคิด “อุปกรณ์ในรูปตุ๊กตาที่สามารถฟังคำสั่งเจ้านาย และสามารถส่งคำสั่งนั้นไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้”

โดยสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่มีรูปร่างคล้ายตุ๊กตาของเล่นเด็กที่มาพร้อมไมโครโฟน ลำโพง กล้อง และมอเตอร์ รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายได้ นอกจากนั้น ยังสามารถกำหนดคำเฉพาะที่สามารถเรียกให้ตุ๊กตา “ตื่น” ขึ้นมา และหันมารับคำสั่งจากเจ้าของได้ด้วย

ในเอกสารยังระบุด้วยว่า การโต้ตอบของตุ๊กตาอาจมีทั้งการโต้ตอบด้วยเสียงพูด และการแสดงท่าทางเหมือนมนุษย์ เช่น การ สบตา กะพริบตา เงยหน้าขึ้น เกาหัวตัวเอง ฯลฯ

แม้มุมของนักพัฒนาอาจมองตุ๊กตาหมีในแง่ของของเล่นอัจฉริยะ แต่ในมุมของนักกฎหมายจาก SmartUp กลับคิดตรงกันข้าม โดยเขามองว่า มีความน่ากังวลใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวจากการใช้งานของเล่นดังกล่าวสูง

“สิ่งที่น่ากังวลคือ ความสามารถในการบันทึกบทสนทนาของตุ๊กตา และเป้าหมายในการพัฒนาที่มุ่งเจาะกลุ่มเด็ก ซึ่งเด็กอาจนำไปเล่นในห้องส่วนตัว และอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างหลุดลอดออกไปได้” Emma Carr ผู้อำนวยการของบริษัท กล่าว

นอกจากนั้น กลุ่ม The Center for Democracy and Technology ซึ่งคอยสอดส่องดูแลการใช้งานกฎหมายปกป้องเด็กในสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาให้ความเห็นด้วยว่า พ่อแม่ในยุคต่อไปควรให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงเป็นพิเศษ ไม่ว่ากูเกิลจะพัฒนาตุ๊กตาของเล่นดังกล่าวออกมาวางจำหน่ายหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี กูเกิลไม่ใช่บริษัทแรกที่หันมาสนใจตลาดของเล่นในลักษณะดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ Amazon ก็เคยส่งตุ๊กตา Echo ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ช่วยสั่งอาหาร เช็กสภาพอากาศได้มาแล้ว หรือในกรณี Hello Barbie ตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิงที่มีระบบ Voice recognition และรองรับการเชื่อมต่อไว-ไฟ จากค่ายแมทเทล (Mattel) ก็เคยมีปรากฏ ซึ่งก็ได้ทำให้เกิดแคมเปญรณรงค์ให้บริษัทผู้ผลิตของเล่นยุติการพัฒนาของเล่นเด็กบนแนวคิดดังกล่าวแล้ว

ในฐานะพ่อแม่ นอกจากจะก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วแล้ว ควรที่จะรู้เท่าทันในอีกมุมหนึ่งของความไฮเทคนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวลูกน้อย หรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ตามค่ะ

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก bangkokbiznews.com,  manager.co.th