ทุกวันนี้การเอาใจ ตามใจลูก กำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนหยิบยกมาถกเถียงกันมากขึ้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องตริตรองกันให้จริงจัง เพราะการตามใจลูกอย่างง่ายดาย เช่น เมื่อลูกน้อยอยากได้ของเล่นก็ซื้อให้ได้ในทันที อาจจะส่งผลต่อเนื่องเลยเถิดไป จนลูกน้อยกลายเป็นคนเอาแต่ใจโดยไม่รู้ตัว
ตามใจลูก จนเสียเด็กรึเปล่า?
ดร.แดน คายด์ลอน นักจิตวิทยา จากภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บ่งชี้ว่า จากงานวิจัยล่าสุด พ่อแม่ร้อยละ 88 ยอมรับว่าตนเองตามใจให้ท้ายลูก และตามใจกันในหลายๆ แบบด้วย
มิเชล บอร์บา นักการศึกษาและผู้เขียนหนังสือ Don’t Give Me That Attitude! ให้ข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้ เด็กก่อนวัยเรียนไม่รู้จักความอดทนกันเลย “หนูจะเอาตอนนี้ เดี๋ยวนี้” จนร้านค้า ร้านอาหาร ระดับไฮเอนด์ และที่นั่งชั้นหนึ่งของสายการบิน มักไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่าหกขวบมาใช้บริการ เพราะมักจะออกฤทธิ์กันน่าดู
นอกจากเอาใจกันจนเสียเด็กแล้ว พ่อแม่ยังสนับสนุนให้ลูกฟุ้งเฟ้อกันตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องอะไรอีกด้วย เด็กสมัยนี้ออกแนววัตถุนิยมกันมากขึ้น “ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นเด็ก 4 ขวบร้องจะเอารองเท้าแบรนด์เนม ต้องเป็นแบรนด์เนมด้วยนะ ไม่ใช่รองเท้าผ้าใบอะไรก็ได้” หรือ การจัดงานเลี้ยงวันเกิดกันแบบเกินตัวให้กับลูกที่ยังไม่รู้ความ
ดร.ซัล ซีเวียร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง How to Behave So Your Preschooler Will, Too! เผยว่า “พ่อแม่บอกกับผมว่า พวกเขารู้สึกผิดต่อลูก เพราะวันๆ มัวแต่ทำงาน ยิ่งรู้สึกผิดมากขึ้นเท่าไร เขาจะยิ่งชดเชยด้วยการเอาใจและหยวนกับลูกมากขึ้นเท่านั้น”
อ่าน “ตามใจลูกด้วยการปล่อยลูกเล่นให้มากขึ้น” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตามใจลูก ด้วยการปล่อยลูกเล่นให้มากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ เกรย์ นักวิจัยด้านจิตวิทยา แห่งบอสตัน คอลเลจ และผู้เขียนหนังสือ Free to Learn อธิบายว่า “เด็กสมัยนี้มีความยืดหยุ่นอะลุ่มอล่วยกันน้อยลง แต่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และหลงตัวเองกันมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เด็กๆ เติบโตขึ้นท่ามกลางยุคสมัยแห่งการชอบโอ้อวด และอีกเหตุที่สำคัญเป็นเพราะเด็กๆ ได้เล่นกันอย่างอิสระน้อยลง”
จากการศึกษาของ ดร.เกรย์ พบว่า ร้อยละ 85 ของคนเป็นแม่ยอมรับว่า พวกเธอได้เล่นมากกว่าลูกๆ ของเธอถึงสองเท่า เหตุผลคือ “พ่อแม่สมัยนี้เป็นห่วงกังวลถึงอนาคตของลูกมากกว่าคนเป็นพ่อแม่ในสมัยก่อน วัยเด็กยุคนี้จึงกลายเป็นเวลาของการสร้างสมเกียรติประวัติที่ดี เพื่อเตรียมไปสมัครงาน ตั้งแต่ไปโรงเรียนอนุบาลที่ดี เรียนมหาวิทยาลัยดัง เล่นกีฬาเด่น และหากิจกรรมเสริมพิเศษที่ดูดี”
การบ้านของพ่อแม่อีกอย่างคือ การถอยห่างออกมาหน่อย เพื่อให้ลูกได้ลองเรียนรู้อะไรบ้าง ได้เล่นกีฬาโดยไม่มีเสียงตะโกน เสียงเชียร์ของพ่อแม่อยู่ข้างสนาม ปล่อยให้เพื่อนเล่นของลูกเป็นผู้ช่วยของเราในการฝึกวินัยให้กับลูก และแน่นอนว่า การที่เราเล่นกันกับลูก เป็นกิจกรรมที่ทรงคุณค่าเสมอ
“ลองมาเล่นสนุกกับลูก แล้วหัวเราะกันจนพุงกระเพื่อม เล่นเกลือกกลิ้งไปด้วยกัน จะเป็นการเปลี่ยนการทำงานของสมองซีกขวา และช่วยสร้างความผูกพันแน่นแฟ้นกันกับลูกอีกด้วย เด็กทุกคนต้องการการช่วยปลูกฝังวินัย การได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ และเล่นกันกับพ่อแม่ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เรื่องวินัย” ดร.ดาร์เชีย ย้ำ
อ่าน “ตามใจลูกเน้นเรื่องคุณค่าหาใช่บังคับ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตามใจลูก เน้นเรื่องคุณค่า หาใช่ “บังคับ”
เวลาที่ได้ยินคำว่า “ตามใจ” คนส่วนใหญ่มักจะนึกไปถึงพ่อแม่ที่ไม่รู้จักการปฏิเสธลูก
“แต่พอพ่อแม่ลุกขึ้นมาหักดิบ ตัดสินใจเลิกตามใจลูก ก็มักเน้นไปกับการ “ไม่” กับลูกไปแทบทุกเรื่อง และมักจะทำโทษลูกกันด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.อลัน คาซดิน อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเยล บอกเล่าสถานการณ์จริง “ไม้แข็งไม่ใช่คำตอบแน่ วิธีที่เหมาะคือ การทำให้ลูกรู้จักมองเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ในการทำเรื่องต่างๆ และให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิต”
ดร.คาซดิน อธิบายต่อไปว่า มีงานวิจัยมากมายระบุว่า การทำโทษลูกเป็นเรื่องสุดท้ายที่พ่อแม่ควรทำ เช่น ถ้าเราอยากให้ลูกช่วยทำความสะอาด จะทำอย่างไร? คุณเคยใช้วิธีนี้หรือเปล่า “ในของสี่อย่างที่เราต้องทำความสะอาด ลูกจะเลือกทำอะไร? แล้วเราก็ลงมือทำความสะอาดไปด้วยกันกับลูก จากนั้นก็ค่อยๆ ถอยห่างออกมา ปล่อยให้ลูกได้ทำ แล้วก็ชื่นชมให้กำลังใจที่ลูกช่วยแบ่งเบางานเราไปได้มาก”
“วิธีการนี้มักได้ผลเพราะเรามุ่งเน้นไปที่คุณค่าของการกระทำ การลงมือช่วยเหลือคนที่เรารัก และภูมิใจที่ได้ช่วยกันทำเป็นอย่างดี โดยไม่ได้บังคับขู่เข็ญ และเราให้ลูกมีอำนาจในการเลือกว่า ตัวเองอยากจะทำอะไร ‘การได้มีโอกาสเลือกทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองได้คุมเกมบ้างเท่านั้น’ ดร.คาซดิน เน้น
ดร.ซูซาน นิวแมน นักจิตวิทยาสังคม เสริมว่า การให้คุณค่าในเรื่องต่างๆ ครอบคลุมไปถึงเรื่องวัตถุสิ่งของด้วย “พ่อแม่อย่างเราควรจะต้องสำรวจตนเองด้วย ถ้าเรายังมัวหมกมุ่นอยู่กับการมองหาโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด กระเป๋าถือ และคอมพิวเตอร์แลบท็อปรุ่นใหม่ๆ อยู่ ลูกของเราก็จะเป็นแบบนั้นด้วย ถ้าเราไม่ได้ใคร่ครวญถึงทัศนคติในการจับจ่ายของเราให้ดี ลูกของเราจะคิดเป็นอื่นได้อย่างไร”
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
อุทาหรณ์เลี้ยงลูกผิด! ตามใจลูกเกินไป จนไม่รู้ค่าของเงิน
รักและหวังดีจริง! อย่า! เลี้ยงลูกตามใจ
กฎ 9 ข้อ เลี้ยงลูกด้วยรัก และไม่ตามใจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่