ตะคอกลูก แล้วได้อะไร? อยากให้ลูกเชื่อฟัง เป็นเด็กดี ทำไมไม่ลองทำสิ่งหล่านี้แทน …
คุณพ่อคุณแม่อยากเป็นมารร้ายในสายตาลูกหรือไม่คะ … คุณทราบกันหรือไม่คะว่า ลูกไม่ได้มีเจตนาใด ๆ ที่จะทำให้คนที่เขารักต้องหงุดหงิด รำคาญใจหรือว่าอารมณ์เสียเลย ลูกไม่อยากเห็นคุณเป็นปีศาจหรอกค่ะ เพียงแต่มันเป็นวัยของเขาเท่านั้นเองที่ต้องการความท้าทาย หรือเล่นเกมบางอย่างกับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นเอง
เคยสังเกตกันหรือไม่คะว่า เรามักจะหงุดหงิดกับสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้วว่า พวกเขาไม่ควรทำ ยกตัวอย่างเช่น ลูกรู้อยู่แล้วว่า เวลานี้ควรที่จะต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และทานข้าว แต่พวกเขาเลือกที่จะเล่นไม่หยุด รื้อของเล่นทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า แล้วปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่อย่างเราต้องคอยตะโกน บ่นปากเปียกปากแฉะ จนเกิดอารมณ์และต้อง ตะคอกลูก หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือตีลูกในที่สุด … ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวค่ะ ไม่ต้องแปลกใจ เพียงอยู่ที่ว่าแต่ละครอบครัวเลือกที่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร
เคยได้ยินไหมคะว่า ยิ่งตะคอกลูกมากเท่าไร ลูกยิ่งก้าวร้าวมากขึ้นเท่านั้น … หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่เชื่อ แต่สิ่งนี้มีผลกับพฤติกรรมของลูกจริงนะคะ
ได้มีผลงานวิจัยจาก ดร. หมิง หวัง รองศาสตรจารย์สาชาวิชาจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างของครอบครัวกว่า 976 ครอบครัวพบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกแก้ปัญหาลูกไม่เชื่อฟังด้วยการตะโกนดุด่าด้วยคำพูดที่ไม่สุภาพหรือรุนแรง
โดยเด็กที่ถูกพ่อแม่กระทำการเช่นนี้ เป็นเด็กที่มีปัญหามากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่เคยตะคอกใส่เลย และพฤติกรรมรวมถึงการแสดงออกของเด็กที่มีปัญหานั้น จะส่งผลเห็นชัดมากขึ้นในช่วงที่เด็กกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือที่เราเรียกกันว่า วัยหัวเลี้ยวหัวต่อนั่นเอง
นอกจากนี้ ดร.หมิง ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ว่าพ่อแม่จะสนิทกับลูกมากแค่ไหน การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ดุร้ายก็ย่อมส่งผลกระทบกับจิตใจของลูกมากอยู่ดี และแน่นอนค่ะว่า สิ่งที่จะตามมาก็คือ การที่ลูกลอกเลียนแบบพฤติกรรม หรือคำพูดเหล่านั้นมาใช้ จนอาจจะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว และไปแสดงออกถึงพฤติกรรมนี้กับเพื่อนที่โรงเรียน หรือคนอื่นได้
เปลี่ยนจากการ ตะคอกลูก มาเป็นการทำสิ่งเหล่านี้กันเถอะ
การตะคอกลูกนั้น นอกจากจะไม่ส่งผลดีใด ๆ แล้วยังทำให้คุณแม่ต้องเจ็บคอโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือคำพูดโดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- “หยุด” หากคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่า อารมณ์ ณ ตอนนั้น ไม่ปกติแล้ว กำลังเริ่มที่จะมีอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดละก็ ให้รีบ “หยุด” ค่ะ คำว่าหยุดในที่นี้หมายถึง หยุดคำพูด หยุดการกระทำ และหยุดอารมณ์ของตัวเอง ด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วนิ่ง อาจจะนับ 1 – 10 ในใจก่อนก็ได้นะคะ ให้มั่นใจว่า อารมณ์ของเรานิ่งพอแล้ว ค่อยเรียกลูกมาคุยหรือว่าเดินไปคุยกับลูกแทน
- “สัมผัส” การสัมผัสในที่นี้ไม่ใช่การเอาไม้เรียวหรือมือไปสัมผัสกับตัวของลูกนะคะ หากแต่เป็นการสัมผัสลูกเบา ๆ ยกตัวอย่างเช่น การจับมือลูก การกอดลูก หรือการสบตา ด้วยการเรียกลูกมาพูดคุย
- “พูดคุย” เมื่อเราได้สัมผัส และสบตาลูกแล้ว ค่อย ๆ ใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน พร้อมอธิบายและถามไถ่ลูกว่า สิ่งที่ลูกทำนั้นถูกต้องหรือไม่ หน้าที่ตอนนี้ของลูกคืออะไร เชื่อไหมคะว่า คำตอบที่ได้มาก็คือ ลูกรู้ว่าเขาต้องทำอะไร รู้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ลงมือทำ และถ้าหากถามต่อไปว่าเพราะอะไร คำอธิบายที่จะได้ตามมาอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่จุกหรือว่าหงายท้องได้เลยละค่ะ และส่วนใหญ่ก็คือ “อยากให้พ่อแม่ทำให้”
- “อธิบาย” เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ก็สามารถอธิบายให้ลูกฟังได้ว่า เพราะอะไร ทำไมพ่อหรือแม่ถึงไม่สามารถทำให้ได้ หรือถ้าหากทำได้ ซึ่งเหตุผลที่ให้ลูก จะต้องไม่เป็นการโกหกโดยเด็ดขาด เพราะการโกหกจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อลูกทราบความจริง
- “ชมเชย” ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่หรอกค่ะที่ต้องการได้ยินคำชมเชยจากคนที่ตัวเองรักและชื่นชม ลูกเองก็เช่นกัน เพียงแค่ กล่าวชื่นชมลูกด้วยความจริงใจ เท่านี้ก็สามารถเป็นการเพิ่มกำลังใจ ที่อยากจะให้ลูกไม่งอแง และเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่แล้วละค่ะ
ลูกไม่ได้อยากดื้อหรือทำตัวไม่น่ารักใส่คุณพ่อคุณแม่หรอกนะคะ แต่ด้วยวัยของเขา หากเราเข้าใจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญ พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือด้วยความรัก เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้ลูกเป็นเด็กดี เชื่อฟัง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องตะโกนใส่ลูกหรือ ตะคอกลูก ให้เหนื่อยเปล่าเลยละค่ะ … อย่างไรลองดูนะคะ
อ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ และ Scarymommy
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่