AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 ข้อ รู้ให้เท่าทัน กัน ลูกป่วย โรคRSV บ่อย!

หน้าฝนแบบนี้   พ่อแม่ระวังให้ดี ถ้าไม่อยากให้ ลูกป่วย โรคRSV ซ้ำ!

 

อากาศสมัยนี้ เช้าหนาวเย็น บ่าย ๆ ฝนตก ปลายฝนต้นหนาวแถมกำลังเปิดเทอมใหม่ ๆ แบบนี้ด้วยแล้วละก็ ช่างเป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานของเราเนื้อหอมกันเสียจริง ๆ นะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ๆ ในวัยเตรียมอนุบาลหรืออนุบาลด้วยแล้ว เดี๋ยวเด็กคนนั้นป่วย เดี๋ยวเด็กคนนี้ป่วย และด้วยความที่เด็ก ๆ ไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่การติดโรคต่างๆ ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคอาร์เอสวี ที่อย่าว่าแต่คุณพ่อคุณแม่ขยาดเลยค่ะ เชื่อว่าบรรดาคุณครูและพี่เลี้ยงก็หวาดกลัวเช่นกัน

เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่สงสัยว่า ทำไมหนอลูกน้อยวัย 3 ขวบถึงเป็นโรคอาร์เอสวีนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เรียกได้ว่าปีนึงเป็นที 2 – 3 ครั้งเลยทีเดียว ไปอ่านเรื่องราวของคุณแม่ พร้อมกับคำแนะนำ 7 ข้อ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอ่าน หากไม่อยากให้ลูกป่วยโรคนี้ซ้ำอีก

อ่านต่อ >> เรื่องราวของคุณแม่ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ

 

แม่ถามหมอ ลูกป่วย โรคRSV บ่อยทำอย่างไรดี

“คุณหมอคะ ลูกชาย 3 ขวบ ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมา ป่วยเป็นโรค RSV 3 ครั้งแล้ว เสมหะเหนียวข้นมากเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร และจะมีวิธีไหนสามารถป้องกันได้บ้างไหมคะ รบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยค่ะ”

นายแพทย์สุเทพ สุขนพกิจ ได้ตอบคำถามผ่านเพจ Honestdocs ว่า ก่อนอื่น ต้องรู้ก่อนนะครับว่า ไวรัส RSV คืออะไร Respiratory Syncytial virus หรือ RSV เป็นเชื้อไวรัสที่รู้จักกันกันในวงการแพทย์มานานแล้ว ไวรัส RSVพบครั้งแรกเมื่อปี 1955 (พ.ศ. 2498)  มีการตรวจพบในลิงชิมแปนซีที่เกิดอาการป่วยจากหวัด ต่อมาไม่นานก็พบว่าสามารถติดต่อได้ในมนุษย์  และเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ส่วนสาเหตุนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัส RSV จะพบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ไวรัส RSV ติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น ดังนั้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นหวัดจึงเสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้มาก และเด็กเล็กสามารถได้รับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว โดยเชื้อ ไวรัส RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 วันครับ ดังนั้นนอกจากการได้รับเชื้อผ่านการไอจามใส่กันแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปากและเยื่อบุดวงตาได้ ภายหลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 2–3 วันไปจนถึง 2–3 สัปดาห์ สำหรับวิธีการป้องกันลูกนั้น สามารถทำได้ดังนี้

อ่านวิธีการป้องกันได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>


เครดิต: Honestdocs

 

 

 7 ข้อรู้ให้เท่าทัน ป้องกันลูกน้อยห่างไกล RSV

  1. RSV เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายลูกน้อยผ่านทางจมูก ปาก และเยื่อบุดวงตา เพียงแค่มีการไอจามรดกัน ก็สามารถติดต่อกันได้แล้ว
  2. เครื่องเล่นไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีทางรู้เลยว่า เด็กที่จับเครื่องเล่นก่อนหน้านี้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่
  3. ปลูกฝังลูกหลานให้ขยันล้างมือบ่อย ๆ และต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง เพราะล้างแค่น้ำเปล่าอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าเราสามารถกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ตามซอกมือหรือซอกเล็บได้
  4. พยายามหลีกเลี่ยงพาลูกน้อยไปยังสถานที่ ๆ มีผู้คนแออัด เพราะสถานที่เหล่านี้นี่ละค่ะ ที่จะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อโรคต่าง ๆ ชั้นดี
  5. คอยสังเกตอาการลูกให้ดี หากพบว่า มีอาการดังต่อไปนี้ อย่าชะล่าใจเด็ดขาดนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ตัวลายเขียว (อันอาจเกิดจากการขาดออกซิเจน) หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ไอมาก ไอโขลก ไอแบบมีเสมหะ ไข้สูงแบบขึ้น ๆ ลง ๆ จามบ่อยและมีน้ำมูกใส ๆ ไหลตลอดเวลา ปีกจมูกบานเวลาหายใจ เหนื่อยง่าย และหายใจมีเสียงวี๊ด หากลูกมีอาการดังที่กล่าวต่อไปนี้ รีบไปพาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คให้เร็วที่สุด ดีกว่าเป็นมากนะคะ
  6. หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกของตนป่วยเป็นโรคดังกล่าว ให้รีบแจ้งโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้ทราบ จะได้แจ้งเตือนให้ผู้ปกครองท่านอื่นคอยสังเกตอาการของลูก และหากมีเด็กป่วยมากเกิน 3 คนขึ้นไป โรงเรียนก็สามารถที่จะพิจารณาปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดได้เช่นกัน
  7. อย่ามั่นใจว่าลูกเราแข็งแรง และไม่ป่วยอะไรได้ง่าย ๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า อย่าประมาทนั่นเองค่ะ เพราะโรคนี้ไม่ได้เลือกคนที่ไม่แข็งแรงเท่านั้น เด็กคนไหน ๆ ก็เป็นได้เช่นกัน

หากเรารู้เท่าทัน 7 ข้อนี้ ก็สามารถเป็นเกราะป้องกันลูกน้อยของเราให้ห่างไกลโรคดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งแล้วละค่ะ

อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids