เมื่อถึงวัยอนุบาล พ่อแม่ต่างก็ต้องสรรหาสิ่งของหรือแหล่ง (ที่เขาว่า) สุดยอดเรียนรู้ให้ลูกกันยกใหญ่ แต่รู้หรือไม่ เด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้โดยปราศจากคำพูดหรือสิ่งเร้าต่างๆ จากภายนอก มีงานวิจัย 2 ชิ้น (ซึ่งดำเนินการที่สถาบัน MIT) พบข้อสรุปซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้จะไม่มีใครพูดอะไรสักคำ เด็กๆ ก็อาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้ตามธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณ
จากการทดลองเปรียบเทียบให้เด็กเล่นของเล่นคนเดียวกับผู้ทดลอง บอกว่า “เอ้า…พี่จะเล่นให้ดูนะว่าของเล่นชนิดนี้เล่นยังไง แล้วค่อยให้เด็กๆ เล่น ปรากฏว่าการได้รับฟังคำบอกเล่าวิธีการเล่นก่อนทำให้เด็กๆ หาฟังก์ชันหรือวิธีการเล่นของเล่น เช่น กระดิ่ง หรือปุ่มกดเสียง ได้น้อยกว่าเวลาที่ปล่อยให้เด็กได้ค้นหาและสังเกตวิธีการเล่นด้วยตัวเอง
ดร.แพททริค ชาฟท์โต หนึ่งในทีมวิจัยทั้งสองงาน พูดถึงความสำคัญของการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยสัญชาตญาณว่า “เหตุที่เราควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้างก็ไม่มีอะไรมาก คุณพ่อคุณแม่ลองนึกภาพตามได้เลยครับ ถ้าพ่อแม่บอกทุกอย่างลูกเบ็ดเสร็จ ลูกก็อาจเข้าใจได้ว่า นั่นคือทั้งหมดที่เขาควรรู้แล้ว เราจะได้เห็นเด็กๆ พยายามหาคำตอบด้วยตัวเองอีกหรือครับ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้แบบใช้สัญชาตญาณกันบ้าง
“ในทางกลับกันก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรูดซิปปิดปากกลัวดอกพิกุลจะร่วงอย่างหน้ามืดตามัว เพราะเด็กก็คือเด็ก เขายังต้องการปิยวาจาและความช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ดี”
• บางเรื่องเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดี โดยมีคำแนะนำอย่างใกล้ชิด เช่น พาทำไข่เจียวพาผูกเชือกรองเท้า พาหัดเขียนตัวเลขหรือตัวหนังสือ
• บางเรื่องเด็กๆ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เช่น เมื่อวาดรูประบายสี เมื่อเล่นของเล่นใหม่แกะกล่อง เมื่อร้องเพลงหรือเต้น
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง