คำสอนโบราณ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ใช้ได้ผลจริงไหมกับเด็กยุคนี้?!
คำสุภาษิตโบราณที่มีไว้ใช้สำหรับการเลี้ยงดูบุตรหลานที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หมายถึงหากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร แต่กลายเป็นว่าพ่อแม่บางท่านเข้าใจว่า อยากให้ลูกได้ดี ก็ต้องตีเท่านั้น จริงอยู่ค่ะ ที่เด็กบางคนได้ดีเพราะการกระทำนั้น แต่บางคนกลับส่งผลทำให้มีพฤติกรรมที่แย่ลง
อย่างไรก็ตาม กลับมีกระแสต่อต้านการทำโทษเด็กด้วยวิธีการตบตีกว้างขวางมากขึ้น เพราะเชื่อว่า การทำโทษเด็กด้วยการตบตี ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และทำให้เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเมื่อเติบโตขึ้น
โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ทำการเผยแพร่รายงานพิเศษ พร้อมอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ คลอเดีย แคปปา นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูนิเซฟ ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานสถานการณ์เด็กทั่วโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2-4 ปี รวมกว่า 300 ล้านคนในประเทศต่าง ๆ มักถูกทำโทษเพื่อสั่งสอนเรื่องความประพฤติ และเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า การทำโทษเด็กเป็นการใช้กำลังทางกายภาพ มีทั้งการตบหรือตีตามร่างกายส่วนต่าง ๆ ของเด็ก การใช้ไม้เรียวหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ฟาดหรือเฆี่ยน รวมถึงการเขย่าตัวหรือหยิก แคปปาเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า บางประเทศมีความเชื่อว่า ผู้ที่ทำโทษเด็กด้วยการตบตี มักเป็นผู้ปกครองในครอบครัวที่ฐานะยากจนและไม่ได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่ผลวิจัยที่สำรวจในผู้ปกครองมากกว่า 1,100 ล้านคนในกลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ พบว่าครอบครัวที่ฐานะดีก็ใช้วิธีตบตีเพื่อทำโทษเด็กไม่แตกต่างจากครอบครัวที่ฐานะยากจน
ทั้งนี้ซีเอ็นเอ็นได้ระบุว่า ประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายห้ามทำโทษเด็กด้วยการตบตีนั้นคือประเทศสวีเดน หลังจากนั้นมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายที่มีความใกล้เคียงกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผลวิจัยของ กรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออสตินในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เรื่องการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการทำโทษด้วยการตีเด็ก มีการสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 160,927 คน พบว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าการทำโทษเด็กด้วยการตบตีทำให้เด็กมีผลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง แต่กลับพบว่าการใช้กำลังทางกายภาพกับเด็กเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่า เนื่องจากเด็กที่ถูกทำโทษด้วยการตบตีเป็นประจำมีแนวโน้มจะก้าวร้าว มีปัญหาทางจิต และใช้กำลังกับผู้อื่นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
สาเหตุที่ไม่ควรตบตีลูก
1.อย่าลืมนะคะว่า ลูกมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่าง เมื่อไรก็ตามที่เราทำโทษลูกด้วยการตบตีจนทำให้ดูเหมือนกับว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้น เป็นพฤติกรรมปกติ โดยทำให้ลูกรู้สึกว่า วิธีดังการตีนั้น เป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่ลูกโตขึ้น ลูกก็จะนำวิธีการดังกล่าวนี้ไปใช้แก้ปัญหาตอนที่เขาโตขึ้นด้วยเช่นกัน
2.การตบตีลูก อาจจะทำให้ลูกรู้สึกว่า พวกเขาพ่ายแพ้ อ่อนแอ และเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่า การทำโทษลูกด้วยวิธีการตีนั้น ถือเป็นการทำลายความมั่นใจของลูกได้อย่างหนึ่ง
3.การทำโทษด้วยการตี ถือเป็นเครื่องมือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกได้เป็นอย่างดี ในบางครั้ง ลูกอาจจะยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจถึงความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีและหวังให้พวกเขาเป็นคนดี โดยลูกอาจจะตีความหมายว่า ที่พวกเราลงโทษเขา แสดงว่า พ่อแม่ไม่ได้รักพวกเขาเลยนั่นเอง
4. เมื่อไรก็ตามที่พ่อแม่ตีลูก เมื่อนั้นความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หมายความว่า หากคุณตีลูกครั้งแรก แน่นอนค่ะว่า ลูกย่อมเกิดความไม่พอใจ อาจจะทำให้พวกเขาพยศมากขึ้นกว่าเดิม และเมื่อนั้นก็ส่งผลให้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่หงุดหงิดมากกว่าเดิม แล้วตรงไหนละคะ คือจุดสิ้นสุดของเรื่องราวดังกล่าว ถ้าไม่ใช่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น
5.การตีลูก ไม่ได้เป็นการยืนยันว่า ลูกของเราจะปฏิบัติหรือประพฤติตนให้ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากคำเตือนของสถาบันต่าง ๆ ว่า การแก้ปัญหาด้วยการตีนั้น ไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้ว่าลูกจะเป็นคนดี การพูดคุย สอนลูก พร้อมกับให้เหตุผลต่างหาก เป็นทางออกที่ดีที่สุด
6.อย่าลืมนะคะว่า ลูกอยู่ในวัยที่กำลังจดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การที่คุณพ่อคุณแม่ตีพวกเขา อาจจะส่งผลทำให้สภาพจิตใจของลูกแย่ลงได้ โดยลูกอาจจะฝังใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้กลายเป็นเด็กที่มีความผวากลัว ตกใจง่าย และมีความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับพ่อแม่ของเขาได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คะ รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี อาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มโกรธและหงุดหงิด เมื่อนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ นับ 1 ถึง 10 เพื่อให้ใจเริ่มเย็นลง เมื่อใดก็ตามที่ใจเย็นแล้ว เมื่อนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เข้าไปพูดคุยกับลูก ด้วยเหตุผล เท่านี้ ลูกของเราก็จะสามารถปฏิบัติตัวเป็นคนดีได้โดยที่ไม่มีใครต้องเจ็บตัวหรือเจ็บใจเลยละค่ะ
ขอบคุณที่มา: VoiceTV และ Ask Dr. Sears
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่