มีงานวิจัยออกมาแสดงให้เห็นถึงผลเสียของ เด็กเล่นมือถือ-แท็บเล็ต ว่าอาจทำให้กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ
วิจัยชี้! เด็กเล่นมือถือ-แท็บเล็ต เสี่ยงเครียด-วิตกกังวล-ซึมเศร้า
ในยุคนี้ที่มือถือ แท็บเล็ต และเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านมือถือ การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการใช้สิ่งเหล่านี้สร้างความบันเทิงแทนโทรทัศน์ เพราะสามารถเลือกได้ว่าจะดูรายการไหน เวลาใดก็ได้ จึงไม่แปลกที่ลูก ๆ มักจะใช้เวลาอยู่กับมือถือ-แท็บเล็ต ได้เป็นเวลานาน
เรารู้กันอยู่แล้วว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูมือถือหรือแท็บเล็ตเลย เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการหลาย ๆ ด้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบจะสามารถดูมือถือ แท็ปเล็ตได้ในเวลาไม่จำกัด ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงนำบทความที่ได้วิจัยถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กจำนวน 40,000 คนที่มีอายุ 2-17 ขวบ ที่ใช้เวลากับมือถือ แท็ปเล็ตนานเกินไป ดังนี้
- 46% ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เล่นมือถือนานเกินไป พบว่ามีแนวโน้มที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้และหงุดหงิดอารมณ์เสียได้ง่าย ๆ
- 42.2% ของเด็กอายุ 14-17 ขวบ ที่เล่นมือถือนานเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ
- 9% ของเด็กอายุ 11-13 ขวบ ที่ใช้เวลาในการเล่นมือถือเพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน พบว่าไม่สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสิ่งรอบตัว
จะเห็นได้ว่าเพียงการใช้เวลากับมือถือ 1 ชั่วโมงต่อวันก็มีผลกระทบกับเด็ก ๆ ได้ แม้ว่าจะมีผลกระทบเป็นจำนวนน้อยก็ตาม ซึ่งผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีความวิตกกังวลมากจนเกินไปหรือซึมเศร้าได้
- มีความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เด็ก ๆ จะต้องมีไว้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
- ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
- ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้
นี่เป็นเพราะสมองของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบอ่อนไหวต่ออุปกรณ์อิเล็คโทรนิกต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากสมองของเด็กกำลังพัฒนาและยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นักวิจัยจึงแนะนำว่าให้ คุณพ่อคุณแม่จำกัดเวลาในการใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกต่าง ๆ โดยเฉพาะในขณะที่เรียน ทานข้าว และทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยในเด็กที่มีอายุ 2-5 ขวบ ไม่ควรดูมือถือเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และ ในเด็กวัย 6-17 ขวบ ไม่ควรดูมือถือเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เด็กเล่นมือถือ อันตราย และ 6 ขั้นตอนช่วยลูกไม่ให้ติดมือถือ
เด็กเล่นมือถือ มากเกินไป = ติดมือถือ
เราทราบกันแล้วว่า เด็กเล่นมือถือ นานเกินไปนั้นก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่จึงควรจำกัดเวลาให้ลูกอยู่หน้าจอไม่เกิน 1-2 ชม. ต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าลูกไม่ยอมให้คุณพ่อคุณแม่จำกัดเวลาได้ง่าย ๆ แน่นอน ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงมีเคล็ดลับดี ๆ ในการช่วยไม่ให้ลูกติดมือถือมาฝากค่ะ
6 ขั้นตอนช่วยลูกไม่ให้ติดมือถือ
-
อย่าปล่อยให้ลูกว่าง
ลองคิดดูว่าเมื่อเราเองอยู่ว่าง ๆ ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือมานั่งดู ลูกก็เช่นกัน การปล่อยให้ลูกเล่นของเล่นเองคนเดียว ลูกจะเล่นของเล่นชิ้นนั้นได้ไม่นาน แล้วก็จะรู้สึกเบื่อ เมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรทำ ก็จะหันไปหาสมาร์ทโฟน ที่สามารถเพิ่มความสนุกให้ลูกได้หลายเท่า ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมให้ลูกทำ โดยอาจจะนั่งเล่นของเล่นกับลูก เล่นบทบาทสมมติ หรือหากเล่นในบ้านเบื่อแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาลูกไปเล่นตามสนามเด็ก เล่นตามสวน หากิจกรรมนอกบ้าน เพื่อให้ลูกได้พบกับเพื่อนใหม่ และได้พบกับความสนุกนอกเหนือจากการดูสมาร์ทโฟน หรืออาจจะพาลูกไปเล่นกีฬาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกชอบก็ได้ค่ะ การหากิจกรรมนอกบ้านนั้น จะช่วยเพิ่มพัฒนาการให้ลูกในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย ได้อีกด้วย
2. ออกกฎเกณฑ์ในการใช้สมาร์ทโฟน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในยุคนี้ที่สมาร์ทโฟนเป็นเหมือนอีกปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตไปแล้ว การที่จะห้ามไม่ใช้ลูกเล่นเลยก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกได้เล่นมือถือได้ แต่ควรจะทำความตกลงร่วมกันว่าควรใช้เวลาอยู่หน้าจอกี่นาที และไม่ควรเล่นมือถือในเวลาทานข้าว เวลาก่อนนอน หรือเวลาที่ควรจะออกไปเล่นนอกบ้าน เป็นต้น และแทนที่จะปล่อยให้ลูกดูการ์ตูนผ่านมือถือเพียงอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกถึงวิธีการใช้สมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ เช่นการดูแผนที่ การหาข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้แต่การเล่นเกมที่มีประโยชน์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
3. บอกให้ลูกได้รู้ถึงอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟน
เด็กสามารถเข้าใจถึงเหตุผลได้บ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกลูก ๆ ได้ว่าแสงจากหน้าจอมือถือนั้น เป็นอันตรายต่อสายตาได้มากแค่ไหน ไม่รวมถึงรังสีหรือคลื่นต่าง ๆ ที่ออกมาจากมือถือ นอกจากอันตรายที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของคนที่ดูมือถือนาน ๆ แล้ว ยังมีอันตรายทางด้านสุขภาพจิตที่ลูกอาจจะเป็นเมื่อดูมือถือนานไป
4. เป็นตัวอย่างที่ดี
หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูก เพราะการเล่นโทรศัพท์ต่อหน้าลูก ก็เหมือนการสอนให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ลูกก็เหมือนกระจกที่ส่องตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ติดมือถือ ก็ไม่แปลกที่ลูกจะติดมือถือบ้าง เพราะลูกจะมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะพ่อแม่ก็ทำ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจที่จะดูแต่มือถือเมื่ออยู่กับลูก และหากิจกรรมทำร่วมกันกับลูก ลูกก็จะเรียนรู้ได้จากตัวอย่างที่อยู่ตรงหน้าของเค้านั่นเอง
5. ทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงลูกทุก ๆ คน
หลาย ๆ บ้านที่มีปู่ ย่า ตา ยาย มาช่วยเลี้ยง มักจะเจอกับปัญหาที่คนที่เลี้ยงเองเป็นคนยื่นโทรศัพท์ให้ลูก เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เด็กเชื่อฟัง หรือหยุดร้องไห้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจและบอกถึงแนวทางในการเลี้ยงลูกให้กับผู้เลี้ยงทุกคนว่าควรจะเลี้ยงไปในทางเดียวกัน
6. ใช้แอพเป็นตัวช่วย
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในการจำกัดเวลาในการดูโทรศัพท์มือถือได้ อย่างเช่น Youtube Kids ที่สามารถปิดแอพพลิเคชั่นได้เองเมื่อลูกดูครบเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้กำหนดไว้ เป็นต้น
มือถือ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่อันตรายและไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่อะไรที่มากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดโทษได้มากกว่าประโยชน์ การที่ เด็กเล่นมือถือ มากเกินไปก็สามารถเกิดโทษได้เช่นกัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ปัญหาสายตาในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
ปักหมุด 6 ที่เที่ยวในกรุงเทพฯ พาลูกเที่ยว ใกล้แค่นี้ก็ฟินได้
พาลูกเที่ยว พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ 5 มิวเซียมเข้าฟรี มีแต่คุ้มกับคุ้ม!!
มือถือ-แท็บเล็ต-โทรทัศน์ ช่วยให้ลูกน้อยกินง่ายจริงหรือ?
ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.thelondoneconomic.com, www.parentcircle.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่