Q: ดิฉันมีลูก 3 คน อายุ 3 ขวบ 5 ขวบ และ 8 ขวบดิฉันมักจะปล่อยให้พวกเด็กๆ แสดงความเห็นหรือทำสิ่งต่างๆ ตามที่พวกเขาต้องการ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ลูกๆ ไม่ค่อยยอมฟังคำสั่งของดิฉันเลย
วิกฤติของคุณเป็นเรื่องปกติของยุคปัจจุบัน รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเราเลี้ยงลูกโดยยึดความคิดความเห็นของผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่ยุคนี้ครอบครัวส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความเห็นมากขึ้น
A: คุณแม่เจ้าของคำถามทำถูกแล้วที่รับฟังลูก ตอนนี้ถึงเวลาที่พวกหนูๆ ต้องหันมาฟังคุณบ้าง อย่าเพิ่งคิดว่าคุณต้องสร้างกฎใหม่หรือเปลี่ยนตัวเองเป็นเผด็จการประจำบ้าน เพียงแต่คุณต้องจัดสมดุลระหว่างการออกเสียงแบบประชาธิปไตยกับการปกครองให้ลูกอยู่ในโอวาท Amarin Baby & Kids มี 4 เทคนิคที่จะทำให้สมดุลนี้ประสบผลสำเร็จมาฝาก
1. สื่อสารให้ชัดเจน
จุดอ่อน : เวลาที่จะสั่งให้ลูกทำอะไร พ่อแม่หลายคนรวมความคิดและความรู้สึกของลูก (ตามที่พ่อแม่คิดเอาเอง) เข้าไปด้วย เช่น“ขึ้นรถได้แล้ว แม่รู้นะ หนูก็อยากเจอคุณยายใช่ไหมล่ะ” ความจริงลูกอาจนึกอยากเล่นอยู่บ้านมากกว่าก็ได้ และเขาคงไม่พอใจนักที่คุณเหมาเอาว่าอยากทำตามคำสั่งที่เขาไม่ได้อยากทำสักหน่อย
แก้ไข : พูดสั้นๆ แค่ว่า “ขึ้นรถได้แล้ว เราจะไปบ้านคุณยายกัน”
2. ยอมรับความรู้สึกของลูก แต่ยืนยันคำสั่งของคุณ
จุดอ่อน : พ่อแม่มักคาดหวังว่าลูกจะพอใจหรือกระตือรือร้นทำตามคำสั่ง และหงุดหงิดเมื่อปฏิกิริยาตอบรับของลูกไม่เป็นอย่างที่คิด
แก้ไข : ยอมรับเถอะ พวกหนูๆ อาจหงุดหงิดงอแง ไม่อยากปฏิบัติตามคำสั่งที่คุณบอกให้ทำ ฟังเสียงบ่น แต่ก็ต้องยืนยันคำสั่งเดิม เช่น “คุณยายกำลังรออยู่หนูต้องขึ้นรถเดี๋ยวนี้ แม่รู้ว่าหนูอยากเล่นกับเพื่อนไว้มาเล่นกันต่อพรุ่งนี้นะ”
3. อธิบายผลลัพธ์ตามจริง
จุดอ่อน : แทนที่จะสื่อสารข้อเท็จจริงกับลูกอย่างตรงไปตรงมา พ่อแม่หลายคนกลับลงเอยด้วยความโกรธและตะโกนเสียงดังใส่ลูก “แม่บอกให้ขึ้นรถ! อยากโดนตีหรือไง!” หรือไม่ก็ยื่นข้อเสนอที่ตัวเองไม่คิดจะทำหรือทำไม่ได้ แล้วเบี้ยวไม่ยอมทำ อย่าง “ถ้าหนูยอมไปบ้านคุณยายดีๆ แม่จะพาไปซื้อของเล่นนะ” (แต่ขากลับคุณกลับขับรถตรงกลับบ้าน แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เจ้าตัวเล็กงอแงได้อย่างไร)
แก้ไข : อธิบายให้ลูกฟังว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาไม่ยอมทำตามคำสั่ง “แม่จะนับหนึ่งถึงสาม ถ้าหนูไม่ยอมขึ้นรถ แม่จะอุ้มหนูขึ้นไปเอง” หรือ “ถ้าหนูไม่ยอมทำการบ้าน หนูจะอดดูการ์ตูนเย็นนี้ ”ก่อนยื่นคำขาด ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนว่า คุณสามารถทำตามที่คาดโทษไว้กับลูกได้จริงๆ และถ้าลูกไม่ยอมทำตาม ก็ลงมือได้เลย!(การขู่ว่าจะตี ไม่ใช่การคาดโทษที่เหมาะสม มีแต่ยิ่งทำให้ทั้งคุณและลูกรู้สึกแย่)
4. แยกพฤติกรรมกับพื้นนิสัยของลูกออกจากกัน
จุดอ่อน : ผู้ใหญ่มักรวมพฤติกรรมกับนิสัยหรือบุคลิกภาพของลูกเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น “อย่าตีน้องนะ! เด็กที่ตีคนอื่นเป็นเด็กไม่ดี!”
แก้ไข : ชี้ไปที่ตัวพฤติกรรม เช่น “ตีคนอื่นไม่ดีนะ พูดกับน้องดีๆ สิ” หรือ “หนูไม่ใช่ขโมยสักหน่อย ทำไมหนูถึงหยิบของคนอื่นมาล่ะ” การแยกพฤติกรรมออกจากตัวลูก จะทำให้หนูๆ เรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองและปรับปรุงแก้ไข แทนที่จะต้องมานั่งรู้สึกแย่เพราะถูกตัดสินว่าเป็น “คนไม่ดี” ด.ญ.ไธญาราเจต พาเดสกี้ และคุณแม่
หากวิธีการดังกล่าวยังไม่สามารถให้ลูกยอมรับฟังคุณได้ มีอีกวิธีที่จะช่วยสยบลูก เมื่อไม่ยอมฟังคำสั่งของพ่อแม่ ดังนี้ค่ะ
1. มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ สิ่งที่คุณบอกไม่ใช่คำขอร้องหรือข้อเสนอแนะ แต่เป็น “คำสั่ง” ดังนั้นเมื่อคุณจะบอกให้ลูกทำอะไร ใช้น้ำเสียงที่จริงจังและอย่าเปิดโอกาสให้เขาโต้แย้ง
2. ประสานสายตา ก่อนที่จะบอกให้ลูกทำอะไร ขยับเข้าไปใกล้และประสานสายตากับเขา อย่าเพิ่งออกปากสั่งจนกว่าลูกจะหันมามองตาคุณ
3. ชัดเจน บอกลูกว่า “แม่อยากให้หนูทำ…และ…” รอจนกระทั่งลูกตอบว่า “โอเค” หรือ “ไม่เอา” ก่อน ถ้าเขาไม่ยอมทำตามหรือทำเป็นไม่ได้ยิน ทวนคำสั่งอีกครั้งโดยไม่แสดงอาการโกรธหรือหงุดหงิด ลูกจะรู้ว่าคุณตั้งใจให้เขาทำสิ่งนั้นๆ จริงๆ และจะไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามด้วย
อ่านต่อ >> 5 เคล็ดลับ! “เกลี้ยกล่อมตัวเล็กให้ยอมฟังแม่” คลิกหน้า 2
เหตุผลที่อาจทำให้เจ้าตัวเล็กไม่ยอมฟังสิ่งที่พ่อแม่พูด หรือต่อต้าน อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่พูดมากหรือพูดวกวน ยืดยาวจนลูกไม่มีโอกาสได้พูดจึงใช้วิธีไม่ยอมรับฟังเพื่อเป็นการต่อต้านแทน
- ขอลองสักหน่อย!
ลูกอยากทดสอบอำนาจของพ่อแม่และความเป็นอิสระของตนเองไปพร้อมกัน เขารู้สึกสนุกเมื่อเห็นพ่อแม่คอยย้ำเตือนไม่รู้อีกกี่ครั้งกี่หน “ไม่ได้ยินเหรอลูก แม่บอกตั้ง 3 ครั้งแล้วว่าให้เก็บตุ๊กตาพวกนั้น”
- ไม่ได้ยินจริงๆ
บางครั้งเจ้าตัวเล็กก็หมกมุ่นอยู่กับการเล่นหรือตั้งใจทำอะไรอยู่ จนไม่ได้ยินเสียงพูดของพ่อแม่ หรือแม้แต่เสียงอื่นที่ดังอยู่รอบตัว
วิธีช่วยให้ลูกตั้งใจรับฟังสิ่งที่คุณพูด
1. รับฟังสิ่งที่เขาพูด
บ่อยครั้งที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่เคยรับฟังสิ่งที่ลูกพูด แม้สิ่งที่ลูกพูดอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับคุณ แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขามาก หากคุณรับฟังสิ่งที่ลูกพูด เขาก็จะฟังสิ่งที่คุณพูดเช่นกัน
2. ปรับเปลี่ยนวิธีการพูด
พ่อแม่บางคนอาจจะออกคำสั่งที่ลูกไม่เข้าใจ หรือสั่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน การบอกลูกว่า “เอาผ้าเช็ดตัวไปแขวนให้เรียบร้อย” ขณะที่เขายังสูงไม่พอที่จะเขย่งถึงราว หรือ “เก็บของเล่นพวกนั้นให้หมด” ทั้งที่ลูกยังไม่รู้ว่าจะต้องเก็บที่ไหนหรือต้องเริ่มเก็บอย่างไรทำให้ลูกสับสนและไม่อยากรับฟังในที่สุด ดังนั้นควรสอนทักษะต่างๆ ก่อนจะบอกให้ลูกทำสิ่งนั้น และควรบอกด้วยคำง่ายๆ ชัดเจน
3. บอกเมื่ออยู่ใกล้ตัว
อย่าสั่งให้ลูกทำอะไรขณะที่คุณอยู่อีกฟากหนึ่งของห้องหรือขณะที่หันหลังให้ลูก เมื่อต้องการบอก คุณควรเดินเข้าไปใกล้ตัวลูก มองตา แล้วพูดช้าๆ ด้วยเสียงนุ่มนวล หากก้มตัวให้อยู่ในระดับเดียวกับลูกได้ยิ่งดีค่ะ
4. ใช้วิธีอื่น
ถ้าการพูดไม่ทำให้เขาสนใจลองหาวิธีอื่นที่จะเรียกความสนใจลูกได้ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมฟังเมื่อคุณเตือนหลายครั้งแล้วว่าอย่ายุ่งกับตู้เก็บเอกสารนั้น คุณอาจพาเขาไปห้องอื่น หรือให้ทำกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
หากลูกไม่ยอมตอบรับเมื่อคุณเรียกไปกินข้าว คุณก็สามารถเข้าไปแยกเขาออกมาจากสิ่งที่กำลังเล่นอยู่ อุ้มไปนั่งที่โต๊ะได้เลย แต่ควรระวังว่าอย่าลากตัวลูกออกมานอกจากจำเป็นจริงๆ เท่านั้น พยายามพูดกับเขาด้วยท่าทีที่จริงจัง เช่น “แม่รู้ว่าลูกยังอยากเล่น แต่ไปกินข้าวก่อนนะ ให้คุณไดโนเสาร์รอแป๊บหนึ่ง หรือลูกจะเอามันมาไว้ที่โต๊ะอาหารก็ได้จ้ะ”
5. ชื่นชม
ถ้าลูกรับฟัง (จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยิน) คุณควรกล่าวชมเชย เช่น “เก่งมากๆ เลยจ้ะที่หนูลุกขึ้นทันทีตอนที่แม่เรียกกินข้าว” ลูกจะรู้สึกมีกำลังใจอยากทำอย่างนี้อีก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids