คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่าการให้ลูกได้เล่น “ยิ่งเล่น ยิ่งฉลาด” หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ได้กล่าวไว้ว่า “งานของเด็กคือการเล่น” และการเล่นของเด็กนั้นนำไปสู่การพัฒนา PQ (Play Quotient) ความฉลาด ที่เกิดจากการเล่นได้ดีอีกด้วย
สำหรับเด็กในวัย 2-7 ขวบ “การเล่น” ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เกิดขึ้นออกมาได้หลายทาง เป็นการปูพื้นฐานทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ ให้กับเด็กได้ ดังนั้น ความฉลาดหรือ PQ ที่เกิดจากการเล่นของลูกสร้างได้ไม่ยาก แค่คุณพ่อคุณแม่เพียงปล่อยให้ลูกได้เล่น และส่งเสริมด้วยการสอนลูกเล่นอย่างถูกวิธีตามวัย เช่น ฝึกให้ลูกหัดเดิน ฝึกให้ลูกหัดพูด ให้ลูกได้เล่นกับของเล่นเสริมพัฒนาการที่หลากหลาย พอลูกเข้าเรียนก็ให้เล่นกับเพื่อน ฯลฯ เท่านี้ก็ทำให้ลูกได้เพลิดเพลิน มีความสุขกับการเล่น และมีส่วนช่วยพัฒนาการ มี PQ ที่ดี ส่งผลให้เกิดคุณสมบัติที่ดีในตัวเองคือ เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้
PQ (Play Quotient) สร้าง “ความฉลาด” ให้ลูกที่เกิดจากการเล่น
การเล่นสำหรับเด็กก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง สำหรับวัยเด็กพ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดหรับลูก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมอง และเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพสมอง ยิ่งเล่นมากยิ่งฉลาดมาก มี PQ สูง เมื่อลูกโตขึ้นอยู่ในวัยเรียน กิจกรรมการเล่นก็ย่อมมีมากขึ้นตามวัย แต่พ่อแม่บางคนมุ่งหวังให้ลูกได้เรียนหนังสือเก่ง มุ่งให้ลูกใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษ โดยให้เวลาการเล่นของลูกลดน้อยลง ซึ่งก็อาจทำให้ลูกมีความกดดัน ขาดทักษะชีวิต ความสุขในชีวิตลดน้อยลง ส่งผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าในเด็ก ดังนั้นหากลองเพิ่มโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่น ใช้ชีวิตวัยเด็กให้สมดุล ก็จะทำให้ลูกได้พัฒนาการ ได้ทักษะทางสังคม รู้จักการปรับตัว การช่วยเหลือกัน การเข้ากับผู้อื่น ใช้ชีวิตในสังคม และมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น
6 ประโยชน์จาก “งานเล่น” ช่วยสร้าง PQ ต่อเด็กอย่างไร
เพราะ “การเล่น” คืองานของเด็กที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการให้เด็ก ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น
- การเล่นช่วยพัฒนาทักษะหลากหลายและกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และมีส่วนเชื่อมโยงต่อการพัฒนา CQ (ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์) เช่น การเล่นเลโก้ต่อเป็นรูปทรงต่าง ๆ การวาดภาพ การเล่นโดว์ เล่นจิกซอว์ การเล่นบทบาทสมมุติ ฯลฯ ก็จะก่อให้เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างกลยุทธ์ การแก้ปัญหา การเล่นซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการฝึกฝน เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะสามารถคิดวางแผน มีวิธี สามารถแก้ปัญหาต่ออุปสรรคได้
- การเล่นมีส่วนเชื่อมโยงต่อการพัฒนา SQ (ความฉลาดในการเข้าสังคม) ช่วยให้เด็กมีทักษะทางสังคม จากการได้เล่นกับเพื่อน กับพี่น้อง รู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี รู้จักแบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย การแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในระหว่างเล่น ทำให้ลูกรู้จักวางตัวได้อย่างเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ รู้จักคิดวิเคราะห์ต่อการเข้าสังคมในอนาคตได้ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคนหมู่มากอีกด้วย
