อยากทราบว่าการพูดสองภาษากับลูกส่งผลจริงๆ หรือไม่ และควรจะแก้ไขอย่างไรดีคะ
เรื่องพูดไม่ชัดอาจพบได้ในเด็กอายุก่อน 4 ขวบ เนื่องจากการใช้ปาก ลิ้น ฟัน ไม่คล่องแคล่วพอ ยังไม่สามารถควบคุมอวัยวะแล้วส่งเสียงให้เป็นไปตามที่ใจต้องการได้ แต่ถ้า 4 ขวบแล้วยังพูดไม่ชัด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
• ปัญหาการได้ยิน เช่น หูไม่ได้ยินตั้งแต่กำเนิด หรือมีปัญหาหูชั้นกลางอักเสบบ่อยๆ เมื่อไม่ได้ยินเสียงพูดของผู้อื่นหรือได้ยินแต่ไม่ชัด ทำให้การเลียนแบบไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ได้ยินเสียงของตนเอง ทำให้ไม่สามารถปรับการพูดให้ชัดเจน การแก้ไขคือ ปรึกษาแพทย์ด้านหู เพื่อแก้ไขการได้ยิน เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง การรักษาภาวะหูชั้นกลางอักเสบ อาจต้องใส่ท่อระบายน้ำในหู และเมื่อหูได้ยินดีขึ้นแล้ว แพทย์จะส่งต่อให้นักฝึกพูดเพื่อฝึกการพูดต่อไป
• ปัญหาของอวัยวะที่ใช้พูด เช่น เป็นพังผืดใต้ลิ้น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ฟันหลอ เพราะการออกเสียงต้องอาศัยอวัยวะเหล่านี้ การแก้ไขคือ การแก้ไขซ่อมแซมความผิดปกติ และส่งฝึกพูดต่อไป
• ปัญหาของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เด็กที่มีปัญหาสมองพิการมักจะพูดไม่ชัดด้วยสาเหตุนี้ การแก้ไขคือ ปรึกษาแพทย์และนักฝึกพูด เพื่อฝึกกระตุ้นพัฒนาการและฝึกพูด
• ขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้อง เช่น อยู่กับคนที่พูดไม่ชัด ไม่มีคนพูดชัดคอยคุยด้วย จึงขาดการเลียนแบบที่ถูกต้อง ปล่อยให้ดูทีวีคนเดียว จึงอาจเลียนแบบการพูดแบบผิดๆ ในทีวี การแก้ไขคือ การไม่ให้ดูทีวีคนเดียว เลือกรายการที่มีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เช่น รายการข่าว
คุณพ่อคุณแม่เป็นคนฝึกลูกเองได้ โดยการพูดคำนั้นซ้ำ ช้าๆ ชัดเจน โดยลดตัวลงไปอยู่ในระดับเดียวกับเด็ก ตาสบตากัน การฝึกพูดไม่ควรเข้มงวดมากนัก จะทำให้เด็กเครียดจนไม่อยากพูด ควรสร้างบรรยากาศให้เพลิดเพลิน และไม่ล้อเลียนการพูดไม่ชัดของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กอายจนไม่กล้าพูด หรืออาจเข้าใจผิดว่าการพูดไม่ชัดเป็นเรื่องดี สร้างความสนุกในครอบครัว
ส่วนเรื่องที่แต่ละบ้านจะพูดสองหรือสามภาษาไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดไม่ชัด แต่อาจเป็นสาเหตุในกรณีของการเริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กอื่นวัยเดียวกัน ถ้าลูกไม่ได้มีปัญหาสมองพัฒนาการช้ากว่าวัย ลูกจะสามารถเข้าใจและพูดได้เองในที่สุด แต่ถ้าลูกเป็นเด็กที่อาจมีปัญหาสมองช้ากว่าวัย แนะนำให้พูดกับลูกเพียงภาษาเดียวก่อน จนกว่าเขาจะเริ่มพูดได้ดีพอสมควรแล้วจึงค่อยเริ่มภาษาที่สอง
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด