หลักการช่วยเหลือดูแลให้เจ้าตัวน้อยเอาชนะความกลัว
เมื่อความขี้กลัวของลูกไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะวัยเด็ก แต่ยังมีผลส่งต่อพัฒนาการของเด็กในอนาคต และมีส่วนหล่อหลอมตัวตนเมื่อเด็กเติบโตขึ้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกังวลกับความขี้กลัวของลูก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ ได้แนะว่า “เด็กขี้กลัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจ สามารถรับมือปรับพฤติกรรมความกลัวของเด็กได้”
5 ข้อพ่อแม่ช่วยได้เมื่อลูกขี้กลัว
- เมื่อเห็นลูกเกิดความกลัวต่อสิ่งตรงหน้า คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกถึงวิธีโต้ตอบเมื่อลูกกลัวหรือกังวลใจ เช่น แสดงท่าทีปลอบโยนด้วยความอบอุ่น ส่งเสริมให้กำลังใจ ทำเป็นตัวอย่าง หรืออยู่ข้าง ๆ เพื่อให้ลูกบรรเทาความกังวลใจลงได้
- สอนลูกให้เผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง ไม่บังคับหรือกดดัน
- เมื่อลูกเกิดความกลัว หากิจกรรมให้ลูกได้ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงความสนใจออกจากสิ่งที่กลัวออก เพื่อให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่เกิดจากความกังวลใจ ให้สบายใจ และปลอดภัย
- ใช้วิธีเล่นบทบาทสมมุติกับลูก เพื่อให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับสถานการณ์ที่กลัว เช่น เมื่อลูกกลัวหมอฉีดยา ก็ชวนลูกเล่นเป็นหมอกับคนไข้ เมื่อลูกกลัวความมืดในห้อง ไม่อยากให้ปิดไฟตอนนอน ก็อาจจะลองติดดาวเรืองแสงไว้บนผนังห้อง เมื่อปิดไฟก็จะสร้างบรรยากาศที่ทำให้ลูกหายตื่นกลัวกับความมืดลงได้ เป็นต้น
- ใช้คำพูดเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ดีขึ้น เช่น เมื่อลูกกลัวสุนัขที่อยู่ข้างทาง คุณแม่อาจพูดว่า “แม่เข้าใจว่าลูกกลัว แต่แม่อยู่ข้าง ๆ จะจูงมือลูกเดินผ่านไปด้วยกันนะ” เป็นต้น
นอกจากนี้ ผศ.พิเศษ แพทย์หญิงปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้แนะแนวทางแก้ว่า “วิธีการแก้ไขเพื่อปรับพฤติกรรมความกลัวของลูก คือ ลดท่าทีข่มขู่ การหลอกทุกรูปแบบให้เด็กหวาดกลัว เพราะจะเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลและความกลัวให้แก่เด็กโดยไม่จำเป็น ควรแสดงท่าทีอบอุ่น ปลอบประโลม เข้าใจความรู้สึกของเด็ก บอกความจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น ทำซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ เพิ่มทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และสภาพแวดล้อมมากขึ้น ฝึกให้เผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไปและคอยให้กำลังใจเป็นระยะ จนเด็กสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้”
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าความกลัวเป็นธรรมชาติตามวัยของลูก ซึ่งแต่ละคนจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน ไม่ควรหงุดหงิดเมื่อลูกตื่นกลัวอะไรง่าย ๆ หรือมองเป็นเรื่องตลก เมื่อลูกมีที่พึ่งทางจิตใจ ก็จะมีสภาพจิตใจที่มั่นคงตามไปด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปลูกจะรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้นเอง แต่ถ้าลองวิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล ยังเห็นอาการกลัวของลูกชัดเจน ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำต่อไปนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.trueplookpanya.com, www.dmh.go.th, www.givetochild.com
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
6 พฤติกรรม ลูกวัยก่อนเรียน กับปัญหาที่พ่อแม่มือใหม่เตรียมรับมือ!
3 เคล็ดลับดูแล เด็กวัยก่อนเรียน ให้พร้อมก่อนเข้าเรียน
รู้ทัน! พฤติกรรม พัฒนาการลูก วัยก่อนเรียน ที่พ่อแม่ต้องรับมือ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่