เด็กๆ ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนส่วนใหญ่ มักจะเป็นเด็กที่มีผู้ปกครองคอยใส่ใจช่วยเหลือเวลาที่ทำการบ้าน เพราะนั่นทำให้ลูกเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ การที่พ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้านนั้นไม่ได้มีความหมายว่าการนั่งอยู่ที่โต๊ะ และใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการทำการบ้าน แต่หมายถึงการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนให้กำลังใจ สอนทักษะที่สำคัญในวิชานั้นๆ ให้แก่ลูก ได้แก่อธิบายโจทย์ปัญหาที่ยาก หรือคอยบอกให้ลูกหยุดพักสายตาบ้าง เป็นต้น
ในขณะที่การบ้านเป็นเรื่องที่ผ่านไปได้อย่างรวดเร็วสำหรับเด็กบางคน แต่สำหรับเด็กหลาย ๆ คนแล้ว พวกเขาคิดว่าการได้ทำการบ้านเป็นเหมือนการแบกรับภาระอันหนักอึ้งดี ๆ นี่เอง ซึ่งพ่อแม่และลูก ๆ มักมองผลประโยชน์จากการทำการบ้านต่างมุมกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ลูกจะได้เมื่อเขาทำการบ้าน วัตถุประสงค์ของเราก็เพื่อให้ลูกทำให้เสร็จแล้วลูกก็เอาการบ้านไปส่งครู
แต่สำหรับเด็กแล้ว มันเป็นเหมือนงานที่พวกเขาต้องทำให้เสร็จ และมันกลายเป็นภาระและมัน “ไม่สนุก” เลย ดังนั้น ในใจของพวกเขาจะคิดว่าพ่อแม่เป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดหรือตัวกำจัดความสนุกในชีวิตเมื่อเขาต้องทำการบ้าน
เช่นเดียวกัน สำหรับเด็กในวัยประถมมักจะหงุดหงิดมากและเกลียดการต้องนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ เพื่อทำการบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงมีเทคนิคดีๆที่สามารถช่วยลูกของคุณในการทำการบ้านให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แถมมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนี้
1. จัดตารางเวลาประจำวันให้ลูกทำการบ้านที่ชัดเจน
ก่อนหรือหลังอาหารเย็นก็ได้ ถ้ามีการบ้านมากควรลงมือทำหลังจากเลิกเรียน ทำบางส่วนที่โรงเรียนขณะรอพ่อแม่ไปรับ เด็กบางคนทำได้ดีหลังทางอาหารเย็น หรือบางคนชอบทำก่อนอาบน้ำ หรือหลังทานอาหารว่าง เป็นต้น และควรทำให้เสร็จแต่หัวค่ำจะได้เข้านอนพักผ่อนเร็วๆ
2. ทำความรู้จักกับครูของลูก
ไปร่วมงานของโรงเรียนเป็นงานแสดงต่าง ๆ ที่เด็กมักมีส่วนร่วมแสดงด้วยถ้วนหน้า เข้าประชุมสมาคมครูผู้ปกครอง เมื่อพบครูของลูกควรพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการเรียน และการแจกงานมาฝึกปรือที่บ้าน และปรึกษากับครูว่าพ่อแม่ควรมีบทบาทหรือมีส่วนช่วยลูกตรงไหนอย่างไร
3. ให้กำลังใจ และ ห้ามการเสริมแรงทางบวกกับลูก
เมื่อลูกทำการบ้านหรือกิจกรรมนั้นๆ สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่สามารถติดผลงาน เช่น งานศิลปะไว้ที่ตู้เย็นหรือที่มองเห็นได้ ทำให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ภาคภูมิใจในตัวลูกเสมอ
4. พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง
ถ้าพ่อแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เคยอ่านให้ฟังเสมอ พ่อแม่ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์ เขียนหนังสือ เขียนจดหมาย อ่านหนังสือเวลาว่าง ลูกๆ ก็จะทำตามพ่อแม่ดีกว่าพร่ำสอนโดยไม่มีตัวอย่าง
5. ในช่วงวันหยุด ควรจัดหาเวลาอ่านเขียน (study time) จะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น หลังรับประทานอาหารว่าง บางคนชอบให้ใช้เวลาตอนค่ำก็อนุโลมได้ เพื่อทบทวนบนเรียนและให้ลูกมีความพร้อมเสมอที่จะไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น
6. สอบถามลูกถึงงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
คำถามต่าง ๆ ที่ครูให้มาค้นหาคำตอบ ข้อสอบต่าง ๆ แล้วตรวจสอบว่าลูกทำครบไหม เตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามต่าง ๆ และปลอบประโลมเมื่อลูกคับข้องใจ คำถามบางคำถามพ่อแม่ไม่ทราบก็จะต้องช่วยกันค้นหาจากแหล่งต่างๆ ทั้งหนังสือ ตำรา หรือแม้แต่ทางอินเทอร์เน็ต
อ่านต่อ >> “เทคนิคช่วยลูกทำการบ้านให้ประสบความสำเร็จ” ข้อ 7-14 คลิกหน้า 2
7. หากยังมีคำถามเกี่ยวกับการบ้านที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ ให้ปรึกษากับคุณครูเจ้าของวิชา เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องต่อไป
8. ช่วยลูกในการวางแผนการทำการบ้าน
ในวันที่มีการบ้านหลายวิชา ช่วยลูกในการจัดเวลาและพักช่วงในการทำการบ้าน จัดทำเป็นตารางว่าควรจะทำอะไรเวลาไหนในคืนนั้น และใช้เวลาพัก 15 นาทีในทุกชั่วโมง
9. จัดบริเวณทำการบ้านให้น่าอยู่และผ่อนคลาย
การจัดสถานที่ที่มีความเหมาะสมที่เด็กๆ รู้สึกว่าน่าเข้าไปนั่งทำการบ้านตรง นั้นจะมีส่วนสำคัญช่วยให้ลูกอยากทำการบ้านและมีความสุขในการทำการบ้านอีก ด้วย และอย่าลืมเตรียมปากกา ดินสอ ยางลบ และอุปกรณ์สำหรับทำการบ้านให้พร้อมและใกล้มือเด็ก
10. กำจัดสิ่งรบกวนออกไป เช่น เสียงทีวี หรือเสียงดังอื่นๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
11. ชมเชย ประกาศกิตติคุณเมื่อลูกมีผลการเรียนดี ให้เป็นที่รู้ในครอบครัว และหมู่ญาติ
12. ให้ลูกทำการบ้านด้วยตัวเอง
ไม่ลอกเพื่อนหรือให้คุณพ่อคุณแม่ทำให้ เด็กจะเรียนรู้จากการทำถูกและผิด จะรู้จักคิดและแก้ปัญหาในครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้แนะนำและแนะแนวทาง เป็นผู้ให้กำลังใจเท่านั้น ตรวจดูว่าลูกทำการบ้านครบถ้วนหรือยัง อยู่ใกล้ๆ หากลูกมีคำถามหรือต้องการการอธิบายเพิ่มเติม ให้ลูกเรียนรู้จักการรับผิดชอบการทำการบ้านด้วยตัวเอง รับผิดชอบในคำตอบที่เลือกและไม่โทษคนอื่นในกรณีทำผิดอีกด้วย
13. จัดกลุ่มผู้ปกครองในห้องร่วมกัน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เช่นใช้ไลน์ เฟสบุ๊คหรือส่งข้อความหากันได้ และสอบถามถึงสิ่งที่ไม่เข้าใจจากผู้ปกครองท่านอื่น ทั้งยังได้มีโอกาสแบ่งเบาและช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกัน
14. ถ้าลูกมีปัญหาในการทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง
เช่น ทำไม่ครบ ไม่ส่งการบ้าน พ่อแม่ควรพูดคุยกับครู ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นปัญหาควรพาลูกไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ ว่าเด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนหรือสมาธิสั้น หรือไม่ ถ้ามีจะได้จัดการช่วยเหลือต่อไป
การบ้านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กไทยมาตลอด กระเป๋านักเรียนที่หนักอยู่กับเด็กไทยมานานแสนนาน แต่จากการวิจัยพบว่า เด็กที่มีการบ้านกับเด็กที่ไม่มีการบ้านต่างประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าเทียมกัน ดังนั้น การให้ลูกมีความสุข เรียนอย่างสนุกเป็นคำตอบที่ดีกว่า ทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่เองและลูกๆ ด้วยเช่นกัน เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
อ้างอิงจาก : เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