AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำโทษต้องทันทีหรือทีหลังก็ได้?

Q. ลูกอายุ 4 ขวบ ตะโกนเรียกพ่อแม่ ตวาด หรือตีพ่อแม่ต่อหน้าคนอื่น หรือขณะที่เรากำลังคุยธุระอยู่ เราควรดุและทำโทษเขาตอนนั้นเลย หรือให้คุยธุระเสร็จแล้ว ค่อยไปทำโทษทีหลังครับ

เรื่องนี้ขอให้ทราบว่าหากไม่ชอบคำตอบที่ผมให้ก็อย่าถือสา ลองถามผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ได้ครับ

แลกเปลี่ยนแบบคุณพ่อกับคุณพ่อกันก่อนนะครับ การสั่งสอนลูกเล็กเป็นเรื่องที่ผมทำทันทีทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในที่รโหฐานหรือที่สาธารณะ และไม่ขึ้นกับลักษณะความผิดด้วย เช่น นั่งกินข้าวไม่เป็นที่เป็นทางในร้านอาหารคอยแต่จะมุดใต้โต๊ะปีนป่ายเก้าอี้ ผมจะลุกจากโต๊ะเดินอ้อมไปหาลูก นั่งลงเสมอหน้าและพูดด้วยเสียงเอาจริงว่า ลูกต้องนั่งกินอยู่กับที่เหมือนพ่อแม่ แล้วเราจะกินเสร็จพร้อมกันไปเล่นด้วยกันต่อ เป็นต้น

ในความผิดร้ายแรง คือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ผมจะตีทันทีไม่ว่ารอบข้างจะมีใครก็ตาม แต่บังเอิญผมไม่เคยต้องทำอะไรเช่นนั้นเลย เลยรอดตัวไป

คราวนี้มาว่ากันเรื่องวิชาการ

1. ประเด็นทำโทษทันทีหรือทีหลัง

ตอบว่าทำทันที เพราะทำทันทีจึงเกิดการเรียนรู้ว่าพ่อทำโทษเรื่องอะไร คำอธิบายคือ สมองเด็กไม่ได้ทำงานด้วยเหตุผลแบบของเรา สมองของเขาทำงานแบบจับคู่เหตุการณ์สองอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน (Phenomanalisticcausality) ยิ่งเหตุการณ์สองอย่างนั้นประชิดกันมากเท่าไรเขายิ่งจับคู่ง่ายขึ้นเท่านั้น ถ้าตีพ่อแม่ก็ต้องถูกตีทันที จึงจะเข้าใจว่าเขาถูกทำโทษเรื่องอะไร มิใช่รออีกหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงค่อยมาทำโทษแล้วตามด้วยคำอธิบายยืดยาวเหลวไหลไร้สาระ

2. ประเด็นทำต่อหน้าคนอื่นหรือในที่รโหฐาน

ตอบว่าทำโทษทันทีแม้ว่าจะเป็นที่สาธารณะ ที่จริงนี่เป็นประเด็นหน้าตาของพ่อแม่มากกว่าหน้าตาของเด็กๆ   พ่อแม่ส่วนใหญ่รักษาหน้าตัวเองโดยพร้อมจะปล่อยปละละเลยให้ลูกเสียคน หากจะเถียงว่าลูกเสียหน้าก็ต้องยอมให้เสียหน้า เพื่อจะได้รู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่พ่อแม่จะไม่ยอมอ่อนข้อเป็นอันขาด ถึงลูกจะเสียหน้าก็จะทำโทษทันทีอยู่ดี แน่นอนว่าเราทำโทษลูกเพื่อให้เขาหลาบจำ เรามิได้จะ “ทำร้าย” ลูกด้วยอารมณ์โกรธ ขอให้แยกสองอย่างนี้ออกจากกัน อย่าเอามาปะปนกันเพื่ออ้างที่จะไม่ทำอะไร (แต่เราจะไม่ทำโทษลูกวัยรุ่นของเราต่อหน้าคนอื่นนะครับ)

3. ความผิดร้ายแรง

คือ ทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ นอกจากนี้เป็นความผิดไม่ร้ายแรงทั้งนั้นครับ อธิบายดังนี้ เด็กทุกคนพร้อมจะทดสอบกฎ กติกา มารยาทที่เรากำหนดให้อยู่แล้ว เขาแค่ทดสอบว่าเราเอาจริงไหม จะได้ทำตัวถูก

ดังนั้นเราไม่ควรจุกจิกทุกเรื่องห้ามหมดทุกอย่าง ปล่อยได้ก็ปล่อย พ่อแม่อย่าเอาแต่ใจตัวให้มากนัก มีเรื่องที่เราควรเอาจริงแต่ไม่ถึงกับต้องตีคือ เรื่องกติกาของส่วนรวม เช่น การกินที่โต๊ะอาหารในร้าน การใช้รถสาธารณะหรือรถไฟฟ้า การส่งเสียงดังในที่ที่ห้ามใช้เสียง การแซงคิวซื้อของหรือจ่ายเงิน การใช้สมาร์ทโฟนในที่สาธารณะ เป็นต้น กติกากลางเหล่านี้คนทุกคนต้องเคารพ เด็กทุกคนก็เช่นกัน หากเขาละเมิดเราต้องสั่งสอนอย่างจริงจัง หากเขาไม่ทำตามเราต้องเอาเขาออกจากสถานที่นั้นแล้วคาดโทษ สุดท้ายคือกรณีความผิดร้ายแรงที่พ่อแม่ควรหยุดเขาทันที ไม่ปล่อยปละละเลยจนทำอะไรไม่ได้ในอนาคต

สรุปคือพฤติกรรมของเด็กๆ มี 3 ระดับ ระดับปล่อยได้ขอให้ปล่อย ระดับที่เป็นกติกาสังคมต้องเอาจริงกับเด็ก ระดับร้ายแรงคือทำร้ายคน ทำลายข้าวของ พูดคำหยาบ ให้ทำโทษ จำเป็นต้องตีก็คือตี

4. พฤติกรรมของเด็กๆ จะได้ดั่งใจเราหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมตนเองของเขา ความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นเรื่องต้องฝึกตั้งแต่แรกๆ และผมยืนยันว่าการกินข้าวเป็นเรื่องแรกๆ เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการฝึกกินข้าวอยู่กับที่ให้เสร็จในเวลาที่กำหนด มิใช่เดินป้อนข้าวกันได้ครั้งละหลายสิบเมตรอย่างที่ทำๆ กัน ประเด็นมิได้อยู่ที่ข้าว ประเด็นอยู่ที่ความสามารถในการบังคับตัวเองให้นั่งกินข้าวให้เสร็จ หากเรื่องขี้ผงเท่านี้พ่อแม่สอนไม่ได้ ก็อย่าคาดหวังว่าเขาจะควบคุมตนเองในเรื่องอื่นๆ ได้เมื่อโตขึ้น

 

จากคอลัมน์ Kid {talk it easy} นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ภาพ: shutterstock