- การเล่นทำให้ลูกรู้จักกับการที่จะพยายามคิดแก้ปัญหา ฝ่าฟันกับอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการพัฒนา AQ (ความฉลาดในการแก้ปัญหา) ด้วยเช่นกัน เมื่อโตขึ้นแล้วหากต้องประสบความผิดหวังก็ไม่คิดย่อท้อ มีความพยายามควบคุมสถานการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ด้วยตัวเองได้ และเมื่อลูกผ่านด่านอุปสรรคสำเร็จ ก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
- การเล่นทำให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ รู้จักการกล้าแสดงออก เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ ส่งผลทำให้เด็ก ๆ ได้รับความสนุกสนานเพลินเพลิน และมีความสุข ซึ่งมีส่วนทำให้สมองเจริญเติบโต นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีด้วย
- การเล่นที่ใช้ร่างกายเคลื่อนไหว สิ่งที่ลูกจะได้รับก็คือพัฒนาการในส่วนต่าง ๆ เช่น พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่จากการขยับแขน ขา เคลื่อนไหวเดิน วิ่ง ปีนป่าย กระโดดไปมา ฯลฯ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กจากการใช้นิ้วจับของเล่น การทำงานประสานระหว่างมือ สายตา ได้อย่างแม่นยำ การเล่นกีฬาต่าง ๆ จะมีส่วนดีต่อสุขภาพแข็งแรง ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี และทำให้ลูกได้เรียนรู้กติกาในการเล่นร่วมกับผู้อื่น
- การเล่นนอกจากมีส่วนช่วยเพิ่มความฉลาด มีพัฒนาการด้านสมอง ยังนำไปสู่พัฒนาการด้าน Executive Function หรือ EF ร่วมถึงมีส่วนเชื่อมโยงต่อพัฒนาการด้าน EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ที่จะส่งผลอารมณ์และจิตใจของลูก ทำให้เป็นเด็กที่มีความสุข
วิธีเล่นเสริม PQ มีวิธีการเล่นและเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน เล่นของเล่นเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย เช่น ของเล่นสำหรับเด็กในวัย 3-5 ขวบ ได้แก่ เลโก้ จิกซอว์ บอร์ดเกม แป้งโดว์ แฟลชการณ์ด เครื่องดนตรี ชุด DIY สมุดภาพระบายสี หนังสือนิทาน ตุ๊กตา หุ่นยนต์ เป็นต้น แม้แต่กิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี เต้นรำ กีฬา ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยเพิ่ม PQ ทำให้ลูกฉลาด เพิ่มทักษะ ส่งเสริมความรู้ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็กได้เป็นอย่างดี ยิ่งได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วก็ยิ่งพัฒนาความฉลาดและทำให้มีความสุขควบคู่ด้วย
จะเห็นได้ว่า ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น ส่งเสริมให้ลูกได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ นายแพทย์ประเสริฐยังกล่าวถึงเรื่องนี้อีกด้วยว่า “การเล่นไม่มีข้อเสีย เพราะการเล่นคือภารกิจ การเล่นคือการทำงาน และเด็กสร้างโลกด้วยการเล่น ไม่แม้กระทั่งเสียเวลา การใช้เวลาที่คุ้มค่าที่สุดกับเด็ก คือการเล่น” ดังนั้นการปล่อยให้ลูกได้เล่น และคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาได้เล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่นไปพร้อมกับได้รับรู้ความรักความอบอุ่น ก็จะทำให้ลูกได้เติบโตเป็นเด็กที่ฉลาด แข็งแรง และมีจิตใจที่เข้มแข็งเมื่อเติบโตขึ้นมาในอนาคต.
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.gotoknow.org
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ :
8 วิธีเลี้ยงลูก ให้มี OQ (Optimist Quotient) ฉลาดมองโลกในแง่ดี ส่งผลดีต่อชีวิต
4 ข้อที่บอกว่า ลูกมี AQ (Adversity Quotient) ฉลาดแก้ปัญหา เอาชนะอุปสรรค รู้จักเอาตัวรอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่